ปชป. เตือน! ณัฏฐพล ระวังระบบราชการทำนโยบายเหลว ลูบหน้าปะจมูก ซุกปัญหาใต้พรม

รอง ปชป. เตือน ศธ. ระวัง “ระบบราชการ” ทำนโยบายเหลว

ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความห่วงใยในกรณีที่ “นายณัฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศนโยบายหลักสำหรับการบริหารจัดการด้านการศึกษาในปี 2564 ว่า ต้องลงรายละเอียดในเรื่องของการนำนโยบายไปปฏิบัติของระบบราชการในหน่วยงานของทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้รอบคอบ เพราะที่ผ่านมา ระบบราชการของ ศธ. มิได้ดำเนินการทางนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพมากพอ และขาดความรับผิดชอบอันเหมาะสมต่อปัญหาทางด้านการยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของนักเรียน

“ข้าราชการใน ศธ. นั้น สามารถที่จะหยิบยกข้อมูลอันแท้จริงของบางส่วนเกี่ยวกับปัญหาการศึกษา ซึ่งพวกเขาประเมินแล้วว่า รัฐมนตรีต้องมีความสนใจ และให้ความสำคัญ มานำเสนอเพื่อออกแบบนโยบายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน และแน่นอนว่า รัฐมนตรีย่อมพอใจและเห็นชอบกับนโยบายนั้น ทั้งๆ ที่ถ้าลองวิเคราะห์นโยบายดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว ก็จะทราบว่ามันไม่ได้ครอบคลุมกับปัญหาทั้งหมด เป็นแค่การลูบหน้าปะจมูก แตะเพื่อให้มีผลงานเท่านั้น แล้วเก็บต้นตอสำคัญของปัญหาเอาไว้ใต้พรม”

“ส่วนในเรื่องของการปฏิบัติตามนโยบาย คาดว่าโรงเรียนเพียง 20% เท่านั้นที่จะได้รับอานิสงส์จากนโยบายใหม่นี้ ส่วนโรงเรียนที่เหลือจะถูกปล่อยให้เผชิญกับวิกฤตด้านการศึกษาต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า อุปสรรคทั้งหนักและเหนื่อยเกินกว่าความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุด โรงเรียน 20% ที่ได้รับการยกระดับไป ก็จะถูกประชาสัมพันธ์จนกลายเป็นผลงานเด่นทางนโยบายที่ประสบความสำเร็จของกระทรวง และโรงเรียน 80% ในความดูแลของ ศธ. ที่เหลือก็จะค่อยๆ ล้มหายตายจากไปตามความสามารถของผู้บริหารโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ และก็คงจะไม่มีใครพูดถึงเช่นเคย”

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีท่านนี้ ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายใหม่ของ รมว.ศธ. ก็คือ “การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วเอาไปใช้กับการพัฒนาโรงเรียนในการดูแลให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น” นั่นเพราะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงจะเป็นคนปรับลดงบประมาณ และนำงบประมาณที่ปรับลดนั้นไปเพิ่มให้กับโครงการตามนโยบายด้วยตนเอง

“ดังนั้น ระดับรัฐมนตรี โดยเฉพาะถ้ารัฐมนตรีไม่ได้ทำงานลงรายละเอียด จะไม่ง่ายในการเข้าไปควบคุมเรื่องนี้ ส่งผลให้งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ทางกายภาพ และอุปกรณ์การศึกษา มากกว่าพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของครู และการยกระดับแนวทางการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เน้นในเรื่องของการใช้เงินซื้อ เพื่อให้ครบรายการตามที่กำหนดมาเท่านั้น”

อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ได้กำหนดแผนบูรณาการการพัฒนาโรงเรียน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ หนึ่ง การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง (Stand alone) สอง การยกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาสี่มุมเมือง และสาม สร้างโรงเรียนคุณภาพของชุมชน เพื่อดึงดูดนักเรียนโรงเรียนโดยรอบให้เข้ามาเรียน ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะทำด้วยกระบวนการ ดังนี้ 1. ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกไป และนำงบประมาณทั้งหมดนั้นไปจัดสรรเพื่อพัฒนาโรงเรียนทั้งหมดในการดูแล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2. ปรับสถานศึกษา หลักสูตร ผู้บริหาร นักเรียน และระบบการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานหลักของกระทรวงให้มีคุณภาพมากขึ้น 3. ลงทุนพัฒนาครูผู้สอนทั้งด้านวิชาชีพและทักษะการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน 4. ปรับระบบและเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และ 5. คุ้มครองและปกป้องเยาวชนไม่ให้ถูกซ้ำเติมจากการคุกคามในรูปแบบต่างๆ