กรมอุทยานฯ-สธ.โต้สื่อนอก ยันไม่พบโควิด-19 จากสัตว์ในตลาดนัดจตุจักร

สืบเนื่องจากรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศที่กล่าวถึงผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ออกมาตั้งข้อสงสัยว่า ตลาดนัดจตุจักรในกรุงเทพฯ ประเทศไทย อาจเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แทนที่จะเป็นตลาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนนั้น ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตอบโต้ข้อสังเกตนี้ทันที ว่าไม่เป็นความจริง

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค สธ.ให้สัมภาษณ์กรณีสำนักข่างต่างประเทศเผยแพร่ข่าวว่า ตลาดจตุจักรอาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ก่อนตลาดในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า กรมควบคุมโรคขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง ทั้งนี้การระบาดของโรคโควิด-19 มีข้อสงสัยว่าอาจจะข้ามมาจากสัตว์ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามาจากสัตว์ชนิดใด และมีการลงพื้นที่ตรวจสอบหาเชื้อโควิด-19 ในจีน ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเช่นกัน จึงอาจทำให้มีการมองหาประเทศอื่นๆ ที่มีชายแดนติดจีน เป็นการพูดแบบกว้างๆ โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมายืนยัน

“สำหรับ ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโดยมีนักวิจัยที่เก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎมาตรวจสอบเพื่อหาเชื้อโควิด-19 โดยร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืช ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ ก็ศึกษาค้าวคาวในเมืองไทยต่อเนื่องมา 20 ปี ว่า โอกาสที่จะมีโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนหรือไม่ ทั้งนี้ สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา มีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์ก่อโรคเฉพาะในสัตว์โดยไม่แพร่สู่คน เช่น เชื้อไวรัสโคโรนาในสุนัขและแมว ก็พบในสัตว์อื่นเช่น ค้าวคาว แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเชื้อโควิด-19 ที่มีการระบาดในขณะนี้มาจากสัตว์ชนิด” นพ.เฉวตสรร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ผลการวิจัยที่พบว่ารหัสพันธุกรรมของค้าวคาวมงกุฎมีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ถึงร้อยละ 91.5 นั้น แต่ไม่ติด่อระหว่างค้างคาวสู่คน ทั้งนี้ ขอแนะนำว่า ประชาชน ไม่ควรรับประทานสัตว์ป่าโดยเฉพาะค้าวคาว และไม่ควรล่าสัตว์ ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคยังได้รว่มมือกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน มีการเฝ้าระวังตลาดค้าสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง เช่น ตลาดจตุจักร ตลาดในเขตมีนบุรี และพุทธมณฑล เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

“ไทยมีการเฝ้าระวังโรคจากสัตว์สู่คน อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยมีการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนในไทย เช่น โรคซาร์ โรคเมอร์ เป็นบทเรียนให้เราเฝ้าระวังเรื่องสัตว์ป่า ถ้ามีโรคใหม่ๆ ระบาดจะมีสัญญาณบอกเหตุที่ผิดสังเกต เช่น ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ไทยก็ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ใดๆ หรือพบผู้ป่วย ที่เป็นกลุ่มก้อนผิดสังเกตก่อนการระบาดในอู่ฮั่น เช่น อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวม มากผิดปกติแบบไม่ทราบสาเหตุ จึงเป็นความมั่นใจของกรมควบคุมโรคว่า ไทยไม่ใช่แหล่งกำเนิดโรคโควิด-19” นพ.เฉวตสรร กล่าว

เช่นเดียวกับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจง กรณีสื่อต่างประเทศรายงานข่าวตลาดนัดจตุจักรอาจเป็นต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนอู่ฮั่น โดยระบุว่า กรณีสื่อต่างประเทศ โดยสำนักข่าว โพลิทิเคน ของเดนมาร์ก เสนอรายงานข่าวระบุว่า ตลาดค้าสัตว์ในสวนจตุจักร กทม. อาจเป็นสถานที่ต้นกำเนิดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่นของจีน และทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยอ้างข้อมูลจากเธีย เคิลเซน ฟีสเชอร์ แพทย์ชาวเดนมาร์ก ซึ่งทำงานกับองค์การอนามัยโลก และยังมีรายงานการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ในค้างคาวบางสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ขณะที่สำนักข่าวสปุตนิก (Sputnik) ของรัสเซีย เคยอ้างผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Nature Communications) เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกพบในเลือดของค้างคาวเกือกม้า 5 ตัว ที่อาศัยอยู่ในถ้ำจำลองของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่ง ทางตะวันออกของไทย ซึ่งคณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าเลือดของค้างคาวฝูงนี้ มีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงถึงร้อยละ 91.5

กรมอุทยานฯ ขอชี้แจงว่า ได้ดำเนินการสำรวจสัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักร และเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่ม เช่น สัตว์กลุ่มกระรอก กลุ่มแมว กลุ่มสุนัข กลุ่มหนู กระต่าย และสัตว์ต่างประเทศ เช่น ลิงมาโมเสท เม่นแคระ เมียร์แคท ชูการ์ไกลเดอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ปรากฏว่า ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่า ในสัตว์ที่มีการค้าขายในตลาดจตุจักร ดังนั้น ข้อมูลที่กล่าวว่าไทยอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (SARS-CoV-2) นั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ทั้งนี้สัตว์ที่มีการค้าในตลาดจตุจักรเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตให้มีการเพาะพันธุ์และค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสัตว์ต่างประเทศที่มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย โดยมีชุดปฏิบัติการ 1362 ของกรมอุทยานฯ เข้าตรวจตรา ป้องกันการกระทำผิด รวมทั้งให้คำแนะนำในเรื่องความปลอดภัยและการป้องกันโรคจากสัตว์ป่าสู่คนอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นตามข่าวที่อ้างว่าพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวเกือกม้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางตะวันออกของประเทศไทยนั้น ขอเรียนชี้แจงว่า ในเดือนมิ.ย.2563 คณะนักวิจัยของไทย ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงพื้นที่สำรวจกลุ่มค้างคาวมงกุฎ (หรือค้างคาวเกือกม้าที่กล่าวถึงในข่าว) ในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ ดำเนินการเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด เพื่อทำการตรวจหาไวรัสโคโรน่า 2019 โดยความร่วมมือทางวิชาการกับโปรแกรมการศึกษาและวิจัยโรคอุบัติใหม่ มหาวิทยาลัย Duke-NUS พบว่าไวรัสที่ตรวจพบในค้างคาวมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไวรัสโคโรน่า 2019 เพียง 91% ซึ่งไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้

นอกจากนั้นกรมอุทยานฯ ยังได้ดำเนินการเชิงรุกโดยมีการสำรวจเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในค้างคาว และลิ่น ในธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้งดการล่า ค้า รวมทั้งบริโภคสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน