รัฐประหารพม่า : ‘ซูจี’ โดนข้อหารับสินบนนักธุรกิจ ประณามจนท.ยิงสาววัย 16 แค่ออกไปซื้อผัก

วันที่ 18 มีนาคม 2564 เอเอฟพี รายงานสถานการณ์ความไม่สงบใน ประเทศเมียนมา (พม่า) ที่ยังยืดเยื้อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ก่อนที่มวลชนชาวเมียนมาเริ่มลุกฮือเริ่มการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.

และแม้ทางการจะใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมซึ่งสมคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา (เอเอพีพี) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 210 ราย ได้รับบาดเจ็บนับพันคน ถูกจับกุมกว่า 2,175 คน และประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ภูมิภาคย่างกุ้ง

แต่ประชาชนจำนวนมากยังปักหลักประท้วงต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสประณามกองทัพเมียนมาระลอกใหม่ ภายหลัง น.ส.หง่วย อู้ (นามสมมุติ) เด็กสาววัย 16 ปีในเมืองวู่นดวีน ภูมิภาคมัณฑะเลย์ ถูกลูกหลงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ยิงเจาะศีรษะจนบาดเจ็บสาหัสระหว่างออกไปซื้อของที่ตลาด เมื่อวันอังคารที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

นายแพทย์ลา มิน เปิดเผยว่าน.ส.หง่วย อู้ กำลังเดินทางไปซื้อผักเพื่อนำกลับมาทำอาหาร แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้กระสุนยางยิงหญิงสาวทั้งที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ประท้วง เบื้องต้นน.ส.หง่วย อู้ ก็บาดเจ็บหนักอยู่แล้ว แต่เพราะการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวกระทบต่อระบบการให้บริการด้านสุขภาพ ประกอบกับความไม่เชื่อใจในเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหาร ส่งผลให้การส่งตัวน.ส.หง่วย อู้ ไปรักษาที่โรงพยาบาลต้องใช้เวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ทำให้อาการยิ่งทรุดหนักและไม่มีใครรู้ชะตากรรมว่าหญิงสาวจะหายดีหรือไม่

นพ.ลา มิน ระบุว่าตอนแรกพ่อแม่ของน.ส.หง่วย อู้ พาลูกสาวไปยังคลินิกของมูลนิธิช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก แต่เพราะบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะสาหัสมาก จึงต้องพาตัวหญิงสาวไปโรงพยาบาลในเมืองแทน แต่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลดังกล่าวระบุว่าไม่สามารถรักษาได้ และว่าต้องส่งน.ส.หง่วย อู้ ไปยังโรงพยาบาลทหารในเมืองปยีนอู้ลวีนซึ่งอยู่ห่างออกไป 3 ชั่วโมง

พ่อแม่ของน.ส.หง่วย อู้ ต้องการพาลูกสาวเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในเมืองเมะทีลา เนื่องจากไม่มั่นใจว่าหมอที่โรงพยาบาลทหารจะยอมรักษาเหยื่อจากการปราบปรามผู้ประท้วง “ครอบครัวไม่รู้ว่าจะไปไหนดี พวกเขาไปๆ มาๆ บนเส้นทางระหว่างเมืองปยีนอู้ลวีนกับเมืองเมะทีลา” นพ.ลา มิน อธิบาย และว่าสุดท้ายก็ไม่มีทางเลือก ครอบครัวส่งตัวน.ส.หง่วย อู้ ไปโรงพยาบาลทหารที่ใกล้ที่สุดเมื่อเวลาราว 23.00 น. ของวันเดียวกัน จากนั้นแพทย์ทำการฉายรังสีด้วยวิธีซีทีสแกนพบว่ามีส่วนของกะโหลกศีรษะหักและทิ่มสมองซีกขวา

พ่อของน.ส.หง่วย อู้ กล่าวว่าที่ตนขับรถอยู่นอกบ้านหลังเคอร์ฟิวเวลา 20.00 น. ไม่ใช่การกระทำของความกล้าหาญ แต่เป็นความกลัวว่าจะสูญเสียลูกสาว แม้ผ่านมา 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ยังไม่สามารถยืนยันความปลอดภัยของน.ส.หง่วย อู้ และบอกกับครอบครัวว่าหญิงสาวเสียเลือดไปมาก

“เธอคงจะตายแน่ๆ ถ้าไม่ได้ผ่าตัด แต่ถึงผ่าก็มีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่จะรอด ผมแค่ต้องการเรียกร้องถึงพวกเขา ได้โปรดอย่ายิงประชาชนอีกเลย” นพ.ลา มิน กล่าว ขณะที่แม่ของน.ส.หง่วย อู้ ระบุเพียงว่ารู้สึกเศร้าใจอย่างยิ่งและกังวลมากๆ จากนั้นก็ร้องไห้ไม่หยุดระหว่างนั่งรอความคืบหน้าของอาการลูกสาว

ขณะที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าสถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมาได้เผยแพร่คลิบวิดีโอนักธุรกิจด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นประธานบริษัท Say Paing Construction ที่อ้างว่าเขาได้ให้สินบนนางออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ขณะที่เธอดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐเป็นเงิน 550,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 17 ล้านบาท โดยมีการส่งมอบเงินที่บ้านพักของเธอทั้งหมด 4 ครั้ง ระหว่างปี 2561-2563 เพื่ออำนวยสะดวกให้ธุรกิจของเขาเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ในการสัมภาษณ์ เขาระบุว่าไม่มีผู้ใดเป็นพยาน

สถานีโทรทัศน์ MRTV ระบุอีกว่า ข้อหาการละเมิดกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันที่กองทัพดำเนินคดีต่อนางซู จี อาจจะทำให้เธอต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี นี่ยังไม่รวมกับ 4 ข้อหาที่ฟ้องต่อศาลในกรุงเนปิดอว์ก่อนหน้านี้

ปัจจุบันนางซู จียังคงถูกควบคุมตัว โดยไม่ได้รับอนุญาตให้พบทนายความซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและมองว่าการดำเนินคดีต่อนางซู จีเป็นเหตุผลทางการเมือง

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลมีกำหนดไต่สวนนางซู จี แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากมีปัญหาการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตที่ศาล หลังจากรัฐบาลพม่าสั่งตัดสัญญาณโทรคมนาคมเพื่อกีดขวางการสื่อสารของกลุ่มผู้ชุมนุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

สำหรับสถานการณ์การประท้วงในพม่านั้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่กองทัพเมียนเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่บันทึกได้มีจำนวนอย่างน้อย 217 ราย แต่จำนวนที่แท้จริงอาจจะสูงกว่านี้มาก

ชาติตะวันตกหลายประเทศกล่าวประณามการก่อรัฐประหารพร้อมกับเรียกร้องให้ทางการเมียนมายุติการก่อความรุนแรงต่อประชาชนและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซู จี และผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ขณะเดียวกันหลายชาติในอาเซียนก็ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อช่วยหาทางออกในวิกฤตนี้เช่นกัน

เศรษฐกิจของเมียนมาที่ซบเซาจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 ต้องพบกับภาวะชะงักงันจากการประท้วงยืดเยื้อและการผละงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติต้องชะลอแผนธุรกิจและการลงทุนในเมียนมา

ขณะเดียวกัน หน่วยงานด้านอาหารขององค์การสหประชาชาติออกคำเตือนในสัปดาห์นี้ว่าราคาสินค้าอาหารและเชื้อเพลิงทั่วประเทศที่กำลังสูงขึ้นจะกลายเป็นอุปสรรคต่อกลุ่มครอบครัวผู้ยากไร้ในการอุปโภคบริโภค

กต. จับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรายงานวันนี้ (18 มี.ค.) ว่าขณะนี้มีคนไทยที่อยู่ในเมียนมา 687 คน ในจำนวนนี้อยู่ในย่างกุ้ง 428 คน และเมืองอื่น ๆ อีก 259 คน เกือบทั้งหมดเป็นนักธุรกิจและพนักงานบริษัทที่ลงทุนทำธุรกิจในเมียนมา

ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตติดต่อสื่อสารกับทุกคนอย่างใกล้ชิดหลังเกิดสถานการณ์การเมืองในเมียนมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. และแนะนำให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุม สำหรับคนที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยให้ติดต่อสถานทูตได้ทันที