ศาลยกคำร้องประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ครั้งที่ 3 แม้ ‘ชาญวิทย์-พนัส’ มายื่นเอง อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

“ชาญวิทย์-พนัส” ยื่นประกัน 4 แกนนำราษฎร ยันข้อปฏิรูปสถาบันฯ ถูกต้องตามหลักวิชาการประวัติศาสตร์ ยื่นประกันตัว ตามหลักนิติศาสตร์

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เดินทางมายื่นประกันตัว นายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 1-4 แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ซึ่งถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัวจากคำสั่งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ หลังถูกยื่นฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม ป.อาญา ม.112, ยุยงปลุกปั่นฯ ม.116 และข้อหาอื่นๆ

นายกฤษฎางค์ ให้สัมภาษณ์ว่า คณะทนายความขอให้อาจารย์ทั้ง 2 ท่านมาเป็นนายประกัน เพื่อขอปล่อยชั่วคราว หลังจากเรายื่นแล้วหลายครั้ง เหตุที่รบกวนอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน เราก็เกรงใจ อาจารย์เห็นว่าการปล่อยชั่วคราวเป็นประโยชน์ เป็นสิทธิที่พึงได้รับการพิจารณา เป็นการรักษาไว้ซึ่งหลักการตามรัฐธรรมนูญ และกฎบัตรที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ คนจะเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุด น่าจะให้โอกาสพวกเขาได้ออกมาต่อสู้

ด้านนายชาญวิทย์ กล่าวว่า ตนกับอาจารย์พนัส เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก เรียนหนังสือด้วยกัน เรามีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิด ในแง่วิชาความรู้ที่เราเรียนมา เราสอนคนต้องการยืนยันหลักวิชาการ อย่างอาจารย์พนัส ระบุถึงหลักนิติศาสตร์สากลควรเป็นอย่างไรในแง่คดีความ

ส่วนของตนใช้หลักประวัติศาสตร์สากล ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนเชื่อว่าสิ่งที่คนทั้ง 4 กำลังทำอยู่ และคนรุ่นใหม่กำลังทำอยู่ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์สากลของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั่วโลกที่ยังคงอยู่เป็นจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ

นายชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สถาบันกษัตริย์ที่มั่นคง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ยกตัวอย่างที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก คือสหราชอาณาจักรอังกฤษ สถาบันกษัตริย์ของอังกฤษนั้นก็ได้ปฏิรูปมาจนกระทั่งมั่นคงอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างที่ใกล้เราที่สุดก็คือญี่ปุ่น สถาบันจักรพรรดินั้น หลังจากถูกใช้อ้างอิง ใช้โหนโดยฝ่ายรัฐบาล รัฐทหารของญี่ปุ่น กระทั่งเข้าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องแพ้สงครามด้วยการโดนระเบิดปรมาณู 2 ลูก สถาบันพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นปัจจุบัน คือสถาบันที่ได้รับการปฏิรูปไปแล้ว

“ดังนั้น ผมเชื่อว่าข้อเสนอของเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่รวมทั้ง 4 ท่านที่เรากำลังพูดถึง คือข้อเสนอซึ่งถูกต้องตามหลักวิชาการประวัติศาสตร์ ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ของสถาบันกษัตริย์ระดับสากล เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องพูดว่าทั้ง อาจารย์พนัส และผม ยินดีมากที่จะเป็นคนที่ช่วยผลักดันในเรื่องนี้” นายชาญวิทย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสเรียกร้องให้อาจารย์ออกมานำการชุมนุม นายชาญวิทย์ กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้หรอก ตนอายุ 80 แล้ว อาจารย์พนัส ก็เหมือนกัน เราเป็นคนรุ่นสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะฉะนั้นโดยอายุอานามเราแก่เกินไปแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือการเอาหลักวิชาการ เอาประสบการณ์ของตัวเองออกมาช่วยชี้แนะ ไม่ใช่พ่อยกนะ ตนก็ชอบดูทราย เจริญปุระ แม่ยกแห่งชาติ เพราะนอกจากจะเก่ง กล้าหาญ แล้วยังสวยอีกต่างหาก แต่เราเล่นบทนั้นไม่ได้ อย่างดีเราก็เป็นผู้ให้กำลังใจ

“ผมคิดว่าคนรุ่นที่กำลังจะหมดอายุขัยไปแล้ว ตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ คนเดือนตุลา แน่นอนบางคนอาจจะยังมีกำลังกาย กำลังใจแข็งแรง ทำงานได้อยู่ แต่ว่าส่วนใหญ่จะหมดรุ่นของตัวเองไปแล้ว ดีที่สุดก็คือสนับสนุนให้กำลังใจ เอาประสบการณ์ของเราเองมาบอกเขาว่าทำได้ไหม อาจารย์ป๋วย (อึ๊งภากรณ์) บอกว่าอย่าเป็นไทยมุง อย่าเป็นไทยเฉย จำได้ไหม อาจารย์ป๋วย บอกว่าการต่อสู้จะได้ประชาธิปไตยต้องสันติประชาธรรม” นายชาญวิทย์ กล่าว

เมื่อถามต่อไปว่าอาจารย์ยังดูแข็งแรง อายุอาจไม่น่าใช่อุปสรรค จะมีโอกาสขึ้นเวทีสนับสนุนหรือไม่ นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ดูแข็งแรงเป็นภาพลวงตา เป็นคำชมที่ตนก็ชอบใจเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วสุขภาพไม่อำนวย ไปไหนมาไหนก็ยาก ขับรถเองก็ลำบาก

นายกฤษฎางค์ กล่าวเสริมว่า ที่อาจารย์มาเป็นนายประกันเป็นคนละเรื่องกับความคิดเห็นทางการเมือง อาจารย์ต้องการให้สังคมเห็นว่า ระบบยุติธรรมถ้าจะคงอยู่เพื่อจรรโลงให้ประเทศชาติเป็นระบบระเบียบ ต้องว่ากันตามสิทธิเสรีภาพ ถ้าเขาผิดเมื่อขึ้นศาลก็ต้องผิด แต่การปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ถ้าไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีก็ต้องติดคุกไปตลอด 3 ปี ระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งไม่เป็นธรรม เท่ากับสันนิษฐานไปก่อนว่าเป็นความผิด ในฐานะเป็นทนายความก็อาจไม่เห็นชอบกับสิ่งที่เขาทำ แต่โดยหลักวิชาชีพนักกฎหมาย หรือความเป็นอาจารย์ เราให้โอกาสเด็กออกมาต่อสู้คดี ไม่เกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ

ส่วนอาจารย์พนัส เปิดเผยว่า ตามหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยมีสิทธิทางกฎหมายในการขอปล่อยชั่วคราว ตามหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่วนความหวังว่าจะได้ประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ในฐานะที่ตนเป็นนักกฎหมาย เขาควรได้รับการประกันตัว เชื่อว่าไม่หลบหนีไปไหน และพยานหลักฐานก็ไม่ซับซ้อน เป็นอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการเมืองตนไม่มีความเห็น คนเรามีอุดมการณ์สำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม เวลา 15.15 น. ทวิตเตอร์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานการยื่นขอประกันตัว ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎรเป็นครั้งที่ 3 เห็นว่าศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตโดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าว ลงนามโดยชนาธิป เหมือนพะวงศ์ 1 ใน 2 ผู้พิพากษาที่เป็นที่รู้จักในคดีอากง SMS ซึ่งตัดสินให้จำคุก อำพล ตั้งนพกุล อายุ 63 ปี หรือที่รู้จักในข่าวขณะนั้นว่า “อากง” เป็นเวลา 20 ปี ในความผิดมาตรา 112 จากคดีส่ง SMS ให้เลขานุการของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่แล้ว อำพล ได้เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ด้วยวัย 64 ปี