อ.นิด้า ฉายภาพความเป็นเผด็จการของประยุทธ์ ชี้เผด็จการชอบใช้อารมณ์-ความเชื่อมากกว่าเหตุผล

“พิชาย” เขียนบทความ “ความเป็นเผด็จการของประยุทธ์”

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเป็นประธาน ครป. เขียนบทความเรื่องความเป็นเผด็จการของประยุทธ์  ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดในช่วงนี้ หากแต่ปรากฎตั้งแต่ปี 2557 เมื่อเขาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจโดยใช้กำลังอาวุธ ช่วงเวลาการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จของเขายาวนานร่วม 5 ปี แต่เขาพยายามบอกว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย คงละอายที่ยอมรับตนเองว่าเป็นเผด็จการ เพราะรู้ว่าคำนั้นเป็นที่รังเกียจของนานาอารยประเทศ

นายพลประยุทธ์สืบทอดอำนาจโดยรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเผด็จการไว้อย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือการให้กลุ่มพวกตนเองเลือกคนที่มาเป็น ส.ว. เพื่อเป็นฐานอำนาจ สำหรับการบริหารประเทศช่วงสองปีมีความพยายามปกปิดร่องรอยความเป็นเผด็จการ แต่มักจะปิดไม่มิด

ความเคยชินของจิตสำนึกและอุปนิสัยแห่งความเป็นเผด็จการมักโผล่ออกมาให้เห็นเสมอ ดังเช่น ความชอบในการใช้แนวทางการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจแทบทุกครั้งที่มีโอกาส ดังการใช้ภาวะฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้ข้ออ้างเรื่องโควิด

เรื่องของเรื่องคือ เขาไม่มีความสามารถในการใช้แนวทางการบริหารแบบประชาธิปไตยซึ่งต้องใช้การสร้างฉันทามติร่วม ด้วยการโน้มน้าวจูงใจให้ผู้คนร่วมมือกันทำงาน สิ่งที่เขาเคยชินคือการใช้อำนาจสั่งการบังคับให้คนปฏิบัติตามเป็นหลัก

เรายังสังเกตความเผด็จการได้จากสิ่งที่ปรากฎออกมาในกิริยาท่าทาง ภาษาและน้ำเสียงที่พูดกับประชาชนโดยเฉพาะนักข่าว และการใช้อำนาจปราบปรามจับกุมทำร้ายนักศึกษาประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

เผด็จการนั้นมักเห็นว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นความวุ่นวาย พลเอกประยุทธ์ก็มีความเห็นแบบนี้เช่นเดียวกัน เขากล่าวว่า “ที่ผ่านมามีประชาธิปไตยเต็มใบ เสรีภาพอยากจะทำอะไรก็ทำแล้วเกิดความวุ่นวาย”

เราแทบไม่เคยได้ยินประโยคที่เขาพูดจากจิตสำนึกของตนเองเพื่ออธิบายขยายความจุดเด่นและจุดแข็งของประชาธิปไตยและเสรีภาพแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด การปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นพลเมืองและมนุษย์ การต่อรองและแสวงหาทางออกแบบชนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย หรือ การส่งเสริมเสรีภาพในการแสวงหาความจริง และการแสดงออกทางการเมือง

เผด็จการต้องการให้คนอื่นคิดและทำเหมือนตนเอง ต้องการให้คนอื่นปฏิบัติตามที่ตนเองบอก ต้องการให้คนอื่นเชื่อเหมือนกับตนเอง

หากใครเชื่อไม่เหมือนตนเองก็จะลงมือปราบปรามหรือทำร้าย หรือใช้กฎหมายที่ล้าหลังมาจัดการคนที่คิดต่าง

เผด็จการชอบใช้อารมณ์และความเชื่อมากกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง ชอบให้ผู้คนยอมอ่อนน้อมต่อตนเอง ไม่ชอบการท้าทายและการถูกตั้งคำถาม และมักใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติที่ต่างจากตนเอง