อย่าหาทำ! ‘สุรเชษฐ์’ ติง คมนาคมติดตั้งแบริเออร์ยางพารา 8.5หมื่นล้าน ไม่คุ้ม หวังปั่นราคา

ผลาญเฉียดแสนล้าน อย่าหาทำ! ‘สุรเชษฐ์’ ติง คมนาคมติดตั้งแบริเออร์ยางพาราไม่คุ้มค่า ชี้อ้างผลการทดสอบเกินจริง

วันที่ 1 เมษายน 2564 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตต่อโครงการติดตั้งแบริเออร์ยางพารา 3 ปี 85,624 ล้านบาทที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยประกาศไว้กลางสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 63 เพื่อชี้แจงแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณ ในช่วงการอภิปรายงบประมาณ 64 และตอนนั้นได้อภิปรายตอบโต้ในหลายประเด็น แต่ด้วยมีเวลาจำกัดจึงไม่ได้พูดถึงประเด็นการติดตั้งแบริเออร์ยางพารามากนัก เพียงแต่ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ไม่ควรทำและจะติดตามตรวจสอบต่อไป
.
“ผมเคยเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในประเด็นนี้ หลัก ๆ 2 ครั้ง คือ 14 ก.ย. 63 ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ 4 ก.พ. 64 ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม รวมถึงอีกหลายครั้งที่ติดตามและตักเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนให้ดี อย่าหลับหูหลับตาทำตามธงโดยไม่คำนึงถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพและงบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของคนทั้งประเทศ”

สุรเชษฐ์ ระบุต่อไปว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 64 มีข่าวเกี่ยวกับความพยายามผลักดันโครงการนี้อีก จึงต้องออกมาเตือนดัง ๆ อีกครั้งว่าอย่าหาทำ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการ “สร้าง Demand เทียม” ไม่ได้มีความจำเป็นและทั่วโลกก็ไม่ทำกัน เหตุผลหลักเรื่องนี้คืออยากจะหาทางปั่นราคายางพาราให้สูงขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีหากสามารถหา Demand จริง คือมีความต้องการใช้และก่อให้เกิดประโยชน์จริง แต่ที่ทำกันอยู่ไม่ใช่ เป็น Demand เทียมที่มีโอกาสสูงที่จะล้มเหลวหรือเป็นภาระประมาณในอนาคตที่จะต้องมาซ่อมหรือเปลี่ยนแผ่นยางพาราที่ถูกนำมาตากแดดเล่นให้มันแห้งกรอบ โดยไม่ได้มีผลการทดสอบที่น่าเชื่อถือมา รองรับ “ความคุ้มค่า” ของการใช้งบประมาณ

“การหาทำครั้งนี้ เริ่มมาจากนโยบายของรัฐบาลที่จะหาทางช่วยอุดหนุนราคายาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่มีเพียงฝัน ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ผู้ใหญ่บางท่านในกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จึงพยายามเสนอโครงการติตตั้งแบริเออร์ยางพาราเพื่อตอบโจทย์นโยบายที่จะหาทางนำยางพารามาใช้ให้มาก ๆ จนถูกใจนายได้รับการโปรโมทให้เป็นใหญ่เป็นโตเพื่อผลักดันโครงการนี้ เมื่อได้รับการแต่งตั้ง จึงได้พา รมว.คมนาคม ไปดูผลการทดสอบถึงเกาหลีว่ามันดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

“ประเด็นนี้เป็นเรื่อง Engineering อธิบายได้แต่จะยากและยาว แต่เอาหลัก ๆ คือ มีการ “Overclaim ผลการทดสอบ” เช่น Scenario Tests ไม่มากพอที่จะสรุป, ผลการทดสอบไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างการมียางกับไม่มียางได้ว่ายางที่ใส่ไปก่อให้เกิดความคุ้มค่าหรือไม่, อุณหภูมิที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการทดสอบกับหน้างานจริง, สภาพความคงทนของยางและกาวเมื่อเวลาผ่านไปในสภาพร้อนจัด, หลักในการรับแรงแบบ Rigid vs. Flexible Body, การติดตั้งแบบถาวร vs. ชั่วคราว, การยึดเหนี่ยวระหว่างยางกับปูน, ความชุ่มชื้นของแผ่นยางที่เหมาะสม, ลักษณะ Approach ที่สั้นกว่ามาตรฐานทั่วไป, การใช้เหล็กดามระหว่าง Blocks ซึ่งอาจหลุดออกมาเกี่ยวมอเตอร์ไซด์ให้ล้มได้ เป็นต้น”

ทั้งนี้ สุรเชษฐ์ ยังชี้ประเด็นต่อไปว่า เมื่อมีธงจากรัฐมนตรี กรมทางหลวง (ทล.) จึงตั้งคำของบประมาณ 2565 เฉพาะในส่วนของแบริเออร์ยางพารา สูงถึง 75,000 ล้านบาท ในขณะที่หน่วยงานต้นคิด (ทช.) ขออีก 7,000 ล้านบาท เรียกได้ว่าตั้งงบแบบ “เอาใจนายกันสุด ๆ” ทั้ง ๆ ที่งบประมาณสำหรับการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนในด้านอื่น ๆ รวมกันทั้งหมดที่ไม่ใช่การทำแบริเออร์มีอยู่แค่ 4,500 ล้านบาทสำหรับ ทล. และ 8,000 ล้านบาทสำหรับ ทช.

ประเด็นคือ หากตั้งใจจะแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนจริง ก็ควรไปทำฐานข้อมูลเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำก่อน ไม่ใช่หว่านแห หาทำไปเรื่อย ทล. และ ทช. ควรใส่งบไปในการสำรวจและแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยง ซึ่งแต่ละจุดมีลักษณะของปัญหาต่างกันและมาตรการ (Road Safety Measures) ที่ควรใช้ก็ย่อมต่างกัน บางที่อาจต้องการ Guardrail, Limited Access, สัญญาณไฟจราจร, ป้าย, ฯลฯ ไม่ใช่จะติดตั้งแบริเออร์ยางพาราแบบ “หาเรื่องสร้างไปเรื่อย” ในทุกที่ที่สร้างได้ แล้วมาอ้างว่าให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนซึ่งประเด็นนี้เป็นข้อเท็จจริงตามข่าว ซึ่งตนจะติดตามต่อไปเมื่อร่าง พรบ. งบประมาณ 2565 เข้าสู่สภาจริง