โควิด-19 : ผลสำรวจชี้ นิวซีแลนด์ รับมือดีสุดในโลก ไทยติดอันดับ 4 ไร้จีนเหตุปกปิดข้อมูล

วันที่ 28 มกราคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า นิวซีแลนด์ เวียดนาม และ ไต้หวัน เป็นชาติที่รับมือจัดการกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีที่สุดเป็น 3 อันดับแรกของโลก โดยไทยตามมาติดๆ ที่อันดับ 4 ส่วนชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาติดอยู่ในกลุ่มท้ายๆตารางที่ทำผลงานได้แย่ที่สุด จากการสำรวจจัดอันดับเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับการจัดการต่อสู้รับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลายเป็นวิกฤตสาธารณสุขโลกอยู่ในเวลานี้ จัดทำโดยสถาบันโลวี ซึ่งเป็นสถาบันวิชาการอิสระที่ทำการศึกษาวิจัยด้านการเมือง ยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ตั้งอยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ในรายงานการสำรวจนี้ของสถาบันโลวี ที่ทำการสำรวจจาก 98 ประเทศทั่วโลก โดยประเมินจาก 6 หลักเกณฑ์ที่รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่มีการยืนยัน และการตรวจหาเชื้อ โดยใช้ข้อมูลจนถึงวัน 9 มกราคมปีนี้ ชี้ว่า ประเทศที่ทำผลงานได้ดีที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ นิวซีแลนด์ ตามด้วยเวียดนาม ไต้หวัน ไทย ไซปรัส รวันดา ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย ลัตเวีย และ ศรีลังกา ซึ่งรายงานชี้ว่าประเทศเหล่านี้มีทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสะสมโดยรวมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพลเมืองต่อหัว

ส่วนประเทศที่รับมือควบคุมสถานการณ์ระบาดได้แย่ที่สุด ได้แก่ บราซิล ที่อันดับ 98 ตามด้วย เม็กซิโก โคลอมเบีย อิหร่าน และ สหรัฐอเมริกา โดยที่บราซิลมียอดผู้เสียชีวิตสะสมล่าสุดอยู่ที่มากกว่า 220,237 ราย เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีทั้งยอดผู้เสียชีวิตสะสมและจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลก โดยสหรัฐอยู่อันดับ 94 มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 26 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 439,517 ราย

ส่วนอินเดีย ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อยู่อันดับ 86 มียอดผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 11 ล้านราย สหราชอาณาจักรอยู่อันดับ 66 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมมากที่สุดในยุโรป

ทว่ารายงานการสำรวจนี้ไม่ได้รวม จีน ซึ่งเป็นต้นตอแรกที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกๆของโลกในเดือนธันวาคมปี 2562 เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

อย่างไรก็ดี รายงานของสถาบันโลวีชี้ว่าไม่มีผู้ใดชนะชัดเจนหากประเมินจากระบบการเมืองว่าระบอบใดจัดการรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ได้ดีกว่ากัน แต่ชี้ว่าประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน มีความได้เปรียบมากกว่าในการรับมือกับโรคระบาด