คาดปีนี้รถอีวี โต 188% | การบินไทยเปิดเออร์ลี่รอบ 2 จ่ายสูงสุด 400 วัน | ยืดลงเราชนะไร้สมาร์ตโฟน

แฟ้มข่าว

สนามบินเบตงเล็งเปิดบริการปลาย เม.ย.

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าของท่าอากาศยานนานาชาติเบตงว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้มีการประชุมหารือการสนับสนุนเปิดเส้นทางบิน ดอนเมือง-เบตง โดยสนามบินเบตงอยู่ในขั้นตอนการทดสอบระบบนำร่อนอากาศยาน คาดการณ์ว่าจะได้รับใบอนุญาต พร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ซึ่งระยะแรกจะเปิดให้บริการ ดอนเมือง-เบตง ไป-กลับรวม 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดยอยู่ระหว่างการหารือกับสายการบินนกแอร์ที่เสนอขอประกันที่นั่งผู้โดยสาร 75% หรือประมาณ 65 ที่นั่งในช่วง 6 เดือนแรกที่เปิดเส้นทางบิน จากนั้นขอประกันที่นั่งผู้โดยสาร 65% หรือประมาณ 52 ที่นั่ง รวมถึงเรื่องราคาตั๋วโดยสาร

นายพัลลภ จารุพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนวางแผนตารางการบิน และการโดยสาร สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า สายการบินอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาเปิดเส้นทางบินในท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เบื้องต้นคาดว่าหากจะทำการบิน อาจเปิดบินในเส้นทางหาดใหญ่-เบตง ไป-กลับรวม 6 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในราคา 2 พันบาทต่อเที่ยว ซึ่งจะเปิดบินได้ในช่วงปลายปี 2564 และศึกษาเส้นทางที่มีศักยภาพเพิ่มเติม คือ ภูเก็ต-เบตง

 

สั่ง “ยสท.” ถก อภ.ใช้กัญชาแทนยาสูบ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หารือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อดูว่าจะสามารถนำพืชใดมาปลูกทดแทนยาสูบได้หรือไม่ เช่น กัญชง กระท่อม โดยเฉพาะพืชกัญชาที่ขณะนี้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา โดยให้รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนไปขอปลูกเพื่อส่งให้องค์การเภสัชกรรมนำไปผลิตยารักษาโรค นอกจากนี้ ขอให้หารือกับบริษัทบุหรี่นอก และมหาวิทยาลัยในประเทศที่มีหน่วยวิจัยสมุนไพร ร่วมกันวิจัยพืชสมุนไพรในประเทศว่าพืชชนิดไหนมีศักยภาพที่จะดูแลรักษาปอดจากการสูบบุหรี่ เช่น ช่วยล้างปอดหรือลดสารนิโคตินในบุหรี่ เพื่อนำสารบำรุงปอดใส่ในมวนบุหรี่ รวมถึงได้แนะนำให้หารือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มีการวิจัยพืชสมุนไพรในประเทศ โดยมีพืชชนิดหนึ่งที่นำมาผสมยาสูบแล้วได้ผลในการชะลอโควิด-19 ด้วย แต่เรื่องนี้จะต้องวิจัยให้รอบคอบเสียก่อน

 

รถอีวีมาแล้วราคาต่ำล้าน คาดปีนี้โต 188%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปีนี้คาดว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี จะมีประมาณ 6,000 คัน เพิ่มขึ้น 188% เทียบกับปี 2563 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 2,079 คัน แนวโน้มอีวีขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเริ่มมีหลายค่ายรถนำรถอีวีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือ 1 ล้านบาทต้นๆ มาขายมากขึ้น อาทิ ค่ายเอ็มจี, นิสสัน ลีฟ และล่าสุดค่ายเกรท วอลล์ ประกาศเปิดตัวขายรถอีวีในไทย เป็นปัจจัยหลักในการเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น จากที่ผ่านมาราคารถอีวีค่อนข้างสูงประมาณคันละ 3-5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ชาร์จจิ้ง มีจำนวนมากขึ้น และมีการประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับปั๊มชาร์จ (ขายส่ง) ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทำปั๊มชาร์จไฟฟ้าแพร่หลายขึ้น ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนงบฯ ในการเปลี่ยนรถใหม่มาสู่รถไฟฟ้ามากขึ้น และให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในการใช้รถอีวี

 

ยืดลงทะเบียนเราชนะรุ่นไร้สมาร์ตโฟนถึง 5 มี.ค.

หลังจากเปิดลงทะเบียนเราชนะ สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ หรือกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ณ ที่ทำการสาขาของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดบริการเคลื่อนที่ตามแหล่งต่างๆ ของธนาคารกรุงไทย ได้เกิดปรากฏการณ์คนมารอลงทะเบียนที่สาขากรุงไทยแบบมืดฟ้ามัวดิน ไม่มีใครกลัวติดโควิด-19 กระทั่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงกลับเอ่ยปากว่าไม่รู้ข้อมูลคนกลุ่มนี้มาก่อนว่าจะมีมากขนาดไหน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้ทยอยเดินทางมาลงทะเบียนในวันหลังแล้วนั้น

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาปิดรับลงทะเบียนกลุ่มนี้ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ 5 มีนาคมนี้ โดยให้นำบัตรประชาชนสมาร์ตการ์ดมาใช้สำหรับการลงทะเบียน และเมื่อผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้วจะได้รับเงินเป็นรายสัปดาห์เข้าไปในบัตรประชาชน วงเงินรวม 7,000 บาท เพื่อใช้จ่ายสินค้าและบริการผ่านบัตรประชาชนด้วยการรูดบัตรกับเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม-31 พฤษภาคมนี้

 

การบินไทยเปิดเออร์ลี่รอบ 2 จ่ายสูงสุด 400 วัน

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า เดือนกุมภาพันธ์นี้การบินไทยได้ประกาศโครงสร้างองค์กร สิทธิประโยชน์และสวัสดิการใหม่ มีผลใช้บังคับวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยเตรียมเปิดโครงการให้พนักงานสมัครเข้าโครงการร่วมใจจากองค์กร รอบที่ 2 โดยมีแพ็กเกจให้เลือก 2 รูปแบบ คือ แพลนบี ผู้ที่สามารถสมัครได้จะต้องเป็นพนักงานที่อยู่ในโครงการลาระยะยาวโดยยินยอมรับเงินเดือน 20% หรือแอลดับเบิลยู 20 เท่านั้น และแพลนซี คือพนักงานที่สมัครใจลาออก หรือพนักงานที่ไม่ผ่านการคัดเลือกตามโครงสร้างใหม่

โดยแบ่งระยะเวลาให้สมัครเข้าร่วมโครงการ 4 ช่วงคือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์-2 มีนาคม, วันที่ 3-16 มีนาคม, วันที่ 17 มีนาคม-1 เมษายน และวันที่ 2-19 เมษายนนี้ โดยการลาออกทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป พนักงานที่เข้าร่วมจะได้รับเงินตอบแทนอัตราเทียบเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ได้แก่ พนักงานที่มีอายุงานน้อยกว่า 120 วัน จะไม่ได้รับเงินตอบแทน อายุงานครบ 120 วัน แต่น้อยกว่า 1 ปี ได้รับตอบแทน 30 วัน ครบ 1 ปี แต่น้อยกว่า 3 ปี ได้รับเงิน 90 วัน ครบ 3 ปี แต่น้อยกว่า 6 ปี ได้รับเงิน 180 วัน ครบ 6 ปี แต่น้อยกว่า 10 ปี ได้รับเงิน 240 วัน ครบ 10 ปี แต่น้อยกว่า 20 ปี ได้รับเงิน 300 วัน และครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 400 วัน

ทั้งนี้ จะแบ่งจ่ายเป็น 12 งวด สำหรับแพลนบี จะเริ่มจ่ายงวดแรกเดือนมิถุนายน 2564 และแพลนซี จะเริ่มจ่ายงวดแรกกันยายน 2564