“ชัยธวัช” เปิดสาระร่างกม.ส่งเสริมเสรีภาพ 5 ฉบับ โต้ครหา “ล้มล้างการปกครอง” ย้ำชีวิตนี้เห็นแต่ใช้รัฐประหาร

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่อาคารรัฐสภา ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ โดยชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ได้ออกมาอธิบาย สาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับโดยระบุว่า 1) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … มีเนื้อหาแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อประกันเสรีภาพในการแสดงออกให้ได้สัดส่วนกับการเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ไทยได้เข้าเป็นภาคี โดยมีสาระสำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนแรก เป็นการยกเลิกโทษจำคุก ให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป (ม.326, 328, 393) ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (ม.136) และศาลหรือผู้พิพากษา (ม.198) เนื่องจากตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลปัจจุบัน การลงโทษจำคุกในทางอาญา ซึ่งควรนำไปใช้กับการกระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงเท่านั้น ถือเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีหมิ่นประมาท ไม่ได้สัดส่วนระหว่างการประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลอื่น ผู้กระทำผิดได้รับโทษรุนแรงกว่าสภาพความผิด นอกจากนี้การกำหนดบทลงโทษจำคุกในความผิดฐานหมิ่นประมาทยังกระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน

ส่วนที่สอง ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ “ลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ ดังนี้ เพื่อคุ้มครองพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ และของพระราชินี รัชทายาท รวมทั้งเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้เหนือกว่าประชาชนทั่วไป จึงกำหนดอัตราโทษให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมาไม่ให้รุนแรงจนเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด กล่าวคือ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ โดยบัญญัติให้ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งผู้อื่น หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และกำหนดให้ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

ส่วนที่สาม ย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่ราชสำนัก ตามมาตรา 133 และ 134 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ “ลักษณะความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศของประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ” เพื่อให้มีความเหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติและอัตราโทษ โดยยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือแต่โทษปรับ

(2) ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …
เนื่องจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบัน มีบทบัญญัติที่สามารถตีความได้กว้างขวาง ไม่ชัดเจน ทำให้มีการนำกฎหมายนี้ไปใช้โดยเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ กลายเป็นเครื่องมือสำหรับจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จึงแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดและบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

จึงเสนอแก้ไขมาตรา 14 กำหนดฐานความผิดให้ชัดเจนขึ้นว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ” ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ และยกเลิกฐานความผิดตามอนุมาตราอื่นในมาตรา 14 เดิมที่ไม่ชัดเจน เช่น “ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” หรือซ้ำซ้อนกับฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย หรือข้อมูลที่มีลักษณะลามก

แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 16 วรรค 1 “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย” โดยยกเลิกโทษจำคุก คงเหลือแต่โทษปรับ

แก้ไขมาตรา 20 ให้การพิจารณาสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบ ตามที่พนักงานเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนในการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาร้องขอนั้น เป็นอำนาจของศาล แต่จะสั่งระงับการเผยแพร่ได้ภายในกรอบเวลาไม่เกิน 365 วัน ซึ่งการพิจารณาคดีควรจะแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว หากศาลตัดสินว่าข้อมูลที่ถูกร้องไม่มีความผิดก็กลับมาเผยแพร่ต่อได้ แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะระงับการเผยแพร่และลบข้อมูลนั้นจากระบบได้ต่อไป

(3) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … และ (4) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้เป็นร่างกฎหมายที่ศึกษาและร่างขึ้นโดยสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เพื่อสร้างกลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง “คดีปิดปาก” โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน เนื่องจากในอดีตประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน มักถูกคุกคามหรือปิดกั้นโดยใช้กฎหมาย ซึ่งเรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) การฟ้องคดีลักษณะนี้ไม่ได้มุ่งเอาชนะ แต่มุ่งลดทอนกำลังหรือข่มขู่ให้ผู้ถูกฟ้องยอมยุติบทบาท และแม้ผู้ถูกฟ้องจะต่อสู้จนชนะคดีได้ในที่สุด แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเผชิญแรงกดดันต่างๆ

“ด้วยเหตุนี้จึงตรากฎหมายขึ้นเพื่อจัดการกับการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าว เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลหรือองค์กรที่ฟ้องคดีโดยสุจริต โดยให้มีกลไกทางกฎหมายที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ นิยาม “คดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” เข้าไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และความแพ่ง กำหนดกระบวนการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถยื่นคำร้องต่ออัยการหรือศาลให้พิจารณาได้ว่าคดีนั้นเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะหรือไม่ โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ ก็ให้อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง”

(5) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับ…) ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายในการเสนอแก้ไขกฎหมายชุดนี้ ชัยธวัช กล่าวว่า ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ที่บังคับใช้อยู่ยังไม่คลอบคลุมถึงกรณีที่เจ้าพนักงานในการยุติธรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดหรือกระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างดำเนินการสอบสวน มีความเห็นทางคดี การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี การไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด เช่น กรณีเจ้าพนักงานดำเนินคดีหรือสั่งฟ้องประชาชนในลักษณะยัดข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ เพื่อสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชน หรือก่อให้เกิดความกลัวต่อการใช้เสรีภาพของประชาชน หรือเจ้าพนักงานใช้อำนาจช่วยเหลือผู้ใดผู้หนึ่งให้รอดพ้นจากคดีโดยไม่สุจริต ดังนั้น เพื่อให้คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้รับความคุ้มครองในระหว่างการดำเนินคดี จึงเพิ่มเติมความเป็นมาตรา 200/1 ในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อกำหนดบทลงโทษแก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวนที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างทำการสอบสวน มีความเห็นทางคดี สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี

ทั้งนี้ ชัยธวัช ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ถามว่า การยื่นร่างกฎหมายครั้งนี้มีการในแก้ไขมาตรา 112 ด้วยจะถูกมองเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เเละการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยระบุว่า ในตลอดชีวิตตน เคยเห็นการล้มล้างระบอบการปกครองแบบเดียวคือรัฐประหาร ซึ่งปัจจุบันหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี อีกคนหนึ่ง แกนนำเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ยังไม่เคยเห็นการแก้ไขกฎหมายเป็นการล้มล้างการปกครอง

“พรรคก้าวไกลไม่ได้ยกเลิกกลไกในการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเอาไว้ โดยเรายังคงกำหนดโทษ เเละความผิดเอาไว้ เพียงเเต่เราปรับลดลงมาให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี เเละองค์รัชทายาท แน่นอนสิ่งที่เราเสนออาจจะไม่ถูกใจกับผู้ที่ต้องการเห็นสมให้ควรยกเลิกไปเลย หรือควรเเก้ไขให้ก้าวหน้ากว่านี้ แต่เราในฐานะพรรคการเมืองเราควรที่เสนอที่พอรับได้มากที่สุด เเละทุกฝ่ายพอจะคุยกันได้ เพื่อคลี่คลายสถาการณ์ความขัดเเย้งทางการเมือง เเละหากเมื่อร่างดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎร เราจะหารือกับทางพรรคอื่นๆ เพื่อหาเเนวทางด้วยกันอย่างมีวุฒิภาวะต่อไป” ชัยธวัช กล่าว