โควิด-19 : ปิดอีก 2 ตลาดดังเมืองแม่สอด ไม่มีกำหนด – จุฬาฯ ปิดมหาวิทยาลัย 17 วัน หลังระบาดหนัก

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้สั่งปิดตลาดพาเจริญ และตลาดศรีมอย เขตเทศบลานครแม่สอดเป็นครั้งที่ 2

ทั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชน เจ้าของร้านค้า ในการที่จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ในตลาดทั้ง 2 แห่ง โดยจะให้เปิดตามปกติ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 และขอความร่วมมือจากร้านค้า แผงลอย รวมไปถึงประชาชนที่ไปซื้อของในตลาดทั้ง 2 แห่ง สวมหน้ากากอนามัย ล้างด้วยด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ ห้ามบ้วนน้ำหมาก และน้ำลายบนพื้นถนน นอกจากนี้ยังสั่งปิดตลาดนัด ตลาดถนนคนเดิน ตลาดกลางคืนในเขตเทศบาลนครแม่สอดอย่างไม่มีกำหนดด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัตตากในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติตต่อจังหวัดตาก และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัตตาก มีคำสั่งที่ 508/2564 เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) (เพิ่มเติมเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด) ให้ปิดย่านชุมชนอัลซอร์ โดยส่งกำลังเจ้าหน้าที่ไปปิดทางเข้าออกในพื้นที่ชุมชนทั้งหมด 5 จุด และมีการนำกลุ่มเสี่ยงไปกักบริเวณสถานที่ของรัฐในอำเภอแม่สอด

สำหรับยอดผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดตาก จากการรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จ.ตาก ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ยังไม่มีการายงานพบว่า มีผู้ป่วยเพิ่ม และมีผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 63 ราย หายป่วยแล้ว 133 ราย ผู้ป่วยสะสม 198 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 82 ราย และจากต่างประเทศ 116 ราย แต่ยังรอการรรายงานผลจากการนำตัวอย่างของกลุ่มเสี่ยงไปตรวจ ซึ่งน่าจะทราบผลวันนี้

จุฬาฯ สั่งปิดมหาวิทยาลัยยาว 17 วัน

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามออกประกาศ ปิดที่ทำการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า

ตามที่ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยพบว่ามีบุคลากรผู้พักอาศัยในอาคารจุฬานิวาสติดเชื้อโรค COVID-19 และดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งลดโอกาสติดเชื้อโรคดังกล่าวของผู้พักอาศัยในอาคารจุฬานิวาส ตลอดจนบุคลากรในมหาวิทยาลัย

โดยให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาพยาบาล และตรวจคัดกรองเชิงรุกกับผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค COVID-19 แล้ว เพื่อเป็นการป้องกัน และให้เกิดความปลอดภัยแก่นักเรียน นิสิต และบุคลากรจากการแพร่ระบาด รวมทั้งลดโอกาสติดเชื้อโรค COVID-19 และเพื่อให้การดำเนินงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2551 จึงเห็นสมควรออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้มหาวิทยาลัยปิดที่ทำการที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564

ข้อ 2 ขอให้นิสิตและบุคลากรหลีกเลี่ยงการออกจากสถานที่พักอาศัย การเดินทางไปยังที่ชุมนุมชน หรือการพบปะบุคคลอื่นโดยไม่มีเหตุจำเป็น และมีหน้าที่ติดตามข่าวสารจากมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด

ข้อ 3 ให้จัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้

หากมีการวัดและประเมินผลระหว่างเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้ผู้สอนพิจารณาปรับรูปแบบการวัดและประเมินผลโดยใช้วิธีการอื่นนอกจากการทำข้อสอบในห้องสอบหรือการอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เช่น การสอบในรูปแบบออนไลน์ (Online Examination) การมอบหมายงาน (Assignment) การทำรายงาน (Report) หรือการทำข้อสอบนอกห้องสอบ (Take-home Examination) หรือการวัดและประเมินผลเป็นระยะระหว่างที่มีการเรียนการสอน

ข้อ 4 ให้บุคลากรปฏิบัติงาน ณ สถานที่พักอาศัยของตนเองพร้อมรับการติดต่อหรือสั่งการจากผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ และรักษาระเบียบวินัยในการปฏิบัติงานโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล มอบหมายงานให้บุคลากรปฏิบัติตามที่เห็นสมควร

ข้อ 5 กรณีงานที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การตรวจคัดกรองเชื้อโรค COVID-19 การดูแลนิสิตที่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย หรืองานอื่นตามที่มหาวิทยาลัยหรือส่วนงานประกาศกำหนด ให้บุคลากรนั้นมาปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็น โดยให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล ปรับวันหรือเวลามาปฏิบัติงานของบุคลากรนั้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็นให้บุคลากรตามวรรคหนึ่งมาปฏิบัติงาน ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแลสั่งให้บุคลากรนั้นปฏิบัติงาน ณ ที่พักอาศัยของตนเองก็ได้

ข้อ 6 ในกรณีจำเป็นเพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยหรือ ส่วนงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล อาจจัดให้มีการประชุมหรือปรึกษาหารือระหว่างบุคลากรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สั่งให้บุคลากรคนใดมาปฏิบัติงาน หรือดำเนินการอื่นใดเท่าที่จำเป็นก็ได้

ข้อ 7 หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล อาจกำหนดรายละเอียดหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อดำเนินการโดยไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ก็ได้

ข้อ 8 กรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ ให้หัวหน้าส่วนงานหรือรองอธิการบดีที่กำกับการปฏิบัติงานหรือกำกับดูแล วินิจฉัยชี้ขาด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น