‘โรม’ ชี้ รธน. ควรแก้ได้ทุกหมวด เปิดทาง ส.ส.ร. ดีไซน์ให้เป็นฉบับสุดท้ายของไทย

เมื่อวันที่ 30 มกราคม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวถึงกรณีคณะกมธ.มีมติเห็นด้วยกับร่างของฝ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับระยะเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 240 วัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า นอกจากที่ประชุมจะมีมติ เรื่องกรอบเวลาการยกร่างฯของส.ส.ร.แล้ว ยังได้มีมติเรื่อง ห้ามส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ด้วย

เมื่อถามว่า กมธ.ได้คุยกันหรือไม่ว่า หากมีการแก้ไขมาตราที่มีผลกระทบกับ หมวด 1 และหมวด 2 ทาง ส.ส.ร.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนตนมองว่าเรื่องนี้อยู่ที่ดุลยพินิจและอำนาจของส.ส.ร.ในอนาคต แต่สำหรับกมธ. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ได้คุยลงลึกรายละเอียดขนาดนั้น ตนพยายามชงเรื่องนี้ในกมธ.หลายครั้ง แต่ทุกคนก็ยังผ่านไป

ตนพยายามอธิบายว่า ตอนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากทำประชามติไปแล้ว โดยมีคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในทำนองว่า มีการขอมา ตนก็ได้ถามในกมธ.ว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีก ส.ส.ร.จะทำอย่างไร หรือจะกลายเป็นภาระทำให้รัฐสภาต้องมานั่งแก้ไข เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ได้ จะทำให้เกิดความเสียหาย ประชาชนตั้งคำถาม และส่งผลร้ายต่อสถาบันด้วยซ้ำไป ต้องยอมรับว่าเรื่องแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

“สัปดาห์ที่แล้วตอนเราโหวต มาตรา 1-2 มีการเสนอว่า จะคงร่างรัฐบาลที่ห้ามแก้ไข 2 หมวดดังกล่าว หรือจะมีการแก้ไขได้ ปรากฏว่าเสียงออกมาให้คงร่างรัฐบาล 19 ต่อ 14 เสียง ซึ่งใน 14 เสียงที่ไม่เห็นด้วยนั้น มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะกมธ.มาอยู่ในเสียงข้างน้อย 14 เสียงด้วย เพราะนายไพบูลย์ มีความเห็นในทำนองว่า ไม่ควรล็อกไว้ เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ควรล็อกเรื่องอื่นๆ ที่ห้าม ส.ส.ร.แก้ไขหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจด้วย” นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า องค์ประกอบความผิดมาตรา 112 คือต้องเป็นกรณีดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ปัญหาคือสมมติว่า เราจะแก้ไขหรือปล่อยให้ส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นการไปดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย อย่างไร แต่ในทางกลับกันการนำมาตรา 112 มาใช้ในเรื่องที่เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แสดงให้เห็นว่า การใช้มาตรา 112 เป็นปัญหายิ่งขึ้น เพราะถูกใช้กับคนที่เห็นต่างทางการเมือง หรือคนที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ยิ่งทำแบบนี้จะเป็นผลดีต่อสถาบันหรือไม่ การเปิดให้ส.ส.ร.แก้ไขได้ทุกเรื่องเป็นการใช้เหตุผล เรากำลังออกแบบรัฐธรรมนูญที่หวังเป็นฉบับถาวรฉบับสุดท้ายของประชาชน ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เริ่มเห็นว่าประชาชนกำลังจะเป็นเจ้าของ มีสิทธิ์เลือกและตัดสินใจอะไรบางอย่างได้ เราก็ต้องไปล็อกบางอย่างไม่ให้ประชาชนไปทำ น่าเสียดาย สุดท้ายก็เกิดการสร้างข้อครหาว่าประชาชนไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจทุกเรื่อง ทั้งที่เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนด้วยซ้ำ