แพทย์รับได้ วัคซีนโควิดจาก “ซิโนแวค” แม้ไร้ตีพิมพ์วิจัยในวารสารการแพทย์-ประสิทธิภาพแค่ 50%

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ชนิดต่างๆ ในวันเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ส่งถึงประเทศไทยแล้วรวม 317,000 โดส

โดยนายแพทย์ธีระวัฒน์ ระบุว่า

วัคซีนนั้น… เราก็เลือกได้

ข้อมูลต่างๆของวัคซีนขณะนี้ออกมาแล้วและทำให้ทราบถึงกระบวนการ เทคโนโลยีในการทำและผลิต และผลในการใช้และได้ผลหรือไม่กับไวรัสที่ผิดเพี้ยนออกไปกลายเป็นกลุ่มวาเรียนท์ (variant)

ความต้องการที่เรียกร้องข้อมูลที่ต้องโปร่งใสและมีการเปิดเผยตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ ของผลการศึกษาระยะที่ 3 ขณะนี้ (ต้นกุมภาพันธ์) อย่างน้อยมีวัคซีนสี่ยี่ห้อด้วยกัน
ได้แก่ ของไฟเซอร์ ไบโอเอ็น เทค. โมเดอนา. แอสตร้าเซเนกา. และของรัสเซียสปุ๊ตนิค

สำหรับวัคซีนของจีนแม้ว่าจะยังไม่เห็นรายละเอียดก็ตามทั้งนี้เนื่องจากการทดสอบวัคซีน ชิโนแวค ในประเทศจีนทำไม่ได้ เนื่องจากประเทศจีนควบคุมโรคได้สำเร็จ จึงต้องไปทำที่ประเทศอื่นๆและได้มีการรายงานรายละเอียดไปยังองค์การอนามัยโลกทั้งก่อนและระหว่างทำ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และแม้ว่าผลในบราซิลจะออกมาประมาณ 50 กว่า% แต่เป็นสถานการณ์ในโลกความเป็นจริงในกลุ่มวัย อายุ โรคประจำตัวและความเสี่ยงในระดับสูงต่ำที่ต่างกัน

แต่เท่าที่ทราบยังบอกไม่ได้ว่าสามารถป้องกันกลุ่มผิดเพี้ยนเช่นในเขตอเมซอนของบราซิลที่กลับมีการระบาดหนักและเสียชีวิตในตั้งแต่เดือนธันวาคมต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงเดือนมกราคมปีนี้

ทั้งๆที่เคยมีการระบาดอย่างหนักหน่วงในช่วงปีที่แล้วและสงบมาตลอดครึ่งปี และมีภูมิคุ้มกันหมู่ถึง 76% ของประชากร

ส่วนของ novavax ที่ได้รายงานการศึกษาในระยะ 2 บี (2b) ในแอฟริกาใต้ ได้ผลในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเบา ปานกลางหรือหนักประมาณ 60% แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าดีใจด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาตั้งแต่เดือนกันยายนจนกระทั่งถึงเดือนมกราคมนั้นไปเจอกับ south african escape mutant เชื้อไวรัสกลุ่มผิดเพี้ยนของแอฟริกาใต้ triple mutant variant ที่ ตำแหน่งสำคัญในส่วนของreceptor binding domain (RBD) และในอีกหลายตำแหน่งนอก RBD

ทางบริษัทขณะนี้กำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองสำหรับกระตุ้นและ/หรือควบรวมเข้ากับวัคซีนในรุ่นแรกเพื่อที่จะครอบคลุมกลุ่มผิดเพี้ยนใหม่นี้ และจะมีการศึกษาเพิ่มเติมตั้งแต่เดือนเมษายน

อิสราเอล ประชากร 9 ล้านกว่าคนและได้รับวัคซีนไฟเซอร์ มากเกือบทั่วประเทศ และรายงานการติดตามตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันว่าจะลดลงหรือไม่ ที่จะแสดงว่ายับยั้งการระบาด จนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ดูว่าตัวเลขยังไม่นิ่งที่จะสามารถบอกได้ว่ายับยั้งการระบาดได้หรือไม่

แต่ที่มีรายงานตามลำดับมาพบว่าวัคซีนไฟเซอร์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลงอย่างมากเมื่อเจอกับกลุ่มวาเรียนท์แอฟริกาใต้ E484K และลดลงระดับหนึ่งกับของอังกฤษ B1.1.7

คำถามถึงความปลอดภัยของวัคซีน ขึ้นอยู่กับกระบวนการและเทคนิคในการทำ ซึ่งเคยได้รับทราบกันมาแต่ก่อน เช่นเทคนิคโบราณเชื้อตาย (ของจีน) หรือฝากใส่กับไวรัสอื่นที่ไม่อันตราย (แอสตร้าเซเนก้า รัสเชีย สปุ๊ตนิค) หรือออกมาเป็นโปรตีนเฉพาะหรือส่วนย่อยของโปรตีน เช่นของ โนวาแวกซ์ (novavax) ทำโปรตีนในระบบแมลง moth cell baculovirus (insect cell system) และสอดใส่ในอนุภาคนาโน สำหรับของใบยา ทำในระบบใบพืชออกมาเป็นโปรตีนเช่นกัน
ในส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ไบโอเอ็นเทค เป็นกระบวนการใหม่

การรายงานถึงความปลอดภัยถึงแม้ดูว่าตัวเลขจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณที่ฉีดไปแต่ทำให้สามารถระบุได้ว่ากลุ่มคนที่สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปนั้น ควรที่จะต้องเลือกวัคซีนที่เป็นเชื้อตาย หรือที่ออกมาเป็นโปรตีนหรือส่วนย่อยของโปรตีนมากกว่า

การติดตามผลแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนนั้น ควรต้องเป็นตัวเลขตรงและสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใด หลังฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุใด เพศ และมีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่

รวมกระทั่งถึงมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิคุ้มกันแปรปรวน และสามารถระบุล็อตของวัคซีนที่ใช้

ในขณะเดียวกันต้องไม่สรุปทันที ว่าเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนนั้นๆ เพราะระบบรายงานของวัคซีนที่ดีจะต้องมีข้อกำหนดมาตรฐานและระบบการเตือนความปลอดภัยอย่างเข้มงวด

 

วัคซีนนั้น… เราก็เลือกได้
(ข้อมูลเผยแพร่ 5 กุมภาพันธ์ 2564)

Read Time:3 Minute, 4 Second

วัคซีนนั้น……

โพสต์โดย ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เมื่อ วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2021