ขอบคุณข้อมูลจาก | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
จากกรณีที่นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาเปิดเผยว่า จากการที่คณะทำงาน แก้ไขปัญหากรณีบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ตั้งขึ้น ลงพื้นที่ทำงานหาข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ช่วง 2-3 วันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจสอบพื้นที่จากทางอากาศและได้บันทึกภาพไว้
เมื่อนำมาประเมินเบื้องต้นพบว่า มีการบุกรุกป่าในบริเวณ บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวกันแล้วระหว่าง ตัวแทนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอย และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย แต่กลายเป็นว่ากลุ่มคนบางคนใช้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไปเป็นใบเบิกทาง ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมและไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง
ล่าสุด ช่วงค่ำวันเดียวกัน (21 กุมภาพันธ์) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยแพร่แถลงการณ์กลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย เรื่อง วิกฤตผลิตซ้ำมายาคติกะเหรี่ยงทำลายป่า รัฐเตรียมฝ่าฝืนข้อตกลง
แถลงการณ์ระบุว่า ภายหลังกลุ่มประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #SAVEบางกลอย ปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนเกิดเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, ผู้แทนภาคี #SAVEบางกลอย และผู้แทนชุมชนบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เริ่มมีแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนเป็นที่น่าพอใจ และดูเหมือนปัญหาที่เรื้อรังฝังลึกถึง 25 ปีจะเริ่มคลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังลงพื้นที่แสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยสันติ ระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ.
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลับนำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยกลุ่มอนุรักษ์ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และได้มีการนำภาพพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชาวบ้านไปบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด ผลิตซ้ำมายาคติกดทับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ด้วยวาทกรรม “บุกรุกป่า เผาป่า และทำไร่เลื่อนลอย”
ทั้งที่ข้อเท็จริง ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะจากการนำเสนอของสื่อมวลชนบางฉบับนั้นคือภาพพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของบรรพบุรุษก่อนการถูกกดดันอพยพลงมาในปี 2554 สามารถพิสูจน์ได้จากการอ่านภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง
ดังนั้น การนำเสนอภาพข่าวจึงเป็นการจงใจบิดเบือนเพื่อทำให้ประชาชนมองคนไม่เท่ากัน ซึ่งจะนำไปสู่ข้ออ้างเหตุผลในการสนธิกำลังกันเข้าดำเนินการกับชาวบ้าน
เราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่ามีอย่างน้อย 2 ประเด็นหลักที่หน่วยงานรัฐและกลุ่มอนุรักษ์สุดโต่งพยายามใช้ในการทำลายความชอบธรรมชาวบ้าน เพื่อให้เกิดปฏิบัติการจับกุม ซึ่งเราขอชี้แจงในแต่ละประเด็น ดังนี้
1.ข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านได้ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม เราขอชี้แจงว่า ชาวบ้านไม่ได้ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม จากการสอบถามชาวบ้าน ย้ำว่า แปลงที่ดินทำกินแบบไร่หมุนเวียนแปลงสุดท้ายที่ถูกถางคือเมื่อวันที่ 12 ก.พ. เป็นเวลา 3 วัน ก่อนชาวบ้าน 10 คนจะไปปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งแปลงที่ทำกินทั้งหมดยังเป็นพื้นที่ “ไร่ซาก” ที่เป็นที่ทำกินของชุมชนมาก่อนถูกอพยพในปี 2539 และ 2554
2.ข้อกล่าวหาว่าชาวบ้านเผาป่า แท้ที่จริงแล้วเป็นการเผากำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นวิถีการทำเกษตรดั้งเดิม ไม่ได้สร้างมลภาวะหรือเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้น ดังที่มีงานทางวิชาการหลายด้านรองรับแล้ว ซึ่งหลังจากผ่านการแผ้วถางมาแล้วกว่า 1 เดือน ไม้ในไร่หมุนเวียนในแห้งแล้วจึงได้เวลาที่ต้องเผา หากรอนานกว่านี้ ฝนอาจจะตก และทำให้ไม่สามารถทำกินได้เลยตลอดทั้งปี
เรายืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงทุกข้อตามที่เจรจากับรัฐบาลจนได้ข้อยุติ ในขณะที่รัฐพยายามอ้างข้อกฎหมาย ชาวบ้านกำลังยืนหยัดอยู่ในกฎกติกาแห่งจารีตของบรรพชน กฎหมายที่มาทีหลัง ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะบังคับใช้ในพื้นที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน โดยเฉพาะหากจะนำมาบังคับใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชน
รัฐต้องยุติการดำเนินการอันจะนำไปสู่การจับกุม ดำเนินคดี และใช้ความรุนแรงทั้งหมด ตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันแล้ว เพื่อเปิดทางให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและไม่เกิดการสูญเสียอีก
และหากเกิดการดำเนินการใดๆ ขึ้นกับชาวบ้าน ภาคี #SAVEบางกลอย พร้อมที่จะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง และยกระดับกดดันมากกว่าเดิม เพราะเราไม่ได้ฝ่าฝืน รัฐบาลต่างหากที่ฝ่าฝืนข้อตกลง
คนต้องเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คือคน
ขอกลับใจแผ่นดิน ยอมตายหากถูกไล่ลงมาอีก
ขณะที่ นายพชร คำชำนาญ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า เมื่อตอนที่ไปชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้มีบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่คุกคามชาวบ้านและถอนกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานและชุดพญาเสือออกจากพื้นที่หมู่บ้านบางกลอย ทำให้ชาวบ้านเบาใจได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่พวกตนเดินทางมาลงพื้นที่และประชุมร่วมกับหลายฝ่ายตั้งแต่ 19 กุมภาพันธ์จนถึงวันนี้
ปรากฏว่ามีคนที่ไม่ได้เป็นคณะทำงานรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมประชุมด้วย และได้มีการคะยั้นคะยอให้พวกตนขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปบินดูพื้นที่ในแผ่นดินซึ่งชาวบ้านอพยพกลับไปอยู่และได้มีการถางไร่ซากเดิมไปแล้วหลายแปลง และล่าสุดได้มีไร่หมุนเวียน 2 แปลงที่เผาแล้ว ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวได้ถ่ายภาพและพยายามให้ข่าวโจมตีชาวบ้าน โดยบางคนได้ร้องเรียนกกระทรวง ทส.เพื่อให้จับกุมชาวบ้าน พร้อมกับข่มขู่ว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการอาจมีความผิดตามมาตรา 157 ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
“ ที่เขาพยายามบอกว่าชาวบ้านขยายพื้นที่ไร่หมุนเวียนเเพิ่มนั้น จริงๆ ไม่ได้เพิ่ม ชาวบ้านถางไร่ก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ก่อนไปร่วมชุมนุมที่ทำเนียบเสียอีก ส่วนการเผาไร่ก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของวิถีการทำไร่หมุนเวียนซึ่งชาวบ้านได้จัดทำแนวกันไฟไว้หมดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงและอนุรักษ์สุดโต่งพากันไปร้องเรียนไปที่ปลัด ทส. เรารู้สึกว่าชาวบ้านไม่ได้ทำผิดกฎกติกาใดๆเลย เมื่อคุณบอกให้เขาหยุดขยายพื้นที่ เขาก็หยุด แต่เจ้าหน้าที่กำลังผิดข้อตกลง เราทราบข่าวมาจากข้าราชการระดับสูงในกรมอุทยานฯรายหนึ่งว่า อุทยานฯกำลังสนธิเพื่อขึ้นไปดำเนินการกับชาวบ้านโดยอ้างภาพถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์”นายพชร กล่าว
นายพชร กล่าวว่า ในหลายวันที่ผ่านมาเราการทำงานร่วมกันเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะอยากให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่หากมีการสนธิกำลังเพื่อเล่นงานชาวบ้านเช่นนี้ทำให้ทำงานร่วมกันลำบาก และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้หรือไม่ ขณะนี้ทุกฝ่ายที่ติดตามการแก้ปัญหาของชาวบ้านบางกลอยกำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด หากรัฐเลือกใช้วิธีการรุนแรงคงทำงานร่วมกันลำบาก และกลุ่มเซฟบางกลอยก็จะต้องรวมตัวกันอีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อคืนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เวลาเที่ยงคืน นายหน่อแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ได้ให้หลานๆ 3-4 คนพาเดินทางขึ้นไปหมู่บ้านบางกลอยบนเพื่อสมทบกับชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปก่อนหน้านี้ โดยนายหน่อแอะ ซึ่งป่วยเป็นโรคเส้นประสาทอักเสบ ทำให้ขาทั้งสองข้างไม่มีแรง และเดินไม่ได้ต้องให้หลานๆผลัดกันแบกไป
ทั้งนี้ นายหน่อแอะ เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันหลายครั้งว่า ต้องการกลับไปอยู่บ้านพ่อ(ปู่คออี้)ที่หมู่บ้านบางกลอยใจแผ่นดินและจะไม่ยอมกลับลงมาอีกแล้ว หากถูกเจ้าหน้าที่บังคับก็พร้อมผูกคอตาย
วันเดียวกันผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เดินทางเข้าพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำข้าว 10 กระสอบ อาหาร น้ำ และเครื่องใช้ส่วนตัวอื่นๆ มอบให้ชุมชน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านบางกลอย
โดยนายธีรเนตร ไชยสกุล ผู้แทนสกต. กล่าวว่า ตนมาเป็นกำลังให้ชาวบ้านบางกลอย เพราะรู้ว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ที่ถูกผลักดันลงมาแล้วในปี 2539 และ 2554 แล้วก็กลับขึ้นไปใหม่เมื่อต้นปีนี้ แต่ว่าความเป็นอยู่ตอนนี้เรื่องการเพาะปลูกก็ไม่ดี และมีสถานการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่พยายามเข้ามาผลักดันชาวบ้านออกไปอีก ตนได้ติดตามข่าวทางโซเชียลมีเดียอยู่และกำลังจับตากันอยู่ จึงย้ำว่าเมื่อมีบันทึกข้อตกลงร่วมกับรัฐมนตรี ทส.และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วก็ควรปฏิบัติตามนั้น
“หน่วยงานที่เข้ามาโดยเฉพาะอุทยานฯ ต้องเข้ามาดู เขาอยู่ในพื้นที่มาแล้วเป็นร้อยๆ ปี ป่าก็ยังอยู่ได้ ถ้าให้เขาอยู่ไปอีก เขาก็รักษาไปอีก การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการด้วยความเข้าใจตรงนี้ อยากให้เจ้าหน้าที่ยึดหลักการเจรจาในการแก้ไขปัญหา ถ้าเจ้าหน้าที่ยึดแต่กฎหมาย มันจะอยู่กันไม่ได้ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็จะอยู่ลำบาก” ธีรเนตรย้ำ
ด้านนายสุชาติ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย กล่าวว่าตนรู้สึกดีใจมากที่พี่น้องเห็นความยากลำบาก ตนไม่เคยเห็นหน้าเขา แต่น้ำใจเขามีมากขนาดนี้ พูดอะไรไม่ออกนอกจากบอกว่าขอบคุณมากๆ ที่ผ่านมาชาวบ้านลำบากมากเรื่องการกิน เรื่องข้าว ไปทำงานข้างนอกไม่ได้
“อยู่ที่นี่งานไม่มี ปลูกข้าวก็ไม่ค่อยขึ้น ข้าวสารขาดแคลนมาก จะออกไปทำงานข้างนอกก็ไม่ได้จากสถานการณ์โควิด เรารู้สึกดีใจที่พี่น้องได้กลับขึ้นไปบางกลอยบน ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้เขากลับขึ้นไปแล้วอยู่ได้ ใช้ชีวิตวิถีวัฒนธรรมแบบเดิม ส่วนใหญ่ที่เขากลับขึ้นไปเพราะที่ทำกินไม่มี สภาพข้างบนตอนนี้กำลังร้อนจัด ยังไม่มีข้าวกิน กำลังรอทำไร่อยู่ปีนี้ ถ้าทำได้ก็จะมีข้าวกิน” นายสุชาติกล่าว