เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567
หน้าแรก ข่าวเด่น 2 นักวิชาการห...

2 นักวิชาการห่วง เสรีภาพทางวิชาการในไทยถดถอย เหตุใช้กม.ปิดปาก ปมวิทยานิพนธ์ ป.เอก

วันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นิวแมนเดล่า เว็บไซต์เชิงวิชาการและบทวิเคราะห์ ได้เผยแพร่บทความเชิงสะท้อนมุมมองของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการประวัติศาสตร์ และดร.ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน ต่อเรื่องเสรีภาพทางวิชาการกับการดำเนินคดีอันมีแรงจูงใจทางการเมืองจากผลงานทางวิชาการของไทยที่เกิดขึ้นล่าสุดในไม่นานมานี้

โดยทั้ง 2 ได้ออกมาให้มุมมองต่อกรณีการดำเนินคดีทางแพ่งในข้อหาหมิ่นประมาทต่อผลงานทางวิชาการของ ดร.ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ เจ้าของผลงานที่กลายเป็นประเด็นถึงขั้นดำเนินคดีอย่าง “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ซึ่งปรับจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ศึกษาบทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจต่อการเมืองไทยใน พ.ศ.2491-2500

ปมที่กลายเป็นประเด็นคดีฟ้องแพ่งในข้อหาหมิ่นประมาท คือข้อถกเถียงในบทบาทของพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งการศึกษาของดร.ณัฐพลระบุว่า เป็นอดีตนักโทษการเมืองจากกรณีกบฎบวรเดช ก่อนได้รับอภัยโทษหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับมีบทบาทในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงรัฐประหาร 2490 และอยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูอำนาจชนชั้นนำหลังการสิ้นอำนาจของฝ่ายคณะราษฎร ทำให้หลานสาวของกรมขุนชัยนาทนเรนทร จากข้อมูลระบุ ทราบรายละเอียดจาก ดร.ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการด้านปรัชญาการเมืองและเป็นผู้ที่ระบุว่ามีบทบาทขัดขวางการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ของดร.ณัฐพลนั้น ได้ทำการยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งได้มีการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา

บทความนี้ ได้ระบุสาเหตุที่ อ.ไชยันต์ มีท่าทีต่อกรณีวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของดร.ณัฐพล จนนำไปสู่การระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ อ.ไชยันต์ได้อ้างว่าพบการอ้างอิงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งต่อมาดร.ณัฐพลได้ทำการชี้แจงถึงการอ้างอิงแหล่งข้อมูลผิดแล้ว และมีการปรับปรุงข้อมูลเชิงอรรถพร้อมเผยแพร่ในหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีแต่ยังคงยืนยันในข้อถกเถียงถึงเรื่องบทบาทของสหรัฐอเมริกาต่อสถาบันทางการเมืองของไทยโดยเฉพาะการฟื้นฟูอำนาจชนชั้นนำระบอบเก่า และมีบทบาทกับการเมืองไทยจวบจนหลังสงครามเวียดนาม ซึ่งนี่อาจแรงจูงใจที่แท้จริงของดร.ไชยันต์ที่มีมุมมองต่อสถาบันการเมืองไทยแตกต่างจากดร.ณัฐพล แต่ใช้ช่องทางนี้ในการเซ็นเซอร์ผลงานทางวิชาการที่กำลังแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาต่อบทบาทและสถานะอำนาจของชนชั้นนำไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ดร.ธงชัยและดร.ไทเรลระบุ กรณียื่นฟ้องแพ่งงานวิชาการทั้งตัวผู้เขียน (ดร.ณัฐพล) และผู้จัดพิมพ์ คือสำนักพิมพ์ฟ้าเดียว แม้แต่ดร.กุลลดา เกตุบูญชู มิ้ด ยังถูกกล่าวหาด้วย ถือเป็นกรณีของใช้รูปแบบทางกฎหมายที่เรียกว่า SLAPP หรือการใช้กฎหมายปิดปาก ซึ่งก่อนหน้านี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการเซ็นเซอร์วิทยานิพนธ์และไม่ให้มีการเข้าถึงฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ตามระเบียบมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2562

แม้ต่อมาคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ได้มีคำตัดสินว่า การที่ณัฐพลตีความผิดนั้นเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจและสามารถลบข้อความที่มีข้อผิดพลาดได้โดยไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อข้อโต้แย้งในบทนั้นหรือตัวเล่มทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจ ดร.ณัฐพลได้ทำเรื่องถึงบัณฑิตวิทยาลัยเพื่อขอแก้ไขข้อผิดพลาดแต่กลับถูกปฏิเสธเพราะวิทยานิพนธ์ได้ผ่านการรับรองและได้รับอนุมัติไปเกือบ 10 ปีแล้ว

บทความระบุต่อว่า หนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ได้กลายเป็นหนังสือยอดนิยมเรียกว่าดังพลุแตกและเป็นตัวขับเคลื่อนทางความคิดชิ้นสำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่า หนังสือเล่มนี้ ถือว่าหาได้ยากยิ่งในวงการวิชาการไทยในเรื่องการยอมรับอย่างแพร่หลายจากสาธารณชน อีกทั้งผู้อ่านงานชิ้นนี้ถึงกับกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ได้ “เบิกเนตร” หรือทำให้ “ตาสว่าง” ในเรื่องการเมืองไทยโดยเฉพาะบทบาทอันย้อนแย้งของชนชั้นนำทางการเมืองของไทย ความสำเร็จนี้เอง ได้นำไปสู่ความพยายามแรกของ ดร.ไชยันต์ ที่จะหยุดยั้งผลสะเทือนจากหนังสือดังกล่าว ด้วยการโจมตีจุดอ่อนของงานวิชาการนี้ตรงการตีความแหล่งข้อมูลที่ผิดพลาดเพื่อลดความน่าเชื่อถือ ก่อนยกระดับด้วยการให้ข้อมูลกับตระกูลรังสิตเพื่อนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายแพ่ง

นักวิชาการทั้ง 2 ชี้ว่า แม้กระทั่งก่อนการสอบสวนครั้งล่าสุดและการใช้กฎหมายปิดปาก การเซ็นเซอร์โดยมหาวิทยาลัย และข้อกล่าวหาอย่างไม่หยุดยั้งเกี่ยวกับการกระทำผิดในวิทยานิพนธ์และหนังสือเล่มนี้มีผลกระทบที่น่ากลัว ชอให้ลองนึกถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ในอนาคตที่ต้องการศึกษาเรื่องที่ถูกทำให้ต้องห้ามในสังคมไทย พวกเขาควรทำอย่างไร? ศาสตราจารย์จะตกลงที่จะกำกับดูแลงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่? หรือให้ประเทศไทยท่วมท้นไปด้วยงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในทางเชิดชูและใช้ภาษาฟุ่มเฟือยเกินไปในอนาคตเหมือนที่เคยเป็นมา และย้ำว่านี่ไม่ใช่งานเพื่อขอทุนการศึกษา ขอให้คิดถึงผลกระทบต่อทั้งสถาบันการศึกษาและสาขาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการแสวงหาความรู้ทั้งภายในและภายนอกสถาบันและต่อคนไทยรุ่นต่อไป

ทว่า ทั้งดร.ไชยันต์และนักวิชาการฝ่ายกษัตริย์นิยม เลือกไม่ผลิตผลงานวิชาการเพื่อมาตอบโต้ข้อถกเถียง กลับเลือกใช้วิธีแบบกดปราบ ทั้งการเซ็นเซอร์ ลงโทษผู้เขียนและการใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก

ทั้งนี้ ดร.ธงชัยและดร.ไทเรล แสดงความกังวลว่า กรณีวิทยานิพนธ์ของดร.ณัฐพลนี้ ไม่ใช่กรณีเดียวภายใต้บริบทเสรีภาพทางวิชาการของไทยที่กำลังถดถอยอย่างหนัก สถาบันทางสังคมของไทยหลายส่วนเคยสนับสนุนการประท้วงของฝ่ายขวาจัดอย่างเปิดเผย จนไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งในการรัฐประหาร 2557 และพวกเขาไม่สนับสนุนพร้อมยังขัดขวางขบวนการคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องให้ยุติรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจของคสช.และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้มีความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่กลางปี 2563 ซึ่งประชาคมวิชาการระหว่างประเทศได้เรียกร้องถึงมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หยุดการกระทำอันไร้ข้อแก้ตัวนี้โดยทันที พร้อมกับเรียกร้องให้สถาบันการศึกษาไทยทุกแห่ง ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับที่อาจจะลดลง เพราะการกระทำอันเป็นเผด็จการแบบในโลกวรรณกรรมของจอร์จ ออร์เวล

“การกระทำ (การปิดกั้น) ดังกล่าว กลับจะเป็นการทำร้ายต่อสถาบันวิชาการของไทย ต่อสถาบันการเมืองไทยและต่อคนไทยทุกคน” นักวิชาการทั้ง 2 กล่าวในตอนท้าย