เทเบียร์ประท้วงหน้า สธ. คาใจกลายเป็น ‘แพะ’ จ่อทวงคืนภาษี ยื่น 3 ข้อ วอนรัฐผ่อนปรน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สมาคมคราฟต์เบียร์ประเทศไทย นัดหมายรวมตัวทำกิจกรรม เททิ้งความเที่ยงธรรม โดยบรรยากาศตั้งแต่เวลาราว 11.40 น. มีประชาชนทยอยรวมตัวบริเวณหน้ากรมควบคุมโรค ต่อมา เมื่อเวลาราว 11.55 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี 3 นาย เข้าสอบถามรูปแบบกิจกรรม โดยระบุว่าจะมีการเตรียมอำนวยความสะดวก บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยความราบรื่น

ต่อมา เวลา 12.05 น. กลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ เข้าสมทบ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลา

เวลาประมาณ 12.15 น. เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคเข้าสังเกตการณ์ ขณะที่มีผู้ทยอยเข้าสมทบมากขึ้นตามลำดับ โดยเกือบทั้งหมดแต่งกายด้วยเสื้อผ้าโทนสีดำ บางส่วนถือป้ายมีข้อความว่า COCKTAIL IS NOT A CRIME

ต่อมา เวลา 12.20 น. มีการแจกป้ายข้อความและนำป้ายไวนิลขนาดใหญ่มาให้ผู้ร่วมกิจกรรมช่วยกันถือเพื่อเตรียมเดินเท้า โดยมีข้อความอาทิ ‘เรากำลังจะตายเพราะนโยบายรัฐ เราก็อยากชนะไปกับพวกคุณ’ นอกจากนี้ บางส่วนยังเขียนข้อความด้วยลายมือบนกระดาษเอ 4 ว่า มาตรการ เท่ากับฆาตกร, ขายไม่ได้แต่ต้องจาายภาษีไปทำไม?, โปรดเห็นใจร้านค้าที่กำลังจะตาย, รายใหญ่ขายได้ รายย่อยรอวันตาย, เหล้า-เบียร์ แพะตลอด, นั่งกินได้ ก็นั่งดื่มได้, ไม่เคยเยียวยา แต่ค่าเช่าร้านต้องจ่ายแล้ว เป็นต้น

ต่อมา เวลาราว 12.30 น. ผู้ร่วมกิจกรรมหลายสิบรายเริ่มเดินขบวนโดยมีการเข็นถังขยะสีเหลืองและถือป้ายไวนิลนำหน้าขบวน ในขณะที่รถตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี 2 คันขับปิดท้ายขบวน

เวลา 12.40 น. ขบวนถึงหน้าป้ายกระทรวงสาธารณสุข เลี้ยวซ้ายเข้าสู่อาคาร สธ. โดยผ่านจุดคัดกรอง จากนั้นผู้จัดกิจกรรมขนถังเบียร์วางเรียงกันบริเวณโถงชั้นล่าง พร้อมเรียงขวดเบียร์ เป็นตัวอักษรว่า แพะ

จากนั้น นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟต์เบียร์ กล่าวถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากมาตรการภาครัฐ โดยระบุว่าที่ผ่านมาพวกตน รวมถึงสมาคมบาร์เทนเดอร์ และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง มีการเข้าร้องเรียนอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ อาทิ การเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมเพื่อขอผ่อนผันให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายในร้านและดื่มในร้านได้ แต่ไม่เป็นผล

นายอาชิระสวัสส์กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่มีการขอรับการเยียวยา แค่ขอผ่อนปรนเท่านั้น วันนี้จึงมาทำกิจกรรมอีกครั้ง โดยคาดว่าอาจพิจารณาขอคืนภาษีจากกรมสรรพสามิตต่อไป เนื่องจากจ่ายไปแล้ว แต่กลับไม่สามารถขายได้ จึงเกิดความเสียหายมาก เพราะคราฟต์เบียร์ เบียร์สด ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน สินค้าเสื่อมสภาพง่าย อายุสั้นเหมือนนม และเนื้อสัตว์

“การถูกปิดร้านและห้ามขายทำให้เราเคลื่อนย้ายสินค้าไม่ได้ เราเสียภาษีให้รัฐ จึงกำลังพิจารณายื่นกรมสรรพสามิตว่าสามารถขอคืนภาษีได้หรือไม่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนแพะ มีอะไรขึ้นมาก็เป็นแพะ ทั้งที่ยังไม่เห็นการแพร่ระบาดเกิดจากการดื่ม แต่เกิดจากการมั่วสุม พอร้านปิด ดื่มที่ร้านไม่ได้ ประชาชนก็ไปรวมกลุ่มปาร์ตี้กันเอง ตรวจสอบไปได้” นายอาชิระวัสส์กล่าว

ต่อมา เวลาราว 13.00 น. นายอาชิระวัสส์ยื่นหนังสือชี้แจงปัญหาผู้ประกอบการในระบบธุรกิจคราฟต์เบียร์ จากคำสั่งห้ามซื้อขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้าน โดยมี นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงสาธารณสุข รับหนังสือและพูดคุยหารือกัน

จากนั้น มีการเปิดขวดเบียร์เททิ้งลงในถังขยะสีเหลืองที่นำมามาพร้อมขบวนเดินเท้า และเปิดถีงเบียร์เตรียมเทลงพื้นดินติดกับโถง แต่ได้รับการทักท้วงจากเจ้าหน้าที่ สธ.ว่า อาจทำให้ต้นไม้ตาย ผู้ทำกิจกรรมจึงเคลื่อนย้ายถังเบียร์ทั้งหมดไปเทลงท่อระบายน้ำในด้านตรงกับกับจุดเดิม กระทั่งเสร็จสิ้นกิจกรรมในเวลาราว 13.30 น.

สำหรับ เนื้อหาในเอกสาร มีใจความดังนี้

เรื่ยง ขอชี้แจงปัญหาผู้ประกอบการในระบบธุรกิจคราฟต์เบียร์ จากคำสั่งห้ามซื้อขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคภายในร้าน

เรียน คณะกรรมการศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
เนื่องด้วยคำสั่งของกรุงเทพมหานครในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคภายใน
ร้านอาหารและบาร์ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารและบาร์อย่างรุนแรง

ทางสมาคมคราฟต์บียร์มีความข้าใจถึงความปรารถนาดีของหน่วยงานสาธารณสุขและความกังวลในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯมีความกังวลเป็นอย่างมากต่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการ และพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในปัจุบันมีผู้ประกอบการรายย่อยที่ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคราฟต์เบียร์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ
ปริมณฑล จำนวนไม่น้อยกว่า 300 ร้าน และมีผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ประมาณการมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาทต่อเดือน ปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบ ทั้งระบบธุรกิจ ตั้งแต่ผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย บริษัทขนส่ง บริษัทที่ให้เช่าคลังสินค้า ร้านค้า พนักงานประจำและพนักงานจ้างรายวัน

โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญ มีดังต่อไปนี้

1) ร้านค้า ตัวแทนจำหน่าย และผู้นำเข้า ไม่สามารถระบายสินคำเบียร์สด ซึ่งเป็นสินค้าที่มีตันทุนสูง และมี
อายุสินค้าสั้นได้

2) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สด ในบรรจุภัณฑ์อื่น เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้ เนื่องจาก
ผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องสูญเสียสินค้าไปโดยใช่เหตุ

3) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อ
ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ แม้ตัวกฎหมายนี้จะยังคงมีปัญหา มีความคลุมเครือและไม่
ชัดเจน เช่น ไม่สามารถให้คำนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้ อีกทั้งยังไม่มีคู่มือให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

4) ปัญหามาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่เพียงห้ามให้ร้านค้าโพสต์ประชาสัมพันธ์ หรือขายสินค้าเครื่ยงดื่มแอลกอฮอล์ทางโซเชียลมีเดีย แต่ยังรวมไปถึงการเขียนถึงสินค้าแม้จะไม่มีรูปประกอบ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่

5.) เมื่อร้านค้าไม่สามารถโพสต์อธิบายสินค้าของตัวเองได้เลย ก็ไม่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อให้มาซื้อสินค้าแบบกลับบ้านได้ ทำให้ไม่มีรายได้ใดๆ เข้ามาเลย

6.) คราฟต์เบียร์เป็นสินค้าที่มีอายุสั้น การถูกคำสั่งห้ามขาย ส่งผลให้สินค้าเสื่อมสภาพลงทุกวัน และกลายเป็นมูลดำความเสียหายจำนวนมาก

7) บริษัทนำเข้าประสบปัญหาสภาพคล่องทางการงิน เนื่องจากไม่สามารถเก็บเงินจากร้านค้าได้เช่นกัน
และส่งผลไปถึงการติดต่อทำธุรกิจระหว่างประเทศ

8) บริษัทนำเข้ายังต้องแบกรับภาระในการเสียภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิตตามปกติเป็นจำนวนมาก
โดยที่บริษัทกำลังเผชิญภาระปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง

9.) บริษัทจัดจำหน่ายและบริษัทขนส่งต้องหยุดกิจการไปแบบไม่มีกำหนด และส่งผลถึงพนักงานเป็นจำนวน
มาก

10.) ธุรกิจโรง brewpub ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรง เนื่องจากสินค้าหลักคือเบียร์สดเพียงอย่างเดียว
เท่านั้น และยังส่งผลถึงเบียร์ที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตไปแล้วในช่วงก่อนหน้าประกาศห้ามขาย ทำให้มี
เบียร์จำนวนมากเสื่อมสภาพและต้องถูกทำลายทิ้งในที่สุด

จากปัญหาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ และประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง ทางสมาคมฯ จึงขอเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดังต่อไปนี้

1) ผ่อนปรนให้สามารถขายแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้นค้าได้ โดยมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มข้นตาม
คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

2) ผ่อนปรนการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ โดยอนุญาตให้ร้านค้าสามารถจำหน่าย
เบียร์สดลงในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้

3.) ชะลอการบังคับใช้กฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอออล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ร้านค้า
สามารถจำหน่ายสินค้าทางช่องทางออนไลน์ โดยยังบังคับให้ผู้ขายต้องตรวจสอบอายุของผู้ซื้อสินค้าให้
เป็นไปตามกฎหมาย

4.) ผ่นปรนให้ร้านค้าสามารถโพสต์รูปสินค้า และอธิบายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่อโซเชียลมีเดียได้

5.) อนุญาตให้ผู้ประกอบการชะลอการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งประกันสังคม

6.) อนุญาตให้ผู้นำเข้า สามารถแบ่งชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีนำเข้าเป็นงวดๆ เพื่อบรรเทาปัญหา
สภาพคล่องทางการเงิน

ท้ายที่สุดแล้ว ทางสมาคมคราฟต์เบียร์ รวมถึงประชาชนทุกคนที่ประกอบอาชีพสุจริตในธุรกิจคราฟต์เบียร์ ได้แต่หวังว่าทางภาครัฐจะมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจปัญหาอย่างจริงใจ ถึงสถานการณ์ที่พวกเราได้รับผลกระทบอยู่ และขอให้ท่านได้พิจารณาข้อเยียวยาตามที่ได้เสนอไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สธ. เดินทางออกจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่เวลา 12.53 น.

เมื่อถามว่ารับทราบหรือไม่ว่าจะมีการเทเบียร์ นายอนุทินกล่าวสั้นๆ ว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายอาชิระวัสส์ยังยื่นหนังสือถึง ศบค. ซึ่งมีเนื้อหาขอให้มีการผ่อนปรนให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ภายใต้ 3 เงื่อนไข ได้แก่

1.มีการเว้นระยะห่างของลูกค้าตามมาตรการรัฐ
2.ไม่มีการแชร์แก้วเครื่องดื่มเด็ดขาด
3.ไม่ให้มีการลุกขึ้นเต้นในร้าน

โดยสมาคมคราฟต์เบียร์ระบุว่า มีความมั่นใจว่าร้านต่างๆ สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานของ สธ.ได้ จึงขอให้ผ่อนปรนให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านถึง 22.00 น. และอนุญาตให้นั่งได้ถึง 23.00 น.