สุรเชษฐ์ แฉกระบวนการ 3 ป. “ปั้นตัวเลข-ปั่นโครงการ-ปันผลประโยชน์” หากินกับรถไฟฟ้า

สุรเชษฐ์ แฉกระบวนการ 3 ป. “ปั้นตัวเลข-ปั่นโครงการ-ปันผลประโยชน์” หากินกับรถไฟฟ้า โกงอย่างน่าเกลียด ประชาชนอยู่ตรงไหนของผลประโยชน์

เมื่อเวลา 21.55 น. วันที่ 17 ก.พ. 2564 นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงกระบวนการ 3 ป. กับปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพงว่า ตนเห็นด้วยกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ แต่ไม่เห็นด้วยกับการหากินกับการสร้างรถไฟฟ้าแล้วทิ้งปัญหาไว้มากมาย โดยเฉพาะค่ารถไฟฟ้าแพงและกำลังจะแพงขึ้นอีก เพราะรัฐบาลสร้างแบบไม่คิด ในต่างประเทศคิดค่าโดยสารคงที่ บางแห่งคิดตามระยะทาง แต่ไทยมีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนเมื่อต้องไปเชื่อมต่อสายสีอื่น และยังไปผูกสัญญาระยะยาวกับเอกชน ทำให้แก้ไขสัญญายาก แต่ประชาชนตื่นรู้ เลยเกิดการยับยั้งสายสีเขียวซึ่งราคาก็แพงเกินจริง

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าแต่ละสายก่อสร้างประมาณแสนล้านบาท แต่ พล.อ.ประยุทธ์อนุมัติงบไปแล้ว 5 แสนกว่าล้านบาทสำหรับรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เท่านั้น การบริหารจัดการที่ห่วย มองปัญหาเป็นสายๆ แบ่งเค้กเป็นรายๆ ทำให้ภาระมาตกที่ประชาชน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่โดยเฉพาะที่เคยออก ม.44 มาแล้ว

นายสุรเชษฐ์ อภิปรายต่อว่า เรื่องตั๋วร่วมก็ยังไม่เกิด มีแต่โฆษณาเอาหน้า ยังทำให้เกิดปัญหาค่าแรกเข้าหลายครั้งและซ้ำซ้อน เพราะประชาชนต้องถือบัตรหลายใบในการเดินทาง ไม่รู้ว่าเกรงใจขาใหญ่อะไรหรือไม่ ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินบัตรแมงมุม แต่ก็ยังไม่ไดใช้เสียที ดังนั้น ปัญหาค่าโดยสารแพง เพราะรัฐอุดหนุนไม่เพียงพอเพราะการลงทุนแบบไม่พอเพียง สำหรับกระบวนการ 3 ป.โดย ป.แรกคือการปั้นตัวเลข เสกว่าโครงการคุ้มค่า แต่ของจริงไม่ แค่อยากหากินกับโครงการขนาดใหญ่

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการแบบมีธง ปั้นตัวเลขให้ดูคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ จะได้อนุมัติให้สร้างได้ ปั้นตัวเลขให้ดูกำไรน้อยหรือขาดทุน จะได้ใช้เงินรัฐไปช่วยอุดหนุนเอกชนมากๆ ผ่านกระบวนการ PPP สุดท้ายภาระตกอยู่ที่ค่าตั๋วหรือภาษีประชาชน ป.ต่อมาคือปั่นโครงการ เร่งรีบอยากจะสร้าง ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้มีแต่รถไฟฟ้า แม้รถไฟฟ้าดีจริงแต่ใช้เงินเยอะ แต่หลายเส้นทางใหญ่เกินจำเป็น ทำให้รัฐต้องอุดหนุนมาก พล.อ.ประยุทธ์ สร้างเยอะไม่ได้แปลว่าเก่ง สั่งการไปเรื่อย อยากแต่จะอนุมัติโครงการใหญ่ๆ ปั่นโครงการให้ไว้หวังได้จ่ายเงินเยอะๆ ทั้งที่งบประมาณมีจำกัด ซึ่งเป็นภาษีประชาชนทั้งนั้น

นายสุรเชษฐ์ อภิปรายต่อว่า ป.สุดท้ายคือการปันผลประโยชน์ เช่น ปัญหาสายสีเขียวที่มีการใช้คำสั่งตาม ม.44 ตั้งพวกพ้องมามุบมิบเจรจา แม้สภาใหญ่และกรรมาธิการหลายคณะมีมติไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทาน ไม่มีพรรคการเมืองใดหรือกรรมาธิการใดที่เห็นด้วย แต่รัฐบาลก็พยายามดันต่อ ส่วนสายสีส้ม ปัญหาคือเอกชนแย่งสัมปทานกัน เพราะรัฐช่วยอุดหนุนมากเมื่อเทียบกับสายสีเขียว เกิดศึกระหว่าง BEM ซึ่งเป็นขาใหญ่ในกระทรวงคมนาคม และบีทีเอสซึ่งเป็นขาใหญ่ของ กทม. เป็นเรื่องฉาวโฉ่ในกระทรวงคมนาคม เพราะมีการเปลี่ยนเกณฑ์การตัดสินให้คะแนนกลางอากาศ ซึ่งมีผลกับผู้ประมูลอย่างชัดเจน จนเรื่องยังอยู่ที่ศาลปกครองกลาง

“เรื่องนี้คนที่ทำกล้ามาก เป็นการโกงกันอย่างน่าเกลียด สุดท้ายยังต้องรอ พล.อ.ประยุทธ์ เคลียร์ คำถามคือประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการปันผลประโยชน์กัน ผมจึงขอลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อนุพงษ์ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม” นายสุรเชษฐ์ กล่าว