รัฐประหารพม่า : กระแสต้านยึดอำนาจส่อยืดเยื้อ-ลุกลาม พระเดินหน้านำขบวน จนท.รัฐหยุดงาน ตร.ฉีดน้ำสลาย

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เอเอฟพี รายงานสถานการณ์การประท้วงในประเทศพม่าหรือเมียนมาว่า ประชาชนจำนวนมากยังรวมตัวชุมนุมขับไล่กองทัพภายใต้การนำของ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพสูงสุดของเมียนมา หลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

ถือเป็นประท้วงใหญ่ทั่วประเทศต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 หลังกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางซู จี รวมถึงกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พร้อมใจเดินขบวนต่อต้านกองทัพเมียนมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันประชาชนหลากหลายอาชีพ ทั้งคนงานโรงงานสิ่งทอ ข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่รถไฟ นัดรวมตัวหยุดงานเพื่อกดดันให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจกลับสู่ประชาชน

สำหรับการประท้วงในกรุงเนปิดอว์ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้น้ำแรงดันสูงฉีดสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงหลายพันคนที่เดินไปตามถนนหนทางในเมืองหลวง และมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน “ตำรวจฉีดน้ำเพื่อเคลียร์ถนน” นายจอว์ จอว์ ชาวบ้านในกรุงเนปิดอว์ที่ออกมารวมกลุ่มเดินประท้วงกองทัพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพี นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วันที่เจ้าหน้าที่ตอบโต้กลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูง

ในนครย่างกุ้ง ผู้ประท้วงจำนวนมากกระจายตัวเดินขบวนชูสามนิ้วในถนนสายหลักหลายสายของเมือง ท่ามกลางเสียงตะโกนดังสนั่นว่า “ล้มเผด็จการทหาร” อีกส่วนตะโกนว่า “ปล่อยดอว์ออง ซาน ซู จี และประชาชนที่ถูกจับ” นอกจากนี้ยังมีป้ายข้อความเรียกร้องต่างๆ อาทิ “ช่วยเมียนมา” และ “เราต้องการประชาธิปไตย” ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงที่นั่งบนหลังรถกระบะพากันร้องเพลงเกี่ยวกับการปฏิวัติและประชาธิปไตย

น.ส.ฮิ่น ตา ซิน คนงานโรงงานสิ่งทอ ผู้ร่วมการประท้วง ให้สัมถาษณ์ว่า “นี่เป็นวันทำงานแต่เราจะไม่ไปทำงานถึงแม้จะถูกหักเงินเดือนก็ตาม” นายชิต มิน คนงานก่อสร้างในนครย่างกุ้ง กล่าวว่าความเชื่อมั่นที่มีต่อนางซู จี นั้นมีมากกว่าความกังวลในสถานการณ์การเงินของตนเอง “ผมตกงานมาเป็นสัปดาห์แล้วเพราะกองทัพก่อรัฐประหาร และผมก็วิตกการเอาชีวิตรอด”

ส่วนที่เมืองมัณฑะเลย์ ผู้ประท้วงหลายคนถือรูปภาพของนางซู จี พร้อมกับโบกธงสัญลักษณ์ของพรรคเอ็นแอลดี

ส่วนเมืองหลวงเก่าอย่างย่างกุ้ง วันนี้มีชาวพม่าหลายหมื่นคนรวมตัวกันที่แยกเลดัน ย่านธุรกิจชื่อดังในนครย่างกุ้ง และวันนี้ยังมีพระสงฆ์นำหน้าขบวนประท้วงร่วมกับคนงานและนักศึกษา ซึ่งพม่าเคยมีการลุกฮือและนำการประท้วงโดยพระสงฆ์ซึ่งถูกเรียกว่า “ปฏิวัติจีวร” ในปี 2007

แม้แต่เมืองชายฝั่งอย่างทวาย ในรัฐคะฉิ่น มีประชาชนหลายพันคนร่วมเดินขบวน โดยแต่งดำตั้งแต่หัวจรดเท้า

 

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ได้ขยายตัวไปยังเจ้าหน้าที่รัฐหลายกระทรวงและหลายหน่วยงาน ต่างออกมาร่วมแสดงพลังกับประชาชนในการคัดค้านการยึดอำนาจ ซึ่งเป็นไปตามที่มีการเชิญชวนนัดหยุดงานประท้วงกันทั่วประเทศ

มิน โค เหนียง อดีตผู้นำการประท้วงในการลุกฮือปี 1988 กล่าวว่า เราเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจากกทุกกระทรวงไม่เข้าทำงานนับตั้งแต่วันนี้