“เผ่าภูมิ” โต้ “อาคม” แก้ไขเงื่อนไขซอฟต์โลน ทำแค่เปลือก ไม่ได้แก้ที่แก่น

วันที่ 4 มีนาคม 2564 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการพรรคเพื่อไทย และทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเกี่ยวกับการแก้ไขรายละเอียด พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ในงานสัมมนา “จับสัญญาณการลงทุนยุค New Normal” ว่า

1. ที่เสนอขยายวงเงินต่อรายเพิ่มเป็น 500 ล้านบาท จากเดิมที่อยู่ราว 20 ล้านบาทต่อราย ต้องอย่าลืมว่ากลุ่มที่มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในวิกฤตรอบนี้ไม่ใช่รายใหญ่ แต่กลับเป็นรายย่อย นอกจากนั้นรายใหญ่ยังมีวิธีการระดมทุนอื่นนอกเหนือจากระบบสินเชื่ออยู่แล้ว ผลลัพธ์จากการแก้เงื่อนไขนี้เราจะเห็นยอดซอฟต์โลนเดินมากขึ้น แต่จะเดินในส่วนของสินเชื่อรายใหญ่ ในขณะที่ยอดรายย่อยยังเหมือนเดิม ในภาวะแบบนี้เราต้องการเกลี่ยให้ธุรกิจรายย่อยให้ได้สินเชื่อในวงกว้างไม่ใช่หรือ

2. ที่เสนอปรับเพดานดอกเบี้ยมากกว่า 2% อันนี้เห็นด้วยครึ่งหนึ่ง เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้คือ ความเสี่ยง และที่ผ่านมาผลตอบแทนเพียง 2% นั้นต่ำและไม่คุ้มเสี่ยง ฉะนั้นการปรับผลตอบแทนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ แต่มีวิธีที่ดีกว่า มีประสิทธิภาพ และตรงจุดมากกว่า คือ การเพิ่มการชดเชยความเสียหายผ่านกลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตามโครงการ PGS

3. ที่เสนอโครงการโกดังพักหนี้ (Asset Warehousing) นั้น อันนี้จะมุ่งช่วยกลุ่มธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก เพราะมีสินทรัพย์ที่จับต้องได้ สามารถตีโอนสินทรัพย์ให้กับธนาคารได้ แต่ต้องอย่าลืมว่าภาคบริการและท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้มีสินทรัพย์จับต้องได้แบบนี้ เป็นธุรกิจรายย่อยที่มีความไม่เป็นทางการสูง ซึ่งไม่ได้ประโยชน์เลยจากโครงการนี้ โครงการโกดังพักหนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาเพียงจุดเล็กๆจุดเดียวเท่านั้น

ที่เสนอมาทั้ง 3 ข้อนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่เปลือก แต่แก่นของมันคือที่กลไกที่ไปผ่านธนาคารพาณิชย์มันไม่ถูกต้องโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ แนวทางที่จะแก้ปัญหาหลักของซอฟต์โลนนั้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่พร้อมทำ ไม่พร้อมเสี่ยง ภาครัฐก็ต้องใช้กลไกของตัวเองในการทำซอฟต์โลนเอง นั่นคือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เพราะรัฐสามารถกำหนดทิศทาง รับความเสี่ยง และรับความเสียหายได้เอง