ทำความรู้จัก ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผบ.สส.พม่า ลูกบุญธรรม ‘เปรม’ สู่ผู้นำก่อการรัฐประหาร

จากกรณีมีข่าวสะพัด เกี่ยวกับการรัฐประหารในพม่า ในวันนี้ (1 ก.พ.) โดยกองทัพ ซึ่งการรัฐประหารดังกล่าว เกิดขึ้นก่อนการประชุมรัฐสภาชุดใหม่จะเปิดฉากในวันนี้ และเกิดขึ้น เพียง 2 วัน ภายหลังกองทัพพม่า ออกแถลงการณ์ปฏิเสธ ข่าวลือรัฐประหาร เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ บีบีซี รายงานว่า โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) แถลงว่า นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ถูกกองทัพจับกุมตัวไป พร้อมด้วย ประธานาธิบดีวิน มินต์ และแกนนำพรรค ถูกควบคุมตัวไปเมื่อช่วงเช้าตรู่ตามเวลาท้องถิ่น

ด้าน โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารบนท้องถนนในกรุงเนปิดอว์และนครย่างกุ้ง นอกจากนี้ระบบโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตถูกตัดขาดในพื้นที่เมืองหลวง และมีรายงานว่าทหารนำกำลังบุกบ้านพักของมุขมนตรีในหลายรัฐ ทั้งยังจับกุมมุขมนตรีและสมาชิกครอบครัวไปด้วย โดยล่าสุดมีรายงานว่า ทางกองทัพพม่า ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเวลา 1 ปี

สำหรับกระแสข่าวการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในพม่านั้น เริ่มหนาหูเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ วรรคทองสำคัญของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพพม่า ที่ถูกตีพิมพ์ใน นสพ.เมียวดี ที่กล่าวถึงความเป็นได้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 และจุดชนวนให้หลายฝ่ายเชื่อว่ากองทัพกำลังเตรียมการรัฐประหาร ทำเอากองทัพพม่าต้องรีบออกแถลงการณ์ สยบข่าวลือก่อนรัฐประหาร โดยยืนยันว่าจะมุ่งมั่น “ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”

ก่อนหน้านี้ กองทัพพม่า ก็ได้แสดงจุดยืนหนุนพรรคยูเอสดีพี ซึ่งประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และกล่าวหาว่าพรรคเอ็นแอลดี ของ ออง ซาน ซู จี (ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดด้วยนั่งในสภาไปถึง 346 : 33) ที่ร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทุจริตผลคะแนน ซึ่งทั้งนี้ มีการระบุจากสื่อต่างชาติหลายสำนักว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของกองทัพเมียนมา อาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้

สำหรับประวัติโดยย่อของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ปี 2554 สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันชาติแห่งประเทศพม่า (Defense Services Academy-DSA) ผ่านการเป็นผู้บัญชาการรัฐมอญ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน เป้ยผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง และเสนาธิการร่วมกองทัพพม่า เป็นต้น

คนไทยรู้จักดี ในฐานะเป็น บุตรบุญธรรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้ล่วงลับ วันที่เดินทางมาประเทศไทย เพื่อมาลงนามแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ พล.อ.เปรม ที่ทำเนียบองคมนตรี ได้เผยความรู้สึกตอนหนึ่งว่า เหมือนสูญเสียบิดา “อายุของ พล.อ.เปรม ห่างจากพ่อของผมเพียง 1 ปี และพ่อของผมได้เสียชีวิตเมื่อปี 2545 และหลังจากนั้น 10 ปี ผมก็ได้พบกับ พล.อ.เปรม”

“เมื่อได้เป็น ผบ.ทสส. แล้วจึงได้เข้าพบ พล.อ.เปรม และได้นั่งเคียงข้างกัน ได้จับมือกัน ถ้ามีเรื่องอะไรที่สำคัญก็จะจับมือคุยกันเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นทุกครั้งที่ได้พูดคุยกัน ผมจึงเปรียบพล.อ.เปรมเหมือนบิดา คำสั่งสอนต่าง ๆ ของ พล.อ.เปรมก็มีมากมาย

ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ 1. ทางด้านการเมือง ก็จะพูดถึงประชาธิปไตย ก็จะต้องเป็นประชาธิปไตยของประเทศของตนเอง หรือประเทศใครประเทศคนนั้น ให้เหมาะสมกับประเทศตนเอง และประเด็นที่ 2 ที่ พล.อ.เปรม พูดอยู่เสมอว่า เราเกิดในแผ่นดินนี้ เราต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ถ้าใครไม่ตอบแทนคุณแผ่นดิน คนนั้นถือว่าเป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ” พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย เคยกล่าวเอาไว้