รัฐประหารพม่า : ยูเอ็นลั่นทำทุกทาง “กดดัน” ทัพพม่ายึดอำนาจต้องล้มเหลว!

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เอเอฟพี รายงานความคืบหน้าเหตุขัดแย้งทางการเมืองใน ประเทศพม่า หรือ เมียนมา หลังจากกองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรครัฐบาลของ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้สัมภาษณ์วอชิงตันโพสต์ว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อกดดันกองทัพเมียนมา และจะทำให้มั่นใจว่าการก่อรัฐประหารครั้งนี้จะล้มเหลว

“เราจะทำทุกอย่างที่เราสามารถทำได้เพื่อระดมความร่วมมือจากบุคคลสำคัญและประชาคมโลกเพื่อให้มีแรงกดดันต่อเมียนมาที่มากพอ และทำให้แน่ใจว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะล้มเหลว หลังจากการเลือกตั้งที่ผมเชื่อว่าเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติและหลังจากช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิงต่อการกลับผลการเลือกตั้งและความต้องการของประชาชน” นายกูเตร์เรสกล่าว

ภายหลัง นายจี โท โฆษกพรรคเอ็นแอลดี แถลงยืนยันว่ากองทัพเมียนมาตั้งข้อหานางซู จี ฐานละเมิดกฎหมายนำเข้า-ส่งออก หลังเจ้าหน้าที่นำกำลังบุกค้นบ้านพักของนางซู จี และพบวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย ซึ่งข้อหาดังกล่าวมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 3 ปี

ส่วน ประธานาธิบดีวิน มินต์ ซึ่งถูกจับกุมวันเดียวกัน ถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจากกรณีเดินสายหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย.2563 โดยทั้งคู่จะอยู่ในการควบคุมตัวจนถึงวันที่ 15 ก.พ.

ขณะที่เน็ตบล็อก องค์กรตรวจสอบด้านสิทธิทางดิจิทัลในอังกฤษ ระบุว่าผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในเมียนมา ทำการปิดกั้นหรือควบคุมการเข้าถึงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตส์แอปป์ โดยเอ็มพีที บริษัทเครือข่ายของทางการเมียนมา เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ปิดกั้นการเข้าถึงโซเชียลมีเดียในเมียนมามากที่สุด

ขณะที่รอยเตอร์สรายงานว่า กลุ่มเคลื่อนไหวของนักศึกษา 3 กลุ่ม ซึ่งมีฐานการเคลื่อนไหวอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลถูกจับแล้วอย่างน้อย 3 ราย หลังประท้วงต้านการรัฐประหารที่จัดขึ้นหน้ามหาวิทยาลัยแห่งมัณฑะเลย์วันนี้ ซึ่งเป็นการประท้วงบนท้องถนนครั้งแรกหลังกระแสต่อต้านเริ่มขึ้นตั้งแต่วานนี้ จากการที่ประชาชนจำนวนมากต่างเคาะ-ตี ภาชนะโลหะจนเกิดเสียงดังไปทั่ว รวมถึงการออกมาประท้วงหยุดงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่ง

สหรัฐฯ-ออสเตรเลีย กระชับสัมพันธ์ ถกรับมือจีน-รัฐประหารพม่า

รอยเตอร์สยังรายงานความเคลื่อนไหวของ 2 ชาติที่มีจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารในพม่า ล่าสุดทำเนียบขาวเปิดเผยว่า วันนี้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯและสก๊อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้หารือครั้งแรกผ่านการสื่อสารทางไกล เพื่อสร้างทำงานร่วมกันในระดับทวิภาคีในการรับมืออิทธิพลของจีนและการก่อรัฐประหารในพม่า

โดยทำเนียบขาวได้เผยแพร่แถลงการณ์ว่า เป็นการเสริมความเข้มแข็งในมิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ-ออสเตรเลีย ยังคงยึดหลักเสถียรภาพในพื้นที่อินโด-แปซิฟิกและโลกใบนี้

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมอร์ริสัน ปฏิเสธให้รายละเอียดเกี่ยวกับบทสนทนาว่าด้วยเรื่องจีนและรัฐประหารพม่า แต่ได้กล่าวว่า ท่านปธน.ไบเดนพูดกับผมอีกครั้งในวันนี้เขาอยากเห็นออสเตรเลีย – สหรัฐอเมริกา มีความสัมพันธ์ในฐานะฐานที่มั่นเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคของเรา