“จาตุรนต์” แนะรัฐบาลอย่าดูดาย รัฐประหารพม่า วางตัวให้เหมาะ เลิกอ้างไม่แทรกแซง-อุ้มทหารยึดอำนาจ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในพม่าหรือทัตมะดอว์ หรือกองทัพพม่าก่อการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน จนเกิดการต่อต้านการรัฐประหารของประชาชนพม่าจนขยายตัวทั้งจำนวน กลุ่มคนและพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆว่า

สถานการณ์ที่เกิดการรัฐประหารในเมียนมาร์และมีการต่อสู้คัดค้านต่อต้านการรัฐประหารอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลและประชาชนไทยไม่อาจนิ่งดูดายได้และจะต้องแสดงบทบาทอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยเองและภูมิภาคอาเซียนโดยรวม ด้วยเหตุผลและความจำเป็นหลายประการ

1. อาเซียนเองมีหลักการที่จะต้องรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นที่ปรากฏว่าการรัฐประหารนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน ทั้งยังไม่มีหลักประกันว่าจะเลยเถิดไปถึงการปราบการฆ่าประชาชนเมื่อใดและมากมายเท่าใดด้วย

2.หากมีการฆ่ากวาดล้างประชาชนขึ้น นอกจากเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักการสำคัญแล้ว ยังอาจจะเกิดผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากซึ่งประเทศไทยก็ต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้ลี้ภัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

3.ไทยกับเมียนมาร์พึ่งพาซึ่งกันและกันในหลายด้าน ประเทศไทยอาศัยแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาร์จำนวนมาก ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดจากการรัฐประหารและการปกครองโดยคณะรัฐประหารย่อมส่งผลเสียต่อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติและด้านอื่นๆ

4.หากมีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนและมีปัญหาอุปสรรคที่กระทบต่อแรงงานข้ามชาติ ย่อมจะเกิดผลกระทบอย่างมากต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด19 ของทั้งสองประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย

5.การรัฐประหารครั้งนี้อาจนำมาซึ่งการมีบทบาทและอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคอาเซียนในทางที่ไม่เป็นคุณต่อภูมิภาคอาเซียนเอง ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศไทยด้วย

6.หากคณะรัฐประหารปกครองประเทศนานออกไป การต่อสู้คัดค้านจะมากขึ้น การบอยคอตจากประเทศต่างๆอาจมากขึ้นซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็น แต่ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจของเมียนมาร์และย่อมส่งผลต่อการค้าขายลงทุนระหว่างเมียนมาร์กับไทยด้วย

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยพึงกระทำก็คือ 1.รัฐบาลไทยต้องไม่นิ่งดูดายและจะต้องแสดงบทบาทอย่างเหมาะสม เพราะการที่รัฐบาลไทยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อการรัฐประหารในเมียนมาร์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการละเลยต่อการรักษาผลประโยชน์ของอาเซียนและของประเทศไทยเอง

2. เลิกอ้างเรื่องการไม่แทรกแซงประเทศอื่นจนกลายเป็นไม่ทำอะไรเลย รีบร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆในอาเซียนโดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ได้ริเริ่มผลักดันให้มีการหารือกับคณะรัฐประหารในมียนมาร์ขึ้นแล้ว เพื่อหาทางลดความเสียหายต่อประเทศต่างๆในอาเซียนด้วยกัน

3. รัฐบาลไทยควรทำก็คือไม่แสดงความเป็นพวกพ้องกับคณะรัฐประหารอย่างออกนอกหน้า ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนชาวเมียนมาร์ในประเทศไทย ด้วยความเข้าใจว่าการรัฐประหารครั้งนี้คือความเป็นความตายของพวกเขา

ทั้งนี้นอกจากผลักดันให้รัฐบาลไทยรักษาผลประโยชน์ของประเทศแล้ว ประชาชนไทยเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนชาวเมืยนมาร์ สนับสนุนส่งเสริมให้รัฐบาลประเทศต่างๆและประชาคมโลกกดดันให้ผู้นำกองทัพเมียนมาร์ล้มเลิกการทำรัฐประหาร หยุดคุกคามจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

หากประชาชนชาวเมียนมาร์ได้รับชัยชนะในการหยุดยั้งการรัฐประหารครั้งนี้และสามารถนำประชาธิปไตยกลับคืนมาได้ ย่อมเป็นตัวอย่างและกำลังใจให้แก่การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

ขอบคุณภาพจาก Reuters / ABS-CBN News Channel

 

สถานการณ์ที่เกิดการรัฐประหารในเมียนมาร์และมีการต่อสู้คัดค้านต่อต้านการรัฐประหารอยู่ในขณะนี้…

โพสต์โดย Chaturon Chaisang เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2021