หาได้ยาก! ภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์ แตกจากหิ้งน้ำแข็ง ในแอนตาร์กติกา

หิ้งน้ำแข็ง คือ ก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์ที่แผ่ขยายตัวออกมาจากแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่บนพื้นทวีปลงมาอยู่ในทะเลอีกที หิ้งน้ำแข็งจะพบได้ตามชายฝั่งทะเลบริเวณขั้วโลกที่มีชั้นน้ำแข็งปกคลุม โดยมีทวีปแอนตาร์กติกเป็นแหล่งใหญ่

รอยแยกที่เกิดขึ้นนั้นห่างจากสถานีวิจัยของอังกฤษเพียง 20 กม. แต่ขณะนี้ไม่มีใครอาศัยอยู่ในสถานีวิจัยดังกล่าว จึงไม่เกิดความเสี่ยงหรืออันตรายต่อชีวิต เนื่องจากทีมงานทั้ง 12 ชีวิตได้เดินทางออกจากสถานี เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ภูเขาน้ำแข็งแผ่นนี้ได้แตกและค่อย ๆ แยกออกมากขึ้นจากหิ้งน้ำแข็งบรันท์ ทางตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ภูเขาน้ำแข็งที่กำลังแตกออกนั้นมีความหนากว่า 150 เมตร บนพื้นที่กว่า 1,270 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเกือบเท่ามหานครลอนดอน ของสหราชอาณาจักร ที่มีขนาด 1,500 ตารางกิโลเมตรและใหญ่กว่าขนาดของเมืองแมนฮัตตัน ในกรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกามากกว่า 20 เท่า และในอนาคตมันอาจถูกตั้งชื่อว่า A74 ตามขนาดอันมโหฬารของมัน

ทั้งนี้สถานีวิจัยของอังกฤษ (BAS) ได้ถูกลดบทบาทลงตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากความกังวลที่ว่าภูเขาน้ำแข็งอาจแตกออกในไม่ช้า หลังจากที่สามารถถ่ายภาพรอยแตกขนาดใหญ่ที่หิ้งน้ำแข็งบรันท์ของแอนตาร์กติกา ด้านรอยแตกขนาดใหญ่ในส่วนนี้ถูกค้นพบเมื่อ 10 ปี ก่อน BAS จึงได้เฝ้าติดตามกรณีที่เกิดขึ้น และรายงานสถานการ์ต่าง ๆ กลับไปยังสำนักงานใหญ่ของหน่วยงานในเคมบริดจ์

แอเดรียน ลัคแมน นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษและศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยา ของมหาวิทยาลัยสวอนซีในเวลส์ได้ตรวจสอบภาพความรุนแรงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าเมื่อใดที่น้ำแข็งก้อนใหญ่อาจแตกออกจากธารน้ำแข็ง “แม้ว่าการแตกออกของหิ้งน้ำแข็งนั้นเป็นเรื่องที่ปกติ แต่เหตุการณ์การแตกออกที่มีพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก และน่าตื่นเต้น”

ลัคแมนยังกล่าวว่าเวลาจะเป็นตัวกำหนดว่าหิ้งน้ำแข็งนี้จะแตกและแยกออกมาในไม่กี่วันหรืออีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตามการแตกออกของหิ้งน้ำแข็งนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเมื่อหิ้งน้ำแข็งผ่านฤดูหนาวและมีหิมะทับถมเป็นเวลานาน แผ่นน้ำแข็งจะเกิดการแยกตัวออกเอง เพื่อรักษาน้ำหนักและความสมดุลของหิ้งน้ำแข็งให้เหมาะสม ซึ่งการแตกตัวออกนั้นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งนั่นเอง

ที่มา : bbc / theguardian