‘ก้าวไกล’ รับเรื่องสอบจริยธรรม กมธ. ยั้งร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘คลองไทย’

‘ก้าวไกล’ รับข้อเรียกภาคประชาชนร้องสอบจริยธรรม กมธ. และยับยั้งร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘คลองไทย’ หวั่นสร้าง ‘รัฐอิสระ’ ของกลุ่มทุน มีผลประโยชน์ทับซ้อน จนกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อมทำงานไม่ได้

วันที่ 3 มีนาคม 2564 อาคารรัฐสภา ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร ,ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ และ สมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคใต้ เป็นตัวกลางรับหนังสือจาก ประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย ที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาคลองไทยเเละเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้เเทนราษฎร และได้ส่งต่อไปยัง นายเเพทย์ สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว

ประเสริฐพงษ์ กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับข้อสังเกตจากภาคประชาชนเรื่องกระบวนการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญการศึกษาคลองไทยเเละเศรษฐกิจพิเศษ ที่ปรากฎข้อเท็จจริงหลายประการที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งเเต่เดิมนายประสิทธิชัย หนูนวล เคยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมาธิการชุดนี้เช่นกัน แต่เมื่อได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเเละข้อสังเกตที่ไม่ชอบธรรม จึงลาออกจากคณะกรรมาธิการ ซึ่งในวันนี้พี่น้องชาวภาคใต้มีข้อกังวลต่อการพิจารณาเเละศึกษาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงได้ส่งตัวแทนนำหนังสือมายื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตรวจสอบการละเมิดคุณธรรมเเละจริยธรรมของการปฏิบัติงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ โดยพรรคก้าวไกล เเสดงจุดยืนตั้งแต่เเรกคือไม่เห็นด้วยหากจะมีนโยบายใดที่เกิดขึ้นแล้วจะส่งต่อกระทบวิถีชีวิตคนในภาคใต้กว่า 600,000 ครอบครัว เเละกระทบต่อสิ่งเเวดล้อม รวมถึงยังมีข้อกังขาต่อโครงการว่าอาจเป็นการเอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐเเละนายทุน

ด้านประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทย กล่าวว่า กรณีนี้เป็นกรณีสำคัญของภาคใต้ ซึ่งได้จัดทำการรับฟังความเห็นเพื่อที่จะพูดคุยเรื่องคลองไทยมาก่อนหน้านี้ ในขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจเเละคลองไทย ขึ้นมา ซึ่งตนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งบุคคลที่จะเข้ารับตำเเหน่งอนุกรรมาธิการเเละกรรมาธิการว่า จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ แต่กรณีที่เกิดขึ้นกลับเป็นการเเต่งตั้งบุคคลที่สนับสนุนการขุดคลองไทยทั้งสิ้น และพบว่าประธานเเละรองประธานกรรมาธิการสนับสนุนให้มีการดำเนินการขุดคลองไทยอย่างเต็มที่ ทำให้ผลการศึกษากมธ.ชุดนี้อาจเต็มไปด้วยอคติ เป็นหนึ่งเรื่องที่ขัดต่อประมวลจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎรที่ฝ่ายนิติบัญญัติควรทำหน้าที่ศึกษาให้กระจ่าง เเต่พฤติกรรมของคณะกรรมาธิการชุดนี้ทำเกินขอบเขตเเละหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ส่อให้เห็นถึงการละเมิดจริยธรรม อาทิ การลงนามร่วมกับบริษัทเอกชนที่เสนอให้มีการขุดคลองไทย เเละ พ.ร.บ.คลองไทยและเขตเศรษฐกิจภาคใต้ มีเนื้อหาที่อาจนำไปสู่การสร้างรัฐอิสระของกลุ่มทุน ทุกกฎหมายที่เคยคุ้มครองสิทธิและปกป้องสิ่งแวดล้อมของ ประชาชน จะไม่สามารถใช้ได้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ทุกอย่างจะถูกทำให้พิเศษเพื่อให้เอื้อผลประโยชน์ต่อความต้องการพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ในการขุดคลองไทยครอบคลุม 5 จังหวัด เป็นความขัดเเย้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้

“หากสภาผู้เเทนราษฎร ยังปล่อยให้คณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ดำเนินการต่อนั้น จะเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดเเย้งของพี่น้องชาวภาคใต้ครั้งใหญ่ เราจะขอติดตามการดำเนินการของประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า หากรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเเล้ว จะดำเนินการต่อเช่นไร ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจในการยับยั้งร่า งพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากขัดต่อจริยธรรม เเละละเมิดสิทธิมนุษยชน” ประสิทธิชัย กล่าว

ขณะที่นายเเพทย์สุกิจ กล่าวว่า หนังสือร้องเรียนมี 2 ประเด็นด้วยกันประเด็นเเรกในการสอบจริยธรรม ต้องให้คณะกรรมการคุณธรรมจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ดำเนินการ ในประเด็นที่สองเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ร่างพ.ร.บ.การขุดคลองไทยเเละเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ขอยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ได้บรรจุต่อสภาผู้เเทนราษฎร ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนตรวจสอบรายชื่อผู้ลงนาม เเละเนื้อหา รวมไปถึงขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นในภาคประชาชน เเละร่างดังกล่าวต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร หากส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยร่างดังกล่าวก็ต้องตกไป เเต่หากส.ส.ส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็จะผ่านตามขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนั้นประธานสภาผู้เเทนราษฎรไม่มีอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้