รัฐประหารพม่า : รัฐบาลทหารประกาศหยุดยิง 1 เดือน ทูตพิเศษร้องยูเอ็นเอสซีแก้วิกฤตก่อนเป็นสงครามกลางเมือง

เมียนมา ประกาศ หยุดยิง 1 เดือนเต็ม เนื่องในวันสงกรานต์ แต่มีข้อแม้ห้ามกระทบความมั่นคง หลังจากสถานการณ์ตึงเครียดตั้งแต่วันที่ต้นเดือน ก.พ. ทูตพิเศษ จี้คณะมนตรีความมั่นคงฯ แก้วิกฤตเมียนมา หวั่นกลายเป็น “สงครามกลางเมือง”

แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานว่า รัฐบาลเมียนมาได้แถลงการหยุดยิงทั่วประเทศเป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายนนี้ หลังจากประชาชนชาวเมียนมาต้องเจอกับเหตุการณ์ตึงเครียดและความรุนแรงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

ทางกองทัพประกาศหยุดยิงเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเทศกาล ติงยาน หรือ สงกรานต์ ที่จะตรงกับวันที่ 13-16 เม.ย.นี้ พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า จะถือโอกาสนี้เป็นช่วงเวลาของการเจรจาสงบศึก และสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์

ก่อนหน้านี้กลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงจุดยืนข้างประชาชนและไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาทางรัฐบาลทหารได้ส่งเครื่องบินขับไล่ 2 ลำโจมตีกองบัญชาการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย ขณะที่ KNU สังหารทหารเมียนมาอย่างน้อย 10 นายและควบคุมตัวทหารอีก 8 นาย

อย่างไรก็ตาม ทางกองทัพเมียนมาได้มีข้อแม้ระบุว่า การแถลงการณ์หยุดโจมตีครั้งนี้จะไม่มีผลกับการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและขัดขวางการบริหารของรัฐบาล

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะภาคตะวันออกของประเทศเมียนมาได้ลุกลามไปถึงประเทศใกล้เคียงอย่างประเทศไทย ชาวกะเหรี่ยงกว่า 3,000 คน จำเป็นต้องหนีย้ายถิ่นฐานข้ามมาพักอาศัยชั่วคราวอยู่ชายฝั่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงแล้วว่าชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางกลับเมียนมาไปแล้วด้วยความสมัครใจ มีชาวกะเหรี่ยงตกค้างอยู่บริเวณชายแดนประมาณ 200 คนเท่านั้น

ขณะที่ เอเอฟพี รายงานความคืบหน้าสถานการณ์ความไม่สงบใน เมียนมา (พม่า) ว่า นางคริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านกิจการเมียนมา เรียกร้องต่อที่ประชุมฉุกเฉินคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ให้เร่งดำเนินการเพื่อยุติวิกฤตที่ทวีความรุนแรง พร้อมเตือนถึงความเสี่ยงของสงครามกลางเมืองและการนองเลือดเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมายังใช้กำลังและความรุนแรงปราบปรามพลเรือนที่ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย

UN Special Envoy for Myanmar Christine Schraner Burgener arrives at Sittwe airport after visiting Maung Daw Township at the Bangladesh-Myanmar border area in Rakhine State. Burgener implored the UN Security Council to take action on March 31, 2021. / AFP / STR

ขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในเมียนมา (เอเอพีพี) ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเพิ่มเป็นอย่างน้อย 536 ราย และตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือเมื่อวันที่ 1 ก.พ. มีคนถูกจับเกือบ 2,730 คน ในจำนวนนี้ 38 คนถูกพิพากษาโทษ

“ดิฉันขอให้สภาแห่งนี้พิจารณาใช้เครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อดำเนินการร่วมกันและทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ประชาชนชาวเมียนมาสมควรได้รับ และป้องกันไม่ให้เกิดหายนะในหลายมิติ ถ้าเรารอเวลาที่พวกเขาพร้อมจะพูด สถานการณ์ภาคพื้นอาจจะเลวร้ายลง การนองเลือดกำลังใกล้เข้ามา” นางบูร์กเนอร์กล่าว

นางบาร์บารา วูดวาร์ด เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรอังกฤษประจำยูเอ็น กล่าวว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ รวมเป็นหนึ่งเดียวในการประณามรัฐบาลทหารเมียนมา และกำลังเร่งหารือเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ทางการจีนซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของเมียนมา แสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเมียนมา

นายจาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ เมื่อวันพุธที่ 31 มี.ค. ว่า รัฐบาลจีนต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาซึ่งปกครองโดยกองทัพ “จีนหวังว่าเมียนมาจะฟื้นคืนสันติภาพ เสถียรภาพ และความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมๆ กับเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างมั่นคง การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาอยู่ในความสนใจร่วมกันของประชาคมโลก หากเมียนมาซวนเซเข้าสู่ความปั่นป่วนยืดเยื้อ สิ่งนี้จะเป็นหายนะต่อเมียนมาและภูมิภาคโดยรวม”

นายจางยังระบุอีกว่าจีนมีความเสมอต้นเสมอปลายต่อต้านการใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา การกดดันฝ่ายเดียวและการเรียกร้องให้คว่ำบาตรหรือมาตรการบีบบังคับอื่นๆ มีแต่จะทำให้ความตึงเครียดและการเผชิญหน้ายิ่งรุนแรง ขณะเดียวกันสถานการณ์ก็ยิ่งซับซ้อนขึ้น

นอกจากนี้นายจางยังเรียกร้องให้มีการปกป้องธุรกิจต่างชาติในเมียนมา ซึ่งก่อนหน้านี้โรงงานจีนกว่า 30 แห่งในนครย่างกุ้งถูกจุดไฟเผาวอดท่ามกลางการสันนิษฐานว่าเพราะผู้ประท้วงโกรธเคืองที่ทางการจีนเมินเฉยต่อการใช้ความรุนแรงของกองทัพเมียนมา

“เราหวังว่าทุกฝ่ายในเมียนมาจะสามารถรักษาความสงบ ใช้ความยับยั้งชั่งใจ และดำเนินการด้วยทัศนคติที่สร้างสรรค์เพื่อลดความคุกรุ่นและทำให้สถานการณ์สงบลง ชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมียนมา รวมถึงชาวต่างชาติและธุรกิจควรได้รับการคุ้มครอง และการโจมตีใดๆ ก็ตามเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

ด้าน นางลินดา กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยกระดับมาตการตอบสนองถ้ากองทัพเมียนมาไม่ยอมยุติการใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชน “ถ้าพวกเขายังดำเนินการโจมตีต่อพลเรือนต่อไป เราต้องดูว่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้” นางกรีนฟิลด์ระบุกับผู้สื่อข่าว

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นางคลาริสสา วาร์ด หัวหน้าฝ่ายข่าวต่างประเทศของซีเอ็นเอ็น เดินทางถึงนครย่างกุ้งเมื่อช่วงเย็นวันพุธตามเวลาท้องถิ่น เพื่อตีแผ่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังกองทัพก่อรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม นักข่าวดังระบุว่าเป็นการยากที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทหารติดอาวุธและพาหนะของกองทัพขับตามตน เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานการสลายการชุมนุม