เศรษฐา ชี้แก้รัฐธรรมนูญ ยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา แต่อย่าหมดหวัง ต้องพยายามรณรงค์ต่อไป

“เศรษฐา ทวีสิน” ทวีตปมแก้รัฐธรรมนูญ ยากกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ทั้งฉบับก็ยาก รายมาตราก็ไม่ง่าย แนะอย่าหมดหวัง เราต้องพยายามรณรงค์ต่อไป

วันนี้ (27 มี.ค.) นาย เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ทวิตข้อความแสดงความเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรนูญ หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม ถูกโหวตคว่ำ ก่อนจะมีการพยายามจากฝ่ายค้านและฝ่ายอื่นๆในสังคม ในการหาทางผลักดัน เสนอการแก้ไข ทั้งการแก้รายมาตราเป็นต้น ขณะที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ในเชิงท้าทายว่า ก็ให้ไปแก้ไขกันมา แต่แก้ให้ได้แล้วกัน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความจริงใจในการแก้ รธน. ซึ่งรัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าเป็น 1 ในนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ที่ต้องทำทันที

โดยนายเศรษฐา แสดงความเห็น ระบุว่า “การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคงยาก รายมาตราก็ใช่ว่าจะง่าย โดยเฉพาะการที่จะไม่ให้ สว. มีสิทธิ์เลือกนายก ใครจะไปยอมตัดแขนตัดขาลดทอนอำนาจตัวเอง? ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา เราคงต้องพยายามรณรงค์ต่อไปเพื่อความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”และว่า “ต้องสู้ต้องมีความหวัง”

ต่อมามีผู้ติดตามเข้าไปแสดงความเห็น ส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่มีบางคนตั้งคำถาม อาทิ “ประเด็นให้ สว.เลือกนายก เป็น “บทเฉพาะกาล” ใช้บังคับแค่ 5 ปีแรกนับจากวันที่มีรัฐสภา (ปี 2562) เหลืออีกเพียง 3 ปี สว. ก็ไม่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ แล้วครับ” ทำให้นายเศรษฐา เข้าไปตอบกลับว่า “เข้าใจครับ แต่หมายความว่าเลือกตั้งครั้งหน้าเขาก็ยังมีสิทธิ์เลือกอยู่”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายเศรษฐา เคยกล่าวถึงประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไว้ ในงานสัมนา “วัคซีนเศรษฐกิจ วัคซีนประเทศไทย” จัดโดย ประชาชาติธุรกิจ ตอนหนึ่ง ระบุว่าวัคซีนเข็มแรกที่อยากให้ฉีดเลยคือ การเมืองและสังคมที่ต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ว่าเศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าการเมืองไม่แน่นอนก็ไปต่อไม่ได้ ประชาชนหลายคนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงอยากให้มีการแก้ไข

นายเศรษฐากล่าวว่า ส่วนจะแก้ไขอย่างไรนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องเข้าหันหน้ากัน พูดคุยประนีประนอม เข้าใจถึงการอยู่ร่วมกันของทุกเจนเนเรชั่น การให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวร้าวกัน การที่ต้องไปดูประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าเราอยู่มาได้อย่างไร แก้ไขในวาระที่สมควรที่ต้องแก้ “เมื่อเดือนก่อนมีความหวังกับทางรัฐบาลว่าเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นความไม่แน่นอน ไม่เห็นความชัดเจนจากทางรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง” นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวว่า อยากได้ความจริงใจกับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารอย่างเดียว ฝ่ายที่เรียกร้องก็ต้องมีความจริงใจ เรียกร้องในสิ่งที่เหมาะสมกับจารีตประเพณีของไทยด้วย และควรเป็นไปตามกลไกที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องการลัดขั้นตอน และการดึงเวลา ให้ทุกฝ่ายได้ยอมรับกัน ให้ทุกฝ่ายได้มีสิทธิมีเสียงที่จะพูด

“สิ่งที่อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.), วุฒิสภา (ส.ว.) ห้ามโหวตนายกฯ และรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตาม หลักประชาธิปไตยสากล” นายเศรษฐา กล่าว