ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้ศาลไม่ให้ประกันตัว 4 นักเคลื่อนไหว เสมือนคำตัดสิน ขัดต่อหลัก “สันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์”

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เพจภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความแสดงจุดยืนภายหลังเมื่อวานนี้ (15  ก.พ.2564) ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่ให้ประกันตัว “อานนท์ นำภา-สมยศ พฤกษาเกษมสุข-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม” ว่า

คำประกาศภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนถึง “คน” ในกระบวนการยุติธรรม

ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด ๑ อุดมการณ์ของผู้พิพากษา ข้อ ๑ ระบุว่า

“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่า ตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเอง และเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ”

จากประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้างต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “อำนาจตุลาการ” จะศักดิ์สิทธิ์ มีเกียรติ และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของสังคม ไม่ใช่เพราะศาล “มีอำนาจตุลาการ” แต่เพราะศาล “ใช้อำนาจตุลาการโดยปราศจากอคติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน” ไม่ว่าคู่ความในคดีจะเป็นฝ่ายผู้มีอำนาจหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามกับผู้มีอำนาจ

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณานายพริษฐ์ หรือ เพนกวิ้น ชิวารักษ์ ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน ในคดีของศาลอาญา หมายเลขดำที่ อ.๒๘๗/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ความว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูงการกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่า ถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก ส่วนจำเลยที่ ๔ เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้ง คดีนี้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถูกจับกุมตามหมายจับ กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้วจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ อาจจะก่อให้เกิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้วให้ยกคำร้อง” นั้น

เสมือนประหนึ่งว่า ศาลได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนแล้วว่า ผลแห่งคำพิพากษาในคดีดังกล่าวจะออกมาในแนวทางใด ทั้งที่เป็นเพียงคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเท่านั้น คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวที่มีลักษณะของการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ย่อมขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์แห่งประมวลวิธีพิจารณาความอาญา หมวดปล่อยชั่วคราว มาตรา ๑๐๘ และ ๑๐๘/๑ ยิ่งไปกว่านั้นยังขัดต่อ “หลักสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” (presumption of innocence) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” โดยสิ้นเชิง

ด้วยความเคารพต่อคำสั่งศาลดังกล่าว ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีความเห็นในฐานะผู้มีวิชาชีพนักกฎหมายเช่นเดียวกับศาล มีศักดิ์และสิทธิโดยทัดเทียมกันต่อหน้ากฎหมายว่า ศาลมิได้มีหน้าที่เพียงตัดสินคดีระหว่างบุคคลกับบุคคลให้เป็นไปโดยยุติธรรมเท่านั้น แต่มีหน้าที่สำคัญคือการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีให้มีความเป็นธรรมระหว่างบุคคลกับรัฐและ/หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย หากจำเลยและประชาชนโดยทั่วไป ไม่อาจสัมผัสได้ถึงการใช้อำนาจตุลาการโดยปราศจากอคติ ภายใต้กระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) อันจะนำไปสู่ความยุติธรรมในปลายทางเสียแล้ว สถาบันตุลาการนั่นเองที่จะถูกพิพากษาโดยมติของสาธารณชน