ชาวบ้านโต้สวน “ประยุทธ์” ด่านปิดเป็นปี ข้าว 700 กระสอบในแม่ฮ่องสอน ของใคร มาจากไหน?

กลายเป็นประเด็นที่กำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยกันอยู่ว่า ข้าวสารหลายร้อยกระสอบที่ตั้งอยู่ บริเวณ บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน นั้นเป็นของใคร

โดย น.ส.ชนเขตต์ บุญญขันธ์ ประธานหอการค้า จ.แม่ฮ่องสอน โพสต์ตั้งคำถามถึงกองข้าวดังกล่าวว่าเป็นของใครกันแน่ ความว่า ข้อมูลล่าสุด 22 มีนาคม 64 เวลา 07.20 น.ข้าวสารและเสบียงตามภาพยังกองอยู่ที่เดิม หลังจากมีข่าวออกไปยังไม่มีใครแตะ KNU กั้นทางน้ำไม่ให้ผ่านเข้าพม่า ของยังไม่มีการเคลื่อนย้าย

จากข่าวเรื่องข้าวสาร 700 กระสอบริมฝั่งสาละวินที่บ้านแม่สามแลบ ในฐานะคนแม่ฮ่องสอน​ ขอสรุปข้อมูลเรื่องด่านรอบๆบ้านเราให้ทราบดังนี้ก่อน

1.แม่ฮ่องสอนมีด่านชายแดนทั้งหมด 5 แห่ง (ห้วยผึ้ง น้ำเพียงดิน ห้วยต้นนุ่น เสาหิน แม่สามแลบ)​ ทุกแห่งเป็น “จุดผ่อนปรนทางการค้า” แม่ฮ่องสอนไม่มีด่านถาวร

2. วันที่ 20 มีนาคม 63 มีคำสั่งจังหวัดให้ปิดทั้ง 5 จุดผ่อนปรนการค้าของแม่ฮ่องสอน​ จากสถานการณ์​Covid-19

3. วันที่ 1 กรกฎาคม​ 63 มีคำสั่งให้ “เปิด” จุดผ่อนปรน​ทางการค้า 3 แห่งคือ ห้วยผึ้ง ห้วยต้นนุ่น แม่สามแลบ เพื่อการขนส่งสินค้าเท่านั้น (ขนถ่ายของแบบท้ายชนท้าย)​ ห้ามมีการเข้าออกของคนหรือยานพาหนะ และเปิดเฉพาะวันจันทร์ อังคาร พุธ

4. วันที่ 1 กันยายน 63 มีคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนในข้อ 3 ทั้งหมด เพราะเกิดการระบาดระลอก 2 ในพม่า (คำสั่งนี้ให้ปิดช่วง 3-17 กันยายน 63)

5. สถานการณ์​ในพม่ายังไม่ดีขึ้น จึงมีคำสั่งให้ขยายการปิดทุกด่านถึง 30 กันยายน 63

6. การระบาดในพม่ายังน่ากลัว มีคำสั่งขยายการปิดด่านออกไปอีก จนถึง 31 ตุลาคม 63

7. จังหวัดมีคำสั่งขยายเวลาปิดด่านตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 63 ไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง อันนี้คือคำสั่งฉบับสุดท้ายที่ออกมา เรื่องการปิดด่านในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน​

สรุปได้ว่า จนถึงปัจจุบัน (วันนี้ 21 มีนาคม 64) ทุกช่องทางค้าชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน​ยังปิดสนิท ไม่มีการเข้าออกของคน-สัตว์-สินค้า-พาหนะ หรือใดๆทั้งสิ้น! แม่ฮ่องสอน​ seal ตะเข็บชายแดนไว้แน่นหนามาก (เราถึงเป็นพื้นที่สีขาวปลอดภัยจากโควิดด้วย)​

แต่ในช่วงบ่ายวันที่ 20 มีนาคม 2564 ก็มีข่าว-มีภาพ-มีคลิป-มีข้อมูล​ว่ามีข้าวสารจำนวน 700 กระสอบวางกองอยู่บนฝั่งสาละวินตรงจุดผ่อนปรนบ้านแม่สามแลบ เหมือนจะเตรียมส่งข้ามไปพม่า และในวันที่ 21 มีนาคม 2564 ข้าวสารทั้งหมดก็ถูกส่งข้ามไปพม่า (ไปทางเรือ)

ข้องใจข้าวมาจากไหน เป็นของใครกัน

ประธานหอการค้า จ.แม่ฮ่องสอน โพสต์ระบุต่อว่า คำถามที่เกิดขึ้นคือ ข้าวมาจากไหน

1. ข้าวสารมาจากไหน? 700 กระสอบนี่จำนวนไม่น้อย เป็นของจากฝั่งไทย หรือต้นทางมาจากแม่สอดอย่างที่บางสายข่าวแจ้งมา (ว่าเป็นข้าวพม่า แต่ไปทางแม่สอดไม่ได้เพราะ KNU ไม่ให้ผ่าน เลยจำเป็นต้องส่งจากเมียวดีมาแม่สอดมาแม่ฮ่องสอน​ที่บ้านแม่สามแลบ เพื่อส่งกลับเข้าไปในพม่าอีกครั้ง)

2. ดำเนินการขนถ่ายข้ามแดนไปอย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้ทุกจุดผ่อนปรนการค้าของแม่ฮ่องสอน​ยังปิดสนิท ยังไม่มีคำสั่งเปิด พ่อค้าแม่ค้าชายแดนจะขายของไปพม่าก็ยังขายไม่ได้

3. ปลายทางเอาไปไหน ในใบขนถ่ายสินค้าแจ้งว่าส่งจากใครไปให้ใคร?

เอา 3 คำถามนี้ก่อน วันนี้ทั้งวันไล่หาคำตอบจากทุกที่ละหาไม่ได้ เลยขอมาเขียนไว้เผื่อใครมีคำตอบ หรือเผื่อใครจะช่วยกันระดมความคิดว่ามันน่ามีที่มาที่ไปอย่างไรหนอ เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องช่วยกันปกป้องบ้านเรา ไม่ใช่นึกจะเอาของมากองก็เอามา นึกจะหายก็หายวับ คนพื้นที่ได้แต่ดูกันอย่างงงๆ

นี่ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องการเตรียมพื้นที่ในจังหวัดเพื่อตั้งรับผู้ลี้ภัยจากความรุนแรงและการประหัตประหารในพม่า ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องที่ว่า KNU ออกมาประกาศจะไม่รับผิดชอบหากเกิดเหตุรุนแรงใดๆระหว่างการขนส่งเสบียงสนับสนุนทหารพม่า ยังไม่ต้องไปถึงเรื่องที่ว่าข้าวสารนี้ไทยส่งไปช่วยกองกำลังทหารพม่าอย่างที่เขาว่ากันหรือไม่ และถ้าใช่เราไปช่วยเขาทำไมในขณะที่ทั่วโลกกำลังประนามเหตุรุนแรงจากฝีมือของทหารพม่าที่ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์​เสียชีวิตไปแล้วกว่า 200 คน (หรือจริงๆคือเราจะส่งไปช่วยประชาชนผู้ยากลำบาก ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะได้ช่วยกันแก้ข่าว)​

ชาวบ้านยัน ขนส่งสินค้าไม่ได้มา 1 ปีแล้ว

ขณะที่สำนักข่าว The Reporters สัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ ระบุว่า ชาวบ้านยืนยันว่า ไม่สามาถขนส่งสินค้ามา 1 ปีแล้ว จากปกติ สามารถใช้เรือขนส่งสินค้าไปยังหมู่บ้านริมแม่น้ำสาละวิน ทั้งหมู่บ้านของไทย และในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ ไม่มีหมู่บ้านชาวเมียนมา อย่างที่นายกรัฐมนตรี กล่าว มีเพียงฐานทหารพม่า และฐานทหาร กองพลที่ 5 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU และมีศูนย์อพยพอีตูท่า ที่มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง อยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากแม่สามแลบขึ้นไปประมาณ 40 กม. จึงอยากให้นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัด

ที่สำคัญ ข้อกังวลมากที่สุดของชาวบ้าน คือความปลอดภัย ที่อยากให้รัฐบาล นำกองข้าวปริศนา ออกจากพื้นที่โดยด่วน จากสถานการณ์ตึงเครียด ที่กองทัพกะเหรี่ยง ประกาศคัดค้านการขนส่งเสบียงให้ทางทหารพม่า หากเกิดการปะทะกันจะส่งผลต่อความปลอดภัยของชาวบ้านโดยตรง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ระบุว่า ส่วนใหญ่เขาจะข้ามมาซื้อของฝั่งไทย ก็ตกลงว่าให้ลงมากันทั้งหมด และเมื่อเขายืนยัน เราก็ให้ทหารเข้าให้ไปช่วยตามหลักมนุษยธรรม และเป็นเรื่องความมั่นคงด้วย

พื้นที่มันไม่ชัดเจน เราก็ไม่อยากให้เขาขึ้นที่สูง และอยากให้เขาเข้ามาซื้อของฝั่งบ้านเรา และเป็นการสั่งซื้อโดยตรงจากพ่อค้า อย่าให้เป็นเรื่องราวกันต่อไป มันคนละกรณีกันอย่าเอามาเกี่ยวข้อง อย่าว่าเราสนับสนุนอะไร มันคนละเรื่องกัน”นายกฯกล่าว