เหลิงอำนาจ! ‘วิโรจน์’ ซัด “ประยุทธ์” ปิดทางแก้รธน. จี้เร่งทำประชามติ อย่าผลักภาระไปให้ปชช.

วิโรจน์ ก้าวไกล ซัดประยุทธ์ เหลิงอำนาจ ไม่เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ รัฐบาลเร่งเดินหน้าทำประชามติโดยด่วน รับข้อเสนอประชาชน เปิดทางแก้รัฐธรรมนูญเร็วที่สุด ย้ำ อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตยของชาติ

วันที่ 23 มีนาคม 2564 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา

วิโรจน์ กล่าวว่า. นายกรัฐมนตรีจะต้องยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้คำมั่นเอาไว้กับประชาชนในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน หากนับตั้งแต่วันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ก็เป็นเวลา 2 ปีแล้วแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย และในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และเป็นผู้ให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้เอง ควรจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่า อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของปวงชนชาวไทย ผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยของชาติ

“แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำอยู่ เป็นเพียงการผลักเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พ้นจากความรับผิดชอบของตนเอง โยนไปโยนมา เหมือนกับไม่ใช่หน้าที่ของตน“ นายวิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดอยู่เสมอว่าตนเองไม่ขัดข้อง แต่ก็วางเฉยไม่คิดที่จะลงมือทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งๆ ที่อยู่ในอำนาจของตน จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยจะเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเครื่องมือ ในวงจรของการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ คสช. แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาชี้แจงขอโทษประชาชนในความล่าช้าที่เกิดขึ้น และประกาศเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีกำหนดการที่ชัดเจนกลับให้สัมภาษณ์ในเชิงท้าทายประชาชนว่า “ก็แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ก็แล้วกัน” ชี้ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่คิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะพูดให้คำมั่นกับประชาชน แล้วเพิกเฉยต่อคำมั่นนั้นไม่ได้ และบริบทของโลกในทุกวันนี้ มีพลวัตที่เร็วมาก ทั้งเทคโนโลยี และค่านิยมทางสังคมต่างๆ หากประเทศไทยยังมีรัฐธรรมนูญ ที่เป็นสิ่งกีดขวางในการพัฒนา และขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า แล้วประชาชนที่แก่ตัวลงทุกวัน และเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน เขาจะมีอนาคตได้อย่างไร ในอนาคตประเทศก็จะเต็มไปด้วยประชาการในวัยแรงงานที่ขาดศักยภาพในการแข่งขัน และประชากรผู้สูงอายุที่ขาดเงินออม
.
“ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับที่รังสรรค์ขึ้นโดยคณะรัฐประหารยังคงอยู่สืบไป มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญ บางองค์กรที่คอยทำหน้าที่เป็นนั่งร้าน ให้เผด็จการได้สืบทอดอำนาจ และคอยลิดรอนอำนาจของประชาชน โดยอ้างกฎหมายต่างๆ นานา ที่มีที่มาจากเผด็จการอยู่ร่ำไป อ้างการปฏิรูปประเทศ ทั้งๆ ที่ จนถึงปัจจุบัน ประชาชนก็ก็สงสัยว่า ปฏิรูปประเทศประสาอะไร ประเทศถึงได้ถอยหลังลงอยู่ทุกวัน แบบนี้ ซึ่งประชาชนคนใดที่กล่าวเห็นต่าง ไม่ยอมจำนน ไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติ ไม่ยอมสยบยอมต่อคำสั่งของเผด็จการ ไม่ยอมให้เผด็จการ และเครือข่ายอุปถัมภ์ของพวกเขากินรวบทรัพยากรของประเทศ ก็จะถูกนิติสงคราม และถูก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เล่นงานอย่างสองมาตรฐาน ประเทศที่มองประชาชนเป็นเพียงผู้ถูกปกครองแบบนี้ เดินหน้าไปไม่ได้” วิโรจน์ กล่าว.
.
อีกทั้งสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีต้องเร่งทำโดยมีกำหนดการที่ชัดเจนก็คือ การทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนโดยตรง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ย้ำเอาไว้ว่า “อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน” ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตยของชาติ โดยคำถามประชามติ 4 ข้อ ที่ คณะรัฐมนตรี ( ครม. ) ควรเร่งถามประชาชน ก็คือ 1.ประชาชนเห็นควรให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ทั้งฉบับ เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือไม่ 2.ประชาชนเห็นควรให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนหรือไม่ 3.ประชาชนยังเห็นควรให้มีสมาชิกวุฒิสภา ต่อไปอีกหรือไม่ 4.ประชาชนยังเห็นควรให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปอีกหรือไม่

นอกจากนี้วิโรจน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีที่มาจากประชาชน โดยแท้จริง ดังนั้น สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง รวมไปถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะได้รับการแก้ปัญหาให้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในส่วนของการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ จะถูกตรวจสอบจากภาคประชาชนอย่างโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้น ปัญหาการคอรัปชั่น ก็จะถูกจำกัดให้แคบลง ส่งผลให้กฎหมายต่างๆ ก็จะถูกทยอยแก้ไข ปรับเปลี่ยน ให้สะท้อนกับบริบทของโลก และเจตจำนงของประชาชนมากขึ้น และนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ก็จะสะท้อนไปที่ความต้องการของประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่เอื้อแต่กลุ่มทุนในเครือข่ายอุปถัมภ์ แล้วโยนเพียงเศษเนื้อข้างเขียงให้กับประชาชน เพื่อเลี้ยงไข้ความยากจนให้ดำรงอยู่ร่ำไป เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนก็จะเริ่มมีแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ ประชาชนมีความหวังที่จะมีอนาคตที่จะลืมตาอ้าปากพึ่งตนเองได้มากขึ้น
.
“ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรรวมทั้งคณะรัฐมนตรีด้วย และมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญก็ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ทำประชามติ​ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงอยู่ในฐานะเจ้าภาพหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ให้เป็นฉบับของประชาชนเสียที ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จะโยนเอาความรับผิดชอบหลักของตนไปที่คนอื่นไม่ได้อีกต่อไป และประชามติจะทำเมื่อไหร่ คือ คำถามที่ประชาชนรอฟังคำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ อย่างใจจดใจจ่อ. “ วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย.