ผบ.ทสส. สั่งแจงปม “หมอทหาร” หลอกขายวัคซีน หลังเอกสารหลุดว่อน

วันที่ 2 มีนาคม 2564 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่เอกสารกองทัพในช่วงเดือนเมษายน 2563 ส่งถึงเลขาธิการแพทยสภาให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์ทหารไปปฏิบัติหน้าที่ยังกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย/เซาท์ซูดานเรียกเก็บเงินทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นค่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในช่วงประมาณต้นปี 2563 เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา แพทย์ทหารจากกองทัพบกที่เดินทางไปกับกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทยในเซาท์ซูดาน ไปดำเนินการฉีดวัคซีนให้กำลังพลโดยพลการ ซึ่งการฉีดวัคซีนดังกล่าวก็มีการเก็บเงินจากกำลังพลประมาณ 20 ดอลล่าร์ต่อคน รวมประมาณ 5 พันดอลล่าร์

ผบ.ทสส. สั่งแจงปม "หมอทหาร" หลอกขายวัคซีน ทหารช่างไทยในเซาท์ซูดาน ช่วงโควิดระบาด

ผบ.ทสส. สั่งแจงปม “หมอทหาร” หลอกขายวัคซีน ทหารช่างไทยในเซาท์ซูดาน ช่วงโควิดระบาด

หลังจากนั้น ก็มีการร้องเรียนจากกำลังพลที่กองร้อยทหารช่างฯ ต่อผู้บังคับกองร้อยให้ดำเนินการตรวจสอบ ทางผู้บังคับกองร้อยฯ ก็ให้ดำเนินการสอบสวน และแจ้งผลกลับมาทางกองบัญชาการกองทัพไทยในฐานะที่เป็นส่วนอำนวยการซึ่งเราได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการเข้าไปเพื่อประสานระหว่างกองกำลังกับส่วนของยูเอ็น ทางกองทัพไทยจึงได้แจ้งเรื่องไปยังกองทัพบก

พล.อ.เฉลิมพล กล่าวอีกว่า โดยขณะนั้นผู้แทนสายงานแพทย์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทราบเรื่องด้วย จึงบอกว่าการดำเนินการฉีดวัคซีนจะไปทำโดยพลการไม่ได้ เพราะการดูแลกำลังพลต้องเป็นไปตามมาตรฐาน กองทัพไทยต้องพิจารณาจัดการด้วย จึงได้มีการสอบสวนต่อ และพบว่ามีการกระทำจริง จึงให้ส่งตัวนายแพทย์ดังกล่าวกลับมาที่ไทย ทางกองทัพไทยก็แจ้งเรื่องให้กองทัพบกสอบสวนเพราะต้นสังกัดอยู่กองทัพบก

พล.อ.เฉลิมพล กล่าวต่อว่า ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวขาดราชการ และไม่มาทำงานเลย แต่กลับไปร้องเรียนในหลายที่ หลายองค์กร รวมถึงบิดาของแพทย์คนดังกล่าวร้องเรียนด้วย เข้าใจว่าทาง ทบ.ได้ดำเนินการปลดออกจากราชการแล้ว รวมถึงดำเนินการในการยื่นข้อมูลต่อแพทยสภาให้พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาเวชกรรม ในเบื้องต้นกำลังพลที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ไม่มีใครได้รับอันตรายใด ๆ แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องดูจากรายละเอียดที่จากกองทัพบกสอบสวน

“ในวันนี้ ผมได้ให้ทีมโฆษกและศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ กรมยุทธการทหาร ไปรวบรวมข้อมูล และมารายงานผมก่อนแถลงให้รับทราบ และยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อกองทัพไทย เพราะหากพิจารณาผลงานของกองร้อยทหารช่างเซาท์ซูดานผลัดที่ 1 ถือว่าทำผลงานมาดีและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย และกองทัพไทย เชื่อว่าทางยูเอ็นจะเข้าใจเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับภาพรวม และที่ผ่านมา กองทัพไทย ได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการกับแพทย์คนดังกล่าวให้กับยูเอ็นทราบมาโดยตลอด” ผบ.ทสส. กล่าว

ก่อนหน้านี้ ที่เอกสารดังกล่าวจะถูกโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีการนำเสนอถึงรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ประจำประเทศอังกฤษ ที่ชื่อว่า THE UNSPOKEN COVID-19 VACCINE CHALLENGES – DISTRIBUTION AND CORRUPTION หรือแปลเป็นไทยว่า ความท้าทายของวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่เคยถูกพูดถึง กับปัญหาเรื่องการแจกจ่ายและการทุจริตให้สาธารณชนได้รับทราบ

ในที่สุดสำนักข่าวแห่งหนึ่งได้ตรวจสอบ และพบข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า เป็นเรื่องราวของนายทหารรายหนึ่ง ที่ถูกส่งตัวไปปฏิบัติหน้าที่โรงพยาบาลสนามในเซาท์ซูดาน ช่วงเดือนธ.ค. 2562-ธ.ค.2563 ที่ผ่านมาก่อนที่นายทหารรายนี้ จะถูกสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่และจบภารกิจ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงทางวินัยในคดีฉ้อโกงหลอกลวง