“บก.ลายจุด” ให้แง่คิด 7 หลักการ สู้ยังไงกับเผด็จการ

บก.ลายจุด ให้ข้อคิด สู้เผด็จการ ต้องสร้างอำนาจต่อรอง จะสร้างอำนาจต่อรองได้ก็ต้องใช้ทัพใหญ่ การรักษามิตร อดทน ให้อภัย ผิดพลาดและเรียนรู้ร่วมกัน คือสิ่งสำคัญ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 สมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมการเมือง โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประชาชน โดยระบุว่า

อำนาจต่อรอง – ถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องมีอำนาจต่อรอง ระหว่างรัฐเผด็จการกับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอะไรคืออำนาจต่อรอง ?

ปริมาณมวลชน คือ อำนาจต่อรองที่สำคัญ แต่มวลชนเหมือนเม็ดทราย จึงต้องมีการจัดตั้ง เกาะกลุ่ม และพัฒนากระบวนการของกลุ่มแต่ละกลุ่มให้ขับเคลื่อนสอดคล้องกัน เห็นต่างกันได้ แต่ต้องมุมเห็นเป้าหมายร่วมกันเป็นสำคัญ

ประเด็นหรือเป้าหมายร่วม คือ ภาพปลายทางที่หลอมรวมผู้คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนรวมกันเป็นขบวนการขนาดใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่ต้องย้ำเตือนกันมิให้หลงลืมระหว่างการขับเคลื่อนและต่อสู้

ระยะทาง คือ เวลา และ ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นระหว่างการขับเคลื่อน การรักษาขบวนท่ามกลางการปะทะกันทางความคิดทั้่งฝ่ายเดียวกันและกับ IO ของฝ่ายรัฐ หรือกับประชาชนที่ยังไม่เห็นด้วย หรือ แม้แต่นิ่งเฉย

การยืนระยะ รักษาความมุ่งหมาย เหน็ดเหนื่อยรู้จักผ่อนคลายตนเอง และสามารถฟื้นฟูพลังขับเคลื่อนได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมดสิ้น

การเรียนรู้ระหว่างทาง แม้จะรู้ทิศแต่ก็อาจไม่รู้ทาง การเดินทางผิด-ถูก เกิดขึ้นตลอดการเคลื่อนไหว การสังเกตและเรียนรู้ระหว่างทางคือหนทางของการรุกคืบ เดินทีละก้าว รุกทีละคืบ ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดีกว่าวิ่งก้าวกระโดดไปยังทิศทางที่ผิด การเรียนรู้ระหว่างทางจะบอกเราว่ามาถูกทางหรือเปล่า

รักษามิตร ทัพใหญ่เดินทางไกล ย่อมเกิดเรื่องราวมากมาย ผู้คนหลากหลาย สถานะการณ์บีบคั้น แนวทางมีมากกว่า 1 หนทาง ย่อมก่อเหตุให้กระทบกระทั่งกันระหว่างทางได้ง่าย การให้อภัยกัน ความอดทนต่อกัน การสื่อสารด้วยท่วงทำนองของมิตร แม้ดูเหมือนว่าเล็กน้อยแต่มันลดความบอบช้ำโดยไม่จำเป็น

คานธีบอกว่า มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา ความคิดของเขาต่างหากที่เราไม่เห็นด้วย สุดท้ายการต่อสู้ต้องยึดกุมความคิดที่ถูกต้องให้ได้ สู้กันด้วยเหตุผล เมื่อชนะทางการเมืองแล้ว ไม่ต้องชนะทางการทหาร ไม่จำเป็นต้องรบ