เผยคนไทยป่วยไบโพลาร์กว่า 3 หมื่นคน รมว.สธ.เผยเปิดช่องเข้ารักษา

คนไทยป่วยไบโพลาร์กว่า 3 หมื่นคน อนุทิน วอนสังคมหยุดตีตรา เปิดช่องเข้าระบบรักษา

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมแถลงข่าว World Bipolar Day “เปิดใจให้ไบโพลาร์” เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ เนื่องใน วันไบโพลาร์โลก ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศรีธัญญา

นายอนุทิน กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วใกล้ตัวมาก เนื่องจากพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1.5 – 5 หากคิดตามสัดส่วนประชากรไทย คาดว่าจะมีคนป่วยมากกว่า 30,000 คน และยังเป็นการเจ็บป่วยในอันดับต้นๆ ของโรคทางจิตเวช สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญของโรคทางจิตเวชคือ ไม่มีอาการ ไม่มีบาดแผลทางกายให้เห็นเหมือนโรคอื่น แต่เป็นบาดแผลในใจที่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะฝังลึกกว่าที่แพทย์หรือจิตแพทย์จะรู้

“โรคอารมณ์สองขั้ว จริงๆ แล้วผู้ป่วยมีความสูญเสียในตัวของเขาที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น บางทีทำงานไม่ได้ คลุ้มคลั่ง ทำร้ายคนอื่น แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ ทำร้ายตัวเอง ซึ่งคนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชมีโอกาสที่จะทำร้ายตัวเองมากกว่าบุคคลปกติ” นายอนุทิน กล่าวและว่า ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการมากที่สุดคือ ลดการตีตรา เป็นภารกิจหลักของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างเหมาะสมและกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขเช่นเดิม

ด้าน พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า โรคไบโพลาร์เป็นโรคในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีความเครียดสะสม และในบางรายอาจเกิดจากพันธุกรรม อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ทำให้มุมมองและทัศนคติไม่ตรงกับตัวโรค

โดยผู้ป่วยจะมีภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน อารมณ์สองขั้ว บางครั้งออกดูครึกครื้นกว่าปกติ เรียกว่า แมเนีย (Mania Hypomania) สลับกับภาวะอารมณ์ซึมเศร้า (Major Depressed Episode) สลับไปมาซึ่งบางครั้งอาจทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ ส่งผลต่อทัศนคติว่าผู้ป่วยเป็นคนที่ไม่ดูแลตนเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงเป็นที่มาในกลุ่มจิตแพทย์เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และกำหนดให้วันที่ 30 มีนาคม เป็นวันไบโพลาร์โลก เพื่อพูดเรื่องนี้กับสังคม ทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น

“สัญญาณของโรคที่สามารถสังเกตได้คือ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น หากผู้ป่วยเป็นคนที่พูดเก่ง ทำงานมาก เมื่อมีอาการแมเนียก็จะทำได้ทั้งคืน ไม่หลับไม่นอน กระตือรือร้นเกินปกติ ใช้จ่ายมากกว่าปกติ และในบางรายที่มีอารมณ์สองขั้ว ก็จะมีเปลี่ยนเป็นอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และในช่วงที่มีอารมณ์ซึมเศร้าก็อาจจะส่งผลต่อการฆ่าตัวตายได้” พญ.พรรณพิมล กล่าวและว่า

อาการในแต่ละรอบของโรค อาจจะเป็นอยู่นานถึงสัปดาห์ หรือรายเดือนก็ได้ ดังนั้น การรู้เร็ว รักษาเร็ว จะลดโอกาสในการเกิดซ้ำของวงรอบต่อไป ทั้งนี้ หากผู้ป่วยขาดยา จำนวนรอบของโรคจะสั้นลง จะมีอาการได้บ่อยขึ้น

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ขณะนี้ กรมสุขภาพจิต กำลังพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยรายบุคคล ตามนโยบายรักษาทุกที่ของ สธ. เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบรักษาสามารถเข้าถึงการใช้ยาได้ ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ที่ไหน หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มจิตเวชมักจะเปลี่ยนที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ส่งเสริมให้เกิดกองทุนยาจิตเวช ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับยาในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กอย่างเป็นระบบมากขึ้น