“วรภพ” ซัด “อัศวิน” อนุมัติเงินพิเศษขรก.กระทบโควิด 1.2 หมื่น แก้ไม่ตรงจุด เทียบเยียวยา ม.33 ตอกย้ำ “คนไม่เท่ากัน”

‘วรภพ ก้าวไกล’ ซัดอัศวิน เป็น ผู้ว่า ม.44 รับคำสั่งรัฐบาล อนุมัติงบกลางให้ค่าตอบแทนพิเศษ ข้าราชการ รายละ 12,000 เหตุกระทบโควิด ชี้ ไม่ตรงจุด สร้างมาตรฐานคนไม่เท่ากันเทียบโครงการเราชนะ ม.33 เรารักกัน ย้ำหากเลือกตั้งใหม่ ผู้ว่าคนใหม่ ต้องมาจากปชช. ไม่ใช่มาจากการรัฐประหาร.

วันที่ 2 มีนาคม 2564 วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตุกรณีพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อนุมัติงบประมาณส่วนกลาง ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปี 2564 จำนวน 1,012 ล้านบาท มอบให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว เเละลูกจ้างโครงการ คนละ 12,000 บาท เป็นค่าตอบเเทนพิเศษ กรณีเกิดผลกระทบจากสถานการณ์เเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้แต่ละหน่วยงานเบิกจ่ายได้ทันทีนั้น

วรภพ กล่าวว่า ถ้าเปรียบกับองค์กรเอกชน ถ้าผลงานองค์กรดี ลูกค้าพอใจกับสินค้าหรือบริการ องค์กรก็ย่อมมีความก้าวหน้า ผู้บริหารที่เก่งก็ย่อมให้รางวัล โบนัส กับพนักงานที่ทำงานดีมีผลงาน ให้เป็นขวัญกำลังใจให้ทำงานกับองค์กรต่อไปอย่างภาคภูมิใจ ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานครหรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีโบนัส กับข้าราชการท้องถิ่นนั่น ผมเองก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือว่าข้าราชการท้องถิ่นนั่นมีหน้าที่และทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่โดยตรง แต่กรุงเทพมหานคร ควรจะพิจารณา สถานการณ์ความเป็นจริง ที่ว่าในช่วงวิกฤตโควิด การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้ากทม.จะทำตามมติคณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัล หรือ ความเห็นของ สตง. ในการพิจารณาทบทวนการจ่ายโบนัสสำหรับปีนี้ นั้นก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในสถานการณ์นี้

“ส่วนค่าตอบแทนกรณีพิเศษกรณีเสี่ยงภัยในการรับมือกับวิกฤตโควิดนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า เพราะในวิกฤตนี้ เจ้าหน้าที่หลายตำแหน่งที่ต้องทำงานหน้างานอย่างแข็งขันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดทั้งสองรอบ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข“ นายวรภพ กล่าว

วรภพ ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า แต่ค่าเสี่ยงภัยโควิด ไม่ควรจะนำมาพิจารณาแบบ “หารยาว” ทั้งองค์กร ตามข่าวที่ ผู้ว่า กทม. อนุมัติงบกลางมาเยียวยา ข้าราชการ กทม. รายละ 12,000 บาท เพราะมันจะไม่ยุติธรรมและไม่ได้สะท้อนถึงความเสี่ยงภัยในการรับมือกับโควิดของข้าราชการในแต่ละตำแหน่งที่แตกต่างกัน เพราะบางตำแหน่งที่ทำงานด่านหน้าอย่างหนัก ควรที่จะได้รับค่าตอบแทนพิเศษมากกว่า 12,000 บาทด้วยซ้ำ และทำให้ประชาชนมองว่ามันคือ ความตั้งใจของ กทม. ที่จะเลี่ยงคำจาก “โบนัส” ไปเป็น “ค่าเสี่ยงภัย” แทน และยิ่งในวิกฤตนี้ที่ ประชาชนเองได้เยียวยามาตรการล่าสุด อย่าง “เราชนะ” ก็เพียง 7,000 บาท หรือ มาตรการสำหรับพนักงานประจำที่มีเงินเดือน อย่าง “เรารักกัน” ก็ได้เพียง 4,000 บาท ดังนั้นการเยียวยาข้าราชการถ้วนหน้า 12,000 บาท จะยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก

ถ้า กทม. มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร โดยเร็ว ผมมั่นใจว่า จะมีการทักท้วงต่อมาตรการนี้ และทำให้มีการประเมินค่าเสี่ยงภัยให้ยุติธรรมมากยิ่งขึ้น สุดท้ายการอนุมัติโบนัสหรือมาตรการเยียวยาค่าเสี่ยงภัยนี้ ก็จะได้รับการยอมรับจากประชาชนมากที่สุด อย่างน้อยน่าจะได้รับการยอมรับมากกว่า ผู้ว่าฯ ที่มาจาก ม.44 แน่นอน. วรภพ กล่าวทิ้งท้าย