เลขา สมาคมฯ ป้องกันทารุณสัตว์ เปิดข้อ กม.กรณีลิงแสม ก็อตซิลล่า ต้องแก้ปัญหาอย่างไร ?

เลขา TSPCA แสดงความคิดเห็นส่วนตัว กรณีลิงอ้วน ก็อตซิลล่า
ตามที่มีสื่อต่างประเทศรายงาน เกี่ยวกับชีวิตลิงแสม ชื่อก็อตซิลล่า อายุ 3 ปี ที่มีน้ำหนักมากถึงประมาณ 20 กิโลกรัม เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิต เพราะความใจดีของมนุษย์ที่ให้อาหารเกินความจำเป็นต่อสัตว์ จนอาจเป็นเหตุให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานเสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมฯ ป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัว ว่า เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่น่าแสดงความเห็นใจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดูแลเลี้ยงลิง ด้วยความรักและเมตตาสัตว์จนเกิดความผูกพัน พนักงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติหน้าที่ อาจจะถูกดำเนินการฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ รวมถึงลิงแสม ก็อตซิลล่า ที่ต้องแบกรับภาระน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน จนอาจจะไม่สามารถแสดงออกซึ่งพฤติกรรมทางธรรมชาติของสัตว์ได้

สำหรับในแง่กฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ เช่น ลิงแสม เจ้าของผู้ครอบครองลิงแสม ถ้าไม่ไปขึ้นทะเบียนหรือขออนุญาต ก็จะมีความผิด เพราะลิงแสม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ถ้าไม่ดำเนินการก็จะมีความผิดตามมาตรา 92 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ามีการยึดลิงไว้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการตามมาตรา 86 ในการช่วยเหลือ ดูแล รักษา จำหน่าย ปล่อยสู่ธรรมชาติ ส่งคืนถิ่นกำเนิด โอน ทำลาย เอาไว้ใช้ในราชการ หรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดแก่สัตว์ป่านั้นก็ได้ ซึ่งในการช่วยเหลือ ดูแล หรือรักษาสัตว์ป่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ อาจส่งสัตว์ป่านั้นให้ไปอยู่ในความดูแลรักษาของสวนสัตว์ สถานพยาบาลสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยสถาพยาบาลสัตว์ สถานสงเคราะห์สัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ หรือสถานที่ที่จัดไว้สำหรับใช้เลี้ยงดู ดูแล รักษาสัตว์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับกรมอุทยานแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ก็ได้

และตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เช่น เจ้าของสัตว์ หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์และให้หมายถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย หรือการกำหนดให้เจ้าของที่เลี้ยงดูแลลิง ถ้ามีการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ทำให้ลิงได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผล ทำให้ลิงนั้นตายได้ และการใช้ลิงที่พิการ ลิงเจ็บป่วย ลิงชราหรือลิงที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้ลิงทำงาน อันไม่สมควรเพราะเหตุที่ลิงนั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ เจ้าของลิงมีความผิด ต้องระวางโทษ ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 20 และ 31 จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองลิง ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพให้ลิงของตนอย่างเหมาะสม เช่น การจัดให้ลิงได้รับน้ำและอาหารในปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมแก่ประเภท ชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์ เช่น เจ้าของต้องทราบว่าธรรมชาติของลิง ควรกินอะไรที่เป็นประโยชน์หรือกินอะไรแล้วเกิดโทษหรือผลกระทบข้างเคียงทีอาจจะเป็นอันตรายได้ รวมถึงเจ้าของต้องจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเหมาะสมแก่การดำเนินชีวิต การจัดการป้องกันโรคที่เหมาะสมและจัดรักษาเมื่อสัตว์เจ็บป่วยโดยไม่ชักช้า จัดไม่ให้สัตว์ไม่ได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บป่วยทุกข์ทรมาน และสัตว์ได้มีโอกาสแสดงพฤติกรรรมตามธรรมชาติที่เหมาะสม ถ้าไม่ดำเนินการก็มีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท ตามมาตรา 22 ประกอบมาตรา 32 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561

และตามมาตรา 33 กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลได้พิพากษาผู้ใด ตามมาตรา 31 (ในกรณีทารุณสัตว์) หรือ มาตรา 32 (การจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีโทษปรับอย่างเดียว) หากศาลเห็นว่าการให้สัตว์นั้นยังอยู่ในครอบครอบของเจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นต่อไป สัตว์นั้นอาจจะถูกทารุณหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไม่เหมาะสมอีก ศาลอาจสั่งห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นครอบครองสัตว์ดังกล่าว และมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้นต่อไปได้

ดังนั้นสำหรับ กรณีลิงแสม ก็อตซิลล่านั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น ควรมีการดำเนินการแก้ไขด้วยสันติวิธี โดยการเจรจาหาทางออกที่ดีร่วมกันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และควรบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์และคุณธรรมทางกฎหมาย คือ ความมีเมตตาต่อสัตว์ที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาและยกระดับในการปฏิบัติต่อสัตว์ในการสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้สังคมต่อไป