อ.จุฬาฯ มองรัฐประหารเมียนมา พื้นฐานเจตนาทุจริต ไม่เคารพบทบัญญัติ-เจตนารมณ์ รธน.

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อ.จุฬาฯ มองรัฐประหารเมียนมา อยู่บนพื้นฐานทุจริต ไม่เคารพบทบัญญัติ-เจตนารมณ์ของรธน.อย่างแท้จริง

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ponson Liengboonlertchai (พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย) ถึงกรณีการทำรัฐประหารในเมียนมา ระบุว่า

ว่าด้วยรัฐประหารตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional Constitutional Coup) ในประเทศพม่า

หลายท่านสอบถามผมเข้ามาว่า การเกิดรัฐประหารขึ้นในพม่า ณ ปัจจุบันสรุปแล้วทำได้ตามที่กองทัพอ้างอิงรัฐธรรมนูญเขาจริงหรือไม่? ผมคิดว่าเรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจทางรัฐธรรมนูญที่น่าพูดถึง จึงขออนุญาตแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทางวิชาการดังนี้

จริงอยู่ว่าดูราวกับบทบัญญัติของรัฐธรรนูญพม่าจะเปิดช่องให้กองทัพสามารถใช้อำนาจสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency power) เพื่อเข้าทำการยึดอำนาจได้ จนหลายท่านรวมถึงนักวิชาการบางกลุ่มมองว่าเป็นการใช้อำนาจตามครรลองของรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

แต่ความคิดเห็นส่วนตัวของผมเห็นว่า การกระทำของกองทัพพม่าครั้งนี้เป็น “การทำรัฐประหารโดยอาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ กองทัพอาศัยรัฐธรรมนูญเพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร (Constitutionalization of a coup) ซึ่งโดยธรรมชาติเป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอยู่แล้วในตัวเอง

หากเข้าไปอ่านและพิเคราะห์รัฐธรรมนูญพม่าให้ละเอียดก็จะพบว่า แม้ว่ากองทัพพยายามจะหยิบยกบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญ เสมือนหนึ่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจกับการยึดอำนาจครั้งนี้ แต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกลับยิ่งชี้ให้เห็นว่า การรัฐประหารโดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) เสียเองอย่างน้อย 3 ประเด็น

1. สถานการณ์ฉุกเฉินถูกประกาศโดยผู้ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ : มาตรา 417 กำหนดให้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอำนาจของ “ประธานาธิบดี” โดยการปรึกษาหารือกับสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือ รองประธานาธิบดี (อู มินต์ ส่วย)

หลายท่านอาจมองว่าก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่รองประธานาธิบดี (อู มินต์ ส่วย) จะทำหน้าที่แทนประธานาธิบดี (Acting President) เนื่องจากประธานาธิบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ เพื่อมิให้เกิดสุญญากาศในการบริหารประเทศตาม “หลักความต่อเนื่องในการบริหารประเทศ” (Continuity of Administration) แต่หากเข้าไปพิจารณา มาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญพม่า ซึ่งกำหนดกรณีการทำหน้าที่แทนประธานาธิบดีของรองประธานาธิบดีจะพบว่า กรณีที่รองประธานาธิบดีจะเข้าทำหน้าที่ดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่ “ประธานาธิบดีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติวิสัย” กล่าวคือ ต้องเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ลาออก เสียชีวิต ทุพพลภาพเป็นการถาวร ฯลฯ

ข้อเท็จจริงปัจจุบันมีอยู่ว่า กองทัพตั้งใจจับกุมประธานาธิบดีไปอันส่งผลให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ เป็นความจงใจสร้างให้เกิดสถานการณ์ขึ้น กรณีจึงสอดคล้องกับเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญอันจะส่งผลให้รองประธานาธิบดีสามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนได้ตามมาตรา 73 ดังนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นการประกาศโดยผู้ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมถือได้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 417

2. การใช้อำนาจขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ: การทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้อ้างอิงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 417 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Clause) ซึ่งโดยธรรมชาติของบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีการมอบอำนาจเบ็ดเสร็จ (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) ให้แก่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้าไปดำเนินการควบคุมจัดการให้สถานการณ์ฉุกเฉินรุนแรงกลับคืนสู่สภาวะปกติ หาใช่บทบัญญัติที่อนุญาตให้กองทัพทำการรัฐประหารกุมอำนาจเสียเอง

กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ รัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งหมายให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำรัฐประหารโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มอบอำนาจให้ตามมาตรา 418 และหากตีความรัฐธรรมนูญเช่นนั้นให้สามารถกระทำได้ก็คงเป็นการตีความที่ก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาดอันสะท้อนถึงการตีความที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

3. ไม่เข้าเงื่อนในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามรัฐธรรมนูญ : หากเข้าไปอ่านมาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญพม่าจะพบว่า มีการกำหนดเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องเป็น “กรณีสถานที่รุนแรงอย่างยิ่ง” ถึงขนาดเป็นภัยต่ออธิปไตยของประเทศอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำ หรือความพยายามที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยโดยการก่อการจลาจล ความรุนแรง และวิธีการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการใช้กำลังบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กองทัพพม่าพยายามเชื่อมโยงว่า การทุจริตการเลือกตั้งถือเป็นความพยายามให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยโดยวิธีการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการใช้กำลังบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเกินกว่าเหตุไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ต่อกรณีการกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่อย่างไรก็ตาม ก็หาใช่สถานการณ์ที่รุนแรงอย่างยิ่งถึงขนาดเป็นภยันอันตรายต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ อันเป็นเงื่อนไขของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 417 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อมอบอำนาจให้แก่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดตามมาตรา 418 นั่นเอง

ด้วยเหตุผลข้างต้นแล้ว ผมเห็นว่าการรัฐประหารโดยอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 417 ของกองทัพพม่าอยู่บนพื้นฐานของเจตนาทุจริต (Mala Fides) ไม่เคารพต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง (Constitutional Fidelity) จึงถือเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญครับ