“ณัฐพล” แจงปมวิทยานิพนธ์ ป.เอก ชี้ตีความผิดเกิดขึ้นได้ แต่ไม่มีผลต่อข้อถกเถียงหลักจนทำลายผลงาน

วันที่ 3 มีนาคม 2564 ณัฐพล ใจจริง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่ศึกษาการเมืองเชิงประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ และเป็นเจ้าของผลงานวิชาการที่เปิดข้อถกเถียงประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่าง “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ซึ่งทั้ง 2 ผลงานถูกจัดพิมพ์และจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้ทำการชี้แจงภายหลัง บีบีซีไทยได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มีการตั้งคณะกรรมการข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ของเขาโดยระบุว่า

ตามที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้สร้างข้อกล่าวหาหลายประการต่อวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตของข้าพเจ้าเรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ. 2491-2500) ที่เสนอต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2552 นั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงดังต่อไปนี้

  1. วิทยานิพนธ์เล่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อศึกษานโยบายต่างประเทศและบทบาทของสหรัฐฯที่มีต่อการเมืองไทยในช่วงต้นของสงครามเย็น หนึ่งในประเด็นสำคัญของการศึกษาคือความสัมพันธ์และมุมมอง (perception) ของสหรัฐฯที่มีต่อกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย วิทยานิพนธ์เล่มนี้ไม่ได้มุ่งศึกษาเรื่องสถาบันกษัตริย์
  2. ประเด็นหลักที่ศ.ดร.ไชยันต์ยกขึ้นมาคือข้อเท็จจริงเรื่องกรมขุนชัยนาทนเรนทรเสด็จเข้าประทับในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อครั้งปี2493 หลังจากข้าพเจ้าทราบจากคณะกรรมการวิทยานิพนธ์และบัณฑิตวิทยาลัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงข้อร้องเรียนของศ.ดร.ไชยันต์แล้ว ข้าพเจ้ามิได้นิ่งนอนใจและได้รีบตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องในทันที และพบว่าข้าพเจ้าอ่านผิดพลาดจริง หลังจากปรึกษาคณะกรรมการวิทยานิพนธ์ที่ร่วมประชุม ข้าพเจ้าจึงแสดงเจตจำนงขอแก้ไขประเด็นนี้ต่อบัณฑิตวิทยาลัยในทันที แต่ทางบัณฑิตวิทยาลัยไม่อนุญาตให้แก้ไขใด ๆ ซึ่งเป็นกฎที่ใช้กับวิทยานิพนธ์ทุกเล่มที่ผ่านกระบวนการสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว และบัณฑิตวิทยาลัยได้ดำเนินการระงับการเผยแพร่วิทยานิพนธ์ของข้าพเจ้าในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีใจเป็นกลางย่อมทราบดีว่าการตีความหลักฐานผิดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ตราบเท่าที่การตีความผิดพลาดบางจุดไม่ส่งผลต่อข้อถกเถียงหลักของวิทยานิพนธ์ ก็ไม่มีเหตุให้งานชิ้นนั้นสมควรถูกทำลายลง กระนั้น ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการอ่านเอกสารผิดพลาดหนึ่งจุดนี้ ไม่มีผลกระทบต่อข้อถกเถียงหลักของบท ต่อให้ตัดข้อความดังกล่าวทิ้งก็ไม่กระทบแต่อย่างใด เพราะยังมีหลักฐานอีกจำนวนมากที่ใช้ประกอบสร้างข้อถกเถียงหลักของบทนั้น ดังปรากฎให้เห็นในบทที่ 4 ของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ประการสำคัญ ข้อผิดพลาดนั้นไม่ส่งผลใด ๆ ต่อข้อสรุปของวิทยานิพนธ์ที่ว่า สหรัฐฯมีนโยบายต่างประเทศและมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเมืองไทยในช่วงเวลานั้น ข้าพเจ้าจึงปรึกษากับคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ ซึ่งคณะกรรมการฯก็เห็นชอบด้วย

ด้วยข้อจำกัดในการแก้ไขและการปิดกั้นการเข้าถึงวิทยานิพนธ์ดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาวิทยานิพนธ์ดังกล่าว และได้จัดพิมพ์ออกเป็นหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” อันจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนต่อไป ทั้งนี้ หนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500)” ตีพิมพ์ในปี 2556 อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ข้าพเจ้าจะทราบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น จึงไม่สามารถแก้ไขได้ทัน แต่หากมีการตีพิมพ์ซ้ำในอนาคต ข้าพเจ้าก็ยินดีแก้ไขจุดที่ผิดพลาดหนึ่งจุดนั้นอย่างแน่นอน

อนึ่ง การพยายามผลักดันด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาให้มีการลงโทษข้าพเจ้าเกิดขึ้นหลังจากข้าพเจ้าได้แสดงความจริงใจขอแก้ไขวิทยานิพนธ์และบัณฑิตวิทยาลัยได้ปฏิเสธการขอแก้ไขของข้าพเจ้า จึงเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยที่ข้าพเจ้าจะกระทำอะไรได้อีกนอกจากเผยแพร่วิทยานิพนธ์ฉบับปรับปรุงแก้ไขแล้วในรูปของหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ฉะนั้น การเรียกร้องให้ลงโทษใด ๆ ต่อข้าพเจ้าจึงไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง 

  1. ต่อกรณีที่ ศ.ดร.ไชยันต์กล่าวหาว่าวิทยานิพนธ์มีจุดผิดพลาดอีก 31 จุด ข้าพเจ้าได้นำเสนอหลักฐานต่อคณะกรรมการวิทยานิพนธ์แล้ว และยืนยันการตีความเดิมทั้งหมด เนื่องจากข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นความบกพร่องของผู้กล่าวหาเอง เช่น 1) ใช้เอกสารผิดชิ้น 2) ผิดวันที่ 3) ชื่อเอกสารผิด 4) ผิดแผ่น 5) บางคำถามถามเองแต่กลับยอมรับว่าไม่แน่ใจ 6) บางข้อความข้าพเจ้าเขียนสรุปมาจากเอกสารหลายชิ้นแต่ผู้กล่าวหามีเอกสารเพียงชิ้นเดียว 7) บางข้อมีแต่ข้อความ ไม่มีคำถาม ฯลฯ ซึ่งคณะกรรมการฯได้รับทราบคำชี้แจงของข้าพเจ้าแล้วและไม่ติดใจในข้อกล่าวหาเหล่านี้  

สำหรับเอกสารจดหมายเหตุหลายพันหน้าที่ข้าพเก็บรวบรวมมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติของสหรัฐฯด้วยภาษีอากรของประชาชนไทยนั้น ข้าพเจ้าจะดำเนินการเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไปเพื่อให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์หรือแม้กระทั่งตรวจสอบงานของข้าพเจ้าต่อไป

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการตรวจสอบที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งขึ้น จะรับฟังข้อเท็จจริงจากข้าพเจ้าและพิจารณาภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยจิตใจที่ปลอดอคติและยุติธรรม

ด้วยความนับถือ

ณัฐพล ใจจริง

ถ้อยแถลงนี้ สืบเนื่องจากรายงานสัมภาษณ์ของบีบีซีไทยที่ได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่า การลุกขึ้นมาตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของจุฬาฯ เกิดขึ้นหลังจาก ศ.ดร.ไชยันต์ ตรวจพบ “การอ้างอิงคลาดเคลื่อน” รวม 31 จุด ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกปี 2553 ของณัฐพลที่ในอีก 10 ปีต่อมา ได้กลายเป็นหนังสือเชิงวิชาการที่ถูกกล่าวขานในช่วงปีที่แล้ว

ผศ.ดร. เอกก์ ภทรธนกุล ผู้ช่วยอธิการบดีด้านสื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า อธิการบดีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมี “ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกลาง” เข้าร่วม ให้พิจารณาและนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยโดยเร็ว พร้อมยืนยันว่าจุฬาฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่กรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อมีผู้ส่งเอกสารร้องเรียนเข้ามาหลายทาง จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย ก่อนที่สภามหาวิทยาลัยจะมีมติให้ฝ่ายบริหารไปตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาฯ ไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้ ทั้ง รายชื่อคณะกรรมการ หลังมีรายงานข่าวว่าได้ทาบทาม ศ.ด้านกฎหมายมหาชน เป็นประธาน รวมถึงจำนวนคณะกรรมการ, ประเด็นในการพิจารณา, กรอบเวลาในการทำหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่าเป็น “คำสั่งลับ” ซึ่งทางมหาวิทยาลัยต้องการให้คณะกรรมการหน้าที่ได้อย่างอิสระ และปราศจากแรงกดดันใด ๆ แต่เมื่อกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว ทางจุฬาฯ พร้อมจะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

อ่านเพิ่มเติมใน : จุฬาฯ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง “วิทยานิพนธ์ที่ถูกปกปิด” หลัง ไชยันต์ ไชยพร ตรวจพบความคลาดเคลื่อนที่เชิงอรรถ

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่เดือนภายหลัง ศ.ดร.ไชยันต์ ออกมาเสนอความผิดพลาดของวิทยานิพนธ์โดยอ้างถึงความผิดพลาดในเชิงอรรถ ก็เกิดกระแสบนโลกโซเชียลในเชิงโจมตีเพื่อลดทอนคุณค่าทางวิจัยจากผู้ใช้งานที่มีแนวคิดตรงกันข้ามและมองงานวิจัยนี้มีทัศนะเชิงวิพากษ์เรื่องอ่อนไหวของสังคมไทย พร้อมกับเรียกร้องให้ณัฐพลออกมาชี้แจงมาโดยตลอด