“อมรัตน์” เปิดฉากสับ “ประยุทธ์” แจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ สร้างบ้านหรู 3 ไร่ในค่ายทหาร-ใช้น้ำไฟหลวงฟรี-ซ้ำหนีภาษี

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สัปปายะสภาสถาน นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยอภิปรายกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทุจริตต่อหน้าที่ในกรณีอยู่อาศัยในบ้านพักหลวงหลังเกษียณอายุราชการทหาร

โดยนางอมรัตน์ ระบุว่าวันนี้ตนจะอภิปรายกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นการทุจริตในหน้าที่ 3 ข้อ คือ 1) ทำผิดกฎหมายประมวลรัษฎากร หนีภาษี 2) ทำผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับผลประโยชน์อื่นใดเกินที่กฎหมายกำหนด และ 3) มีพฤติกรรมปกปิดข้อมูลส่วนตัวเพื่อหนีการตรวจสอบ มี และเข้าข่ายให้ข้อมูลเท็จต่อศาลรัฐธรรมนูญ

นางอมรัตน์ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะไม่มีความผิดโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่นั่นคือการวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือประเด็นต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ จากการพักอาศัยอยู่บ้านหลวงในกองทัพบก แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีอำนาจวินิจฉัยความผิดตามกฎหมายอื่น นั่นคือความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ความผิดตามกฎหมายอาญาเกี่ยวกับภาษี ซึ่งพฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์มีความผิดตามกฎหมายทั้งสองข้างต้นอย่างชัดเจน

โดยตนได้ไปทำการสืบค้น จนพบข้อพิรุธในการปกปิดข้อมูลของ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์แจ้งในบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อปี 2557 ว่าอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 14 ซอยร่วมมิตร ถ.ย่านพหลโยธิน สามเสนใน กทม. ทั้งๆที่ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์เป็น ผบ.ทบ. อยู่บ้านพักในค่ายแล้ว

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ยื่นคำให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 253/54 กรมทหารราบที่ 1 ซึ่งสอดคล้องกับที่กองทัพบกให้การ แต่ทว่ากรรมาธิการ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบไปยังการไฟฟ้านครหลวง ได้รับตอบกลับมาว่าไม่พบว่ามีบ้านเลขที่นี้อยู่ในกรมทหารราบที่ 1

ทั้งนี้ วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหารได้เคยเขียนเล่าในหนังสือ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ แท้ที่จริงแล้วอาศัยอยู่ในเซฟเฮ้าส์เลขที่ 702 ในค่ายทหารตั้งแต่ยังเป็น ผบ.ทบ.จนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็นับเป็นเวลามากกว่าสิบปีแล้ว ในหนังสือชื่อ “ลับลวงพราง 5 ศึกชิงอำนาจผ่าแผนปฎิบัติการเลือด” ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายน 2555 ในบทที่ 68

และในหนังสือดังกล่าว ยังเขียนถึงเรื่องเกี่ยวกับบ้านเซฟเฮาส์เลขที่ 702 เอาไว้อีก ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สร้างบ้านพักหลังนี้บนเนื้อที่เกือบ 3 ไร่ ที่จะเป็นทั้งบ้านพัก ห้องประชุมใหญ่ ห้องประชุมลับ ห้องรับรอง ห้องจัดเลี้ยงวอร์รูมและ safe house ที่พร้อมสรรพและทันสมัย ในแบบประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมจากที่ไหนในโลกก็ได้

และยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมา 3 ป. ได้ใช้บ้านพักหลวงแห่งนี้เป็นที่ประชุมทางการเมืองมาตลอด เป็นที่ประชุมลับในช่วงวิกฤต บ้านพักหลังนี้มีการวัดระยะก่อนสร้างว่าเอ็ม 79 ยิงไม่ถึง เป็นการสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์มีแผนที่จะอยู่ในอำนาจยาวนานและรู้ด้วยว่าจะต้องพบเจอภารกิจใดบ้างนับจากนี้ นอกจากนี้ วาสนายังได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ร.1 รอ. และ เซฟเฮาส์เลขที่ 702 จะเป็นสถานที่ให้กำเนิดและตัดสินชะตาบ้านเมืองอีกครั้งก็เป็นได้

“อิฐทุกก้อน กระเบื้องทุกแผ่นของคฤหาสน์บ้านหลวงริมน้ำ ที่ปลูกเต็มพื้นที่ 3 ไร่ เป็นเงินภาษีของประชาชน   แต่ทำไมมันลึกลับยากต่อการตรวจสอบขนาดนี้คะ  ขนาดกรรมาธิการ ป.ป.ช.แห่งรัฐสภาทั้งขอตรวจสอบไปที่การไฟฟ้านครหลวง ทั้งขอคำชี้แจงจากกองทัพก็ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ ถ้าสร้างด้วยเงินของท่านเองดิฉันก็คงไม่มายืนอภิปรายในวันนี้ค่ะ ทั้งหมดนั้นสร้างจากเงินภาษีอากรของประชาชนตาดำ ๆ ทั้งสิ้น จัดให้อยู่ฟรีมีสุขขนาดนั้นแล้วยังจะหนีการตรวจสอบ ยังจะกล้าหนีภาษีอีกเหรอคะ” นางอมรัตน์กล่าว

นางอมรัตน์กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าและสาธารณูปโภคอื่นๆ ในคฤหาสน์ริมบึงพื้นที่ 3 ไร่ในค่ายทหารของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น มีค่าใช้จ่ายเกิน 3 พันบาทตามกฎหมาย ป.ป.ช.อย่างเห็นได้ชัด

ตามเอกสารรายการหักบัญชีค่าไฟฟ้าของบ้านเลขที่ 14 ซอยร่วมมิตร ถ.ย่านพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 ซึ่งเป็นบ้านหลังที่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินหนี้สินนักการเมืองต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 บ้านหลังนี้อยู่ในซอยแคบและอยู่ก้นซอย เข้าไปก็กลับรถลำบาก บ้านหลังเล็กๆนี้ไม่มีคนอยู่ยังมีค่าไฟฟ้าเดือนละพันกว่าบาททุกเดือน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่มาเป็นสิบปียังค่าไฟเดือนละกว่าพันบาททุกเดือน เทียบกับคฤหาสน์ริมน้ำพื้นที่ 3 ไร่แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเกิน 3 พันบาทแน่นอน

“คำถามต่อไปคือเฉพาะค่าไฟที่มีใบเสร็จอย่างเดียวนี่เดือนละกี่พันกี่หมื่น และค่าบำรุงรักษาดูแลอีกเดือนละเท่าไหร่ ได้ข่าวมาว่า มีชั้นจอดรถใต้ดิน และลานจอดเฮลิคอปเตอร์อีกด้วย ทั้งหมดคือภาษีอากรของพวกเราประชาชนตาดำๆ ดิฉันต้องการให้ท่านเปิดเผยออกมาซักทีว่าเดือนๆ หนึ่งท่านใช้ภาษีของพวกเราไปเท่าไหร่” นางอมรัตน์กล่าว

นางอมรัตน์ยังกล่าวต่อไปว่า เรื่องบ้านเลขที่ที่มีปัญหา เด็กชั้นประถมต้นยังตอบบ้านเลขที่ของตัวเองได้แล้วเวลาที่ครูถาม แต่สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ตนไม่ได้ดูถูก แต่ต้องถามว่าท่านจำบ้านเลขที่ตัวเองได้หรือไม่ เพราะข้อมูลที่ได้มาแต่ละแหล่งไม่ตรงกันเลย และนั่นคือข้อกล่าวหาของตน เรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ทำการปกปิดอำพรางเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของประชาชน ซึ่งผิดหลักการของนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยสากล

ค่าไฟเซฟเฮาส์เดือนละกี่หมื่น? ซัด รับประโยชน์อื่นใดเกิน 3 พัน ผิดกฎ ป.ป.ช.ชัดเจน

หลังจากนั้น นางอมรัตน์ได้อภิปรายต่อไปถึงข้อกล่าวหาที่ 2 หรือการที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. จากการรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเกินกว่า 3 พันบาท ซึ่งในกรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้การไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การรับประโยชน์ใดๆจากหน่วยราชการคือกองทัพ เป็นไปตามที่กองทัพปฎิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ที่มีสถานภาพและคุณสมบัติเดียวกันในธุรกิจการงานปกติ กองทัพจึงอนุมัติให้ผู้ถูกร้องเข้าอาศัยในอาคารเลขที่ 253/54 และสนับสนุนค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นในการอาศัย

“นี่คือใบเสร็จที่ทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์และกองทัพบกยื่นให้การไว้ต่อศาล และถูกบันทึกไว้แล้วในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จนมัดตัว พล.อ.ประยุทธ์ ไว้แน่นชนิดดิ้นไม่หลุดว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.จริง จากการยอมรับว่าได้รับผลประโยชน์อื่นใดเกิน 3 พันบาทจากกองทัพ และทำผิดกฎหมายรัษฎากรจริง จากการยอมรับว่ามีรายได้อื่นแต่ไม่เคยยื่นเสียภาษี ภงด.90”

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เกษียณตั้งแต่ปี 2557 กองทัพบกไม่ใช่ต้นสังกัดของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้กับนักการเมืองเหมือนเราทุกคนที่นี่  ท่านอาจจะบอกว่าเป็นสวัสดิการจากกองทัพ รับตามระเบียบกองทัพ เหมือนนายพลที่เกษียณอายุแล้วท่านอื่น ต้องตอบไว้ตรงนี้ว่าเพราะเพื่อนนายพลของท่านเหล่านั้นถ้าไม่ได้มาเป็นนักการเมืองก็ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ป.ป.ช.ที่บังคับใช้กับนักการเมืองแบบท่าน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ปี 2561 ในมาตรา 128  ” ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐทุกตำแหน่ง และที่พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่เกิน 2 ปี รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้เกิน 3,000 บาท” โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษตาม มาตรา 169 คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางอมรัตน์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อความชัดเจนมากขึ้น จึงอยากให้ย้อนไปดูบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นแล้วจากการชี้มูลของ ป.ป.ช. กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการชี้มูลความผิด และแจ้งข้อกล่าวหาต่ออดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง ในคดีดำหมายเลข 03- 3-57 9/2562  เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 กรณีดังกล่าวป็นความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับเลขาฯ มีความว่า อดีตรัฐมนตรีทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช. รับตั๋วเครื่องบินมูลค่าเกิน 3 พันบาท 2 ครั้ง ป.ป.ช.ชี้มูลว่าถือเป็นโทษ 2 กรรม 2 กระทง สำหรับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ทำผิดรับค่าไฟฟ้าจากกองทัพเกิน 3 พันบาท 76 เดือน เรียงเป็นโทษ 76 กระทง และถ้า ป.ป.ช.ยังแชเชือนชักช้าไม่กล้าดำเนินการใดๆ ก็จะเพิ่ม เดือนที่ 77, 78, 79 เพิ่มความผิดต่อไปเรื่อยๆอีก

“บุคคลต้องเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย  ยกเว้นท่านจะไม่ใช่บุคคล ลองคิดอย่างโง่ๆ สมมุติถ้ามนุษย์มีแค่ 84,000 เซลล์สมองจริงอย่างที่ท่านเคยว่าไว้  ก็มีเหลือทางเดียวที่จะรอดได้ นั่นคือต้องใช้อำนาจ ม.44 กลับไปแก้กฎหมาย ป.ป.ช.  แต่จะแก้อย่างไร เพราะในตอนนี้ท่านไม่มีอำนาจ ม.44 อีกแล้ว นับจากวันพ้นสภาพลูกจ้างกองทัพมาเป็นลูกจ้างประชาชน ท่านต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของเดียวกับนักการเมืองทุกคน ท่านรับประโยชน์อื่นใดจากกองทัพเกิน 3 พันบาท รวม 76 กรรม 76 กระทง  ๆ ละ 3 ปีมีโทษจำคุกรวม 228 ปี ลาออกตอนนี้เลยไหมคะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ไม่ต้องให้อภิปรายข้อกล่าวหาต่อไปดีไหมคะ ดิฉันอายแทนท่าน” นางอมรัตน์ กล่าว

นายกฯไม่ยอมยื่นภาษี กินน้ำไฟหลวงฟรีจากกองทัพ อายชาวบ้านบ้างไหม

สำหรับข้อกล่าวหาสุดท้าย  นางอมรัตน์  ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา  50 และทำผิดประมวลรัษฎากร โดยกรณีของรัฐธรรมนูญมาตรา 50 (9) ระบุไว้ว่าบุคคลต้องมีหน้าที่เสียภาษี  ส่วนประมวลรัษฎากรมาตรา 39   กล่าวถึงเงินได้พึงประเมินว่า เป็นเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษี และให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงิน และประมวลรัษฎากรมาตรา 40  (2)  กำหนดให้เงินได้เนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำถือเป็นเงินได้พึงประเมิน โดยประมวลรัษฎากรมาตรา 42 ระบุข้อยกเว้นว่าผลประโยชน์อะไรบ้างที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี มี 25  ข้อย่อย  ยกตัวอย่างเช่นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเดินทางที่นายจ้างจ่ายให้ ดอกเบี้ยสลากออมสิน ดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์ ของสหกรณ์ออมทรัพย์ มรดก ประโยชน์ทดแทนที่ผู้ปรกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

“ขอย้ำ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีความผิดเพราะไปรับประโยชน์ค่าไฟฟ้าจากกองทัพ แต่สิ่งที่กล่าวหาประเด็นนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์รับแล้วไม่ไปยื่นเสียภาษี ถามว่าท่านเป็นถึงผู้นำประเทศ ทำไมไม่ทำตามกฎหมาย ทำไมทุจริตจงใจหลีกเลี่ยงรับแล้วไม่ยอมเอาไปยื่นเสียภาษี ภงด.90  ต่างหาก และยังทำผิดแบบนี้มา 6 ปีแล้วนับตั้งแต่เกษียณจากกองทัพ เป็นเพราะความไม่แยแสไม่สนใจกฎหมาย คิดว่าไม่มีใครรู้ไม่มีใครจับได้ หรือมั่นใจว่าถึงจับได้ก็คงทำอะไรท่านไม่ได้อย่างนั้นหรือ”

ทั้งนี้ นางอมรัตน์ ระบุว่า นับตั้งแต่ปีถัดจากเกษียณอายุ คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เปลี่ยนมารับเงินเดือนจากสำนักงานปลัดนายก หรือ สปน. ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา ก็ไม่มีใครได้เห็นแบบ ภงด.90  ของท่านอีกเลย

ซึ่งหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2557 กองทัพกลายเป็นคนอื่นสำหรับท่านไปแล้ว การยื่นภาษีในปีต่อจากนั้นจึงต้องเอาผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทัพทั้งค่าน้ำค่าไฟค่าอื่นๆ มารวมเป็นรายได้ประจำใน (1) ในแบบ ภงด.90 ด้วย ขอย้ำอีกครั้งว่า ผลประโยชน์อื่นใดซึ่งศาลตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิ์รับจากกองทัพได้ไม่ผิด กองทัพไม่ผิด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ผิดที่หลบเลี่ยง ไม่นำมารวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39 และมาตรา 40 และผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 50 (2) ที่บอกไว้ว่าบุคคลมีหน้าที่เสียภาษีนั่นเอง

“ในระหว่างที่ยังเป็นทหารถือเป็นลูกจ้างของกองทัพ จะอ้างกฎหมายหรือจะอ้างกฎเกณฑ์หยุมหยิมระเบียบราชการกองทัพอะไรก็ว่ากันไป แต่เมื่อเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นนายก มาเป็นข้านักการเมือง ค่าไฟฟ้าที่ได้รับจากกองทัพถือเป็นเงินได้พึงประเมิน เข้าลักษณะพึงเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39, 49 ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาตาม ภงด. 90  ขอย้ำว่าผลประโยชน์ที่ได้จากกองทัพหลังพ้นสภาพลูกจ้างกองทัพนี้ไม่เข้าข่ายได้ยกเว้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 แต่อย่างใด จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ” นางอมรัตน์กล่าว

นางอมรัตน์ยังกล่าวต่อไป ว่าแม้แต่ลูกจ้างโรงงาน ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนงานห้องเล็กๆที่นายจ้างจัดหาให้ ยังต้องนำประโยชน์จากการได้อยู่บ้านพักฟรี ค่าน้ำค่าไฟฟรีจากนายจ้าง ไปรวมเป็นรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งคำสั่งกรมสรรพากร และคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยชี้ขาดออกมา แล้ว คือคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. 23/2533 ลูกจ้างต้องคำนวณผลประโยชน์จากการอยู่ฟรีเป็นรายได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 20 ของรายได้จากเงินเดือนตลอดทั้งปี และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2536  ให้ถือค่าน้ำ ค่าไฟฟ่า ค่าแก๊ส ที่ได้จากการอาศัยในบ้านที่นายจ้างให้อยู่ เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39, 40 ต้องนำไปคำนวณเพื่อยื่นเสียภาษี ภงด.90, 91 ด้วย

ดังนั้น ค่าไฟฟ้าและน้ำประปาที่กองทัพบกจ่ายให้ทุกเดือน พล.อ.ประยุทธ์ต้องนำไปเสียภาษี ถ้าไม่เสียก็ถือว่าเป็นการหนีภาษี แต่เนื่องจากคำสั่งสรรพากรระบุเฉพาะเป็นบ้านที่นายจ้างให้กับลูกจ้างเท่านั้น สำหรับท่าน เนื่องจากกองทัพไม่ใช่นายจ้าง ท่านจึงเพียงต้องนำเฉพาะส่วนที่เป็นค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปา ซึ่งเดือนนึงน่าจะหลายหมื่นบาท ไปเป็นรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีตามภงด. 90, 91

“สาวโรงงาน คนตัวเล็กตัวน้อยได้สวัสดิการจากนายจ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังเอามาคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่มีทางหลบหนี ท่านอายคนตัวเล็กตัวน้อยพวกนี้บ้างหรือไม่คะ ที่หนีภาษีมาตลอดหลายปีที่ผ่านมานับจากเกษียณอายุราชการจากกองทัพ คุณยายวัยชราหลายร้อยคนกำลังถูกรัฐบาลไล่บี้ตั้งข้อหารับเงินซ้ำซ้อนระหว่างเบี้ยคนสูงอายุเดือนละไม่กี่ร้อย ไปซ้ำซ้อนกับรับมรดกเงินบำนาญจากลูกชายที่ไปตายในหน้าที่ ถูกเรียกเงินคืนย้อนหลังแต่ละคนเป็นสิบปี โดยให้ผ่อนคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งพอเป็นข่าวดังขึ้นมาได้ข่าวว่ากำลังคิดหาทางแก้ไข ยายวัยชราในข่าวนี้อยู่โคราชต้องขึ้นศาลแขวงที่โคราช บอกว่าไม่มีปัญญาหามาคืนยอมติดคุกค่ะ ไม่หนีไปไหน แต่นายกที่รับเงินซ้ำซ้อนไม่รู้กี่ตำแหน่งทั้งเงินเดือน ทั้งหัวหน้า คสช. เงินเดือนนายก เบี้ยบำนาญจากกองทัพ เบี้ยประชุมอีกไม่รู้กี่ตำแหน่ง เดือนหนึ่งรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท ปีหนึ่งไม่รู้กี่ล้าน นี่นับเฉพาะที่ได้เปิดเผยบนโต๊ะ ยังไม่รวมอย่างอื่น ถามว่าท่านอายสาวโรงงาน อายลูกจ้างบริษัท อายหญิงชราผู้ยากไร้บ้างหรือไม่ ที่ทุจริตต่อหน้าที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ ทำผิดกฎหมายประมวลรัษฎากรแบบนี้”

 

เตรียมยื่น ป.ป.ช.-ศาลฟันต่อ จงใจยื่นทรัพย์สินเท็จ-หนีภาษี-รับประโยชน์อื่นใดเกิน 3 พันบาท

หลังจากนั้น นางอมรัตน์ได้สรุปถึงความผิดของ พล.อ.ประยุทธ์ในกรณีบ้านพัก ว่ามีด้วยกัน 3 ประการ คือ 1) การไม่แสดงรายการเกี่ยวกับบ้านพักในค่ายทหาร ถือเป็นความผิดจงใจยื่นแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตาม พรป.ป.ป.ช. มาตรา 114  และมีโทษตามมาตรา 167

2) การหนีภาษี มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 และความผิดตามประมวลรัษฎากร หลังเกษียณแล้วการไม่นำผลประโยชน์อื่นใด คือค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่ได้จากกองทัพไปรวมเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี มีความผิดอาญาตามปีปฎิทินที่ยื่นภาษี ผิดกฎหมายอาญา ทุจริตต่อหน้าที่ฐานหลบหนีภาษี ตามมาตรา 37 ทวิ  ผิดปีละ 1 กระทง จำนวน 6 ปี พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

3) การรับประโยชน์ค่าไฟฟ้าเกิน 3 พันบาทในทุกเดือน ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ปี 2561 มาตรา 128   มีโทษตามมาตรา 169 จำคุกไม่เกินกระทงละ 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท คิดเป็นโทษจำคุก 76 กระทง รวมทั้งสิ้น 228 ปี เป็นไปตามบรรทัดฐานที่ ป.ป.ช.ได้เคยชี้มูลไว้แล้ว มีความผิดเรียงเป็นรายกระทง  76 กระทง นับจากวันที่ท่านเกษียณอายุราชการในปี 2557

เมื่อเสร็จสิ้นการอภิปราย นางอมรัตน์ ระบุว่า จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปยื่นเอาผิดเพื่อจัดการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ จากกรณีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ป.ป.ช. ได้ชี้มูล ส.ส.ท่านหนึ่ง ว่าผิดมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 ตามบรรทัดฐานเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องมีความผิดมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวในข้อ 9 และข้อ 27 ด้วย