นักข่าวประชาไทพร้อมทนาย ยื่นฟ้องแพ่ง ‘สตช.-ผบ.ตร.’ ปมใช้กระสุนยางสลายการชุมนุม

วันที่ 24 มีนาคม 2564 สำนักข่าว ประชาไท รายงานบรรยากาศที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.30 น. ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท 1 ใน 3 สื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางของตร.ควบคุมฝูงชนในการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พร้อมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการยิงกระสุนยาง ปิดกั้นการเดินทางโดยเฉพาะเส้นทางไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พร้อมขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมในช่วงเย็น

คดีดังกล่าว ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเดินทางมายื่นฟ้องในคดีที่ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นคดีที่ พ.1472/2564 จากเหตุใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 และใช้กระสุนยางกราดยิงประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมสาธารณะ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการชุมนุม

สาระสำคัญของคำฟ้องระบุว่า การกระทำของตำรวจควบคุมฝูงชนในวันที่ 20 มีนาคม 2564 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้สื่อข่าวได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ และกระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผบ.ตร. ปิดกั้นทางสัญจรหรือสถานที่ต่างๆ ด้วยตู้คอนเทรนเนอร์ ลวดหีบเพลง รถยนต์ รั้งเหล็ก หรือวัสดุเครื่องมืออื่นใดในทำนองเดียวกัน ในสถานที่ที่จะมีการชุมนุมสาธารณะ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการชุมนุม

นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลห้ามสลายการชุมนุม ห้ามใช้แก๊สน้ำตาหรือสารเคมี ห้ามฉีดน้ำและกระสุนยางในการควบคุมผู้ชุมนุม ห้ามข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน ห้ามจำกัดพื้นที่หรือกีดกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ที่สื่อมวลชนกำลังปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนห้ามจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน หรือเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ทุกครั้งที่มีการชุมนุม

พร้อมขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งระดับผู้บังคับบัญชาที่ทำหน้าที่สั่งการและในระดับปฏิบัติ เพื่อลงโทษทางวินัยและห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้ความรุนแรงปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนอีกจนกว่าจะได้รับการปรับปรุงพฤติกรรม เพื่อป้องกันมิให้มีการคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน รวมทั้งก่ออันตรายแก่เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังยื่นฟ้องว่า การยื่นขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้ เนื่องจากมีการชุมนุมในช่วงเย็นที่ผู้สื่อข่าวต้องทำหน้าที่ ถ้าตำรวจไม่เปลี่ยนแนวปฏิบัติก็จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ตั้งแต่มีการชุมนุมมา ช่วงแรกเจ้าหน้าที่ก็จับกุมด้วยความรุนแรง และมีการทำร้ายร่างกายหลังจับกุม

ทนายความกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการรุนแรงโดยไม่เลือกหรือแยกแยะเป้าหมาย มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น การไต่สวนขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ผู้สื่อข่าวปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ถูกผลักดันจากพื้นที่ และขอให้คุ้มครองผู้ชุมนุมด้วย เนื่องจากผู้สื่อข่าวอยู่ในสนามร่วมกับผู้ชุมนุม ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่แยกแยะ ทั้งผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวก็จะตกอยู่ในอันตราย จึงขอให้ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง ต้องระบุตัวผู้ก่อความวุ่นวายและจำกัดการใช้อาวุธ เพื่อความสงบเรียบร้อย และให้ผู้อื่นใช้เสรีภาพต่อได้

นอกจากนี้ ทนายความกล่าวว่า การปิดกั้นเส้นทางของตำรวจยังทำให้ผู้บาดเจ็บไม่สามารถไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ คือโรงพยาบาลวชิระ จึงขอให้ศาลสั่งห้ามปิดกั้นเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางไปโรงพยาบาล ในส่วนค่าเสียหาย โจทก์ยังไม่ประสงค์เรียกค่าเสียหาย เพื่อต้องการคุ้มครองเสรีภาพสื่อและการชุมนุม

ขอขอบคุณข่าวจาก : ประชาไท