‘หมอยง’ สรุป 1 ปี โควิด-19 ชี้เป็นวิ่งมาราธอนถึงครึ่งทางแล้ว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ถึงบทสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความว่า

โควิด 1 ปี ผ่านไป

เราวิ่งมาราธอนมาถึงครึ่งทางแล้ว เราน่าจะผ่านจุดสูงสุดและกำลังวิ่งในครึ่งทางหลัง ใน 1 ปีที่ผ่านมาสรุปได้ว่า

1. โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่รุนแรงและกว้างขวางทั่วโลกในรอบ 100 ปีนับจากไข้หวัดใหญ่สเปน

2. โรคได้ระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกพบในทุกประเทศเริ่มจากอู่ฮั่น

3. ทางตะวันตกระบาดมากกว่าทางตะวันออก ทั้งนี้เพราะทางตะวันออกน่าจะกลัวตายมากกว่าทางตะวันตก มีการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด

4. ไม่ว่าจะปิดประเทศหรือไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจตกต่ำกันถ้วนหน้า การเดินทางระหว่างกันและกันลดลง

5. ความรุนแรงของโรคจะพบในผู้สูงอายุและมีปัจจัยเสี่ยงในเด็กความรุนแรงน้อยกว่าผุ้ใหญ่และผู้สูงอายุ

6. อัตราตายโดยเฉลี่ยประมาณ 2% หรือน้อยกว่า หลังจากที่ทั่วโรคมีรายงาน 100 ล้านคน เชื่อว่ามีผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการตกสำรวจจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 2.1 ล้านคน

7. ประมาณหนึ่งในสาม การติดเชื้อเป็นแบบไม่มีอาการจึงยากต่อการควบคุมโรค

8. วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ได้มีแนวทางปฏิบัติจนคุ้นเคย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่าง

9. ผลของวิถีชีวิตใหม่ ทำให้โรคระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างมาก

10. เราเริ่มเห็นแสงในการควบคุมหลังจากการพัฒนาวัคซีนและนำไปใช้ได้จริง โดยเริ่มตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมจนปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 60 ล้านโดส

11. ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ต่อจำนวนประชากรมากที่สุด (1 ใน 3 ของประเทศ) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ใน 4 ของประชากรใช้วัคซีนเชื้อตายของจีน Shinopham

12. ประสิทธิผลการป้องกันโรคในอิสราเอลเริ่มเห็นผล ในผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีที่ได้รับวัคซีนมีป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ไม่ได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 60

13. แสดงว่าวัคซีนลดการป่วยที่รุนแรง อย่างน้อยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิต และเชื่อว่าวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดที่ใช้อยู่ในขณะนี้ก็เช่นเดียวกันสามารถลดความรุนแรงของโรคได้

14. การลดการระบาดโควิด-19 ได้ ประชากรอย่างน้อยร้อยละ 60 ต้องมีภูมิต้านทานกลุ่ม (Herd Immunity) ภูมิคุ้มกันกลุ่มคิดจากสมการ 1-1/Ro ,Ro คืออำนาจการกระจายโรคที่มีการคำนวณไว้แล้ว อยู่ระหว่าง 2-3 ภูมิคุ้มกันกลุ่มจึงเท่ากับ 1-1/3

15. เด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ขณะนี้ยังไม่ให้วัคซีนเพราะยังไม่มีการศึกษาในเด็กกลุ่มดังกล่าว และการติดโรคในเด็กมีอาการน้อย

16. สตรีตั้งครรภ์ วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ยังไม่แนะนำให้ เว้นเสียแต่ถ้ามีการระบาดมากหรือสตรีนั้นมีความเสี่ยงสูง ก็ให้ชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลได้และผลเสียและให้ข้อมูลให้ผู้รับวัคซีนตัดสินใจ

17. การให้วัคซีนพร้อมวัคซีนอื่นโดยหลักการน่าจะให้ได้ แต่วัคซีนนี้เป็นวัคซีนใหม่ เมื่อเกิดการแทรกซ้อนจะไม่ทราบว่าเกิดจากวัคซีนอะไร จึงแนะนำให้วัคซีนนี้ห่างจากวัคซีนอื่นอย่างน้อย 14 วัน

18. วัคซีนโควิด-19 จะให้ 2 ครั้ง ยกเว้นในอนาคตอาจมีวัคซีนให้เพียงครั้งเดียวหรือ 3 ครั้ง ชนิดของวัคซีนที่ให้ควรเป็นวัคซีนยี่ห้อเดียวกันทั้ง 2 เข็ม ไม่ควรสลับยี่ห้อของวัคซีนจนกว่าจะได้มีการศึกษาแล้ว

19. ถ้าป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ผู้ที่เป็นโควิด-19 แล้วยังมีข้อมูลยังไม่มากพอและพบว่าผู้ที่มีอาการน้อย ภูมิต้านทานต่ำ และตรวจไม่ได้หลัง 6 เดือน ถ้าจะให้วัคซีนจะต้องให้หายป่วยและพ้นการกักตัวแล้ว

ส่วนมากหลังหายจากโรคโควิด-19 ใน 3 เดือนแรก โอกาสจะเป็นโรคเป็นแล้วเป็นอีกเกิดขึ้นได้น้อยมาก การให้วัคซีนในผู้ที่เป็นโรคมาแล้ว ผู้ที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ การให้วัคซีนในกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาหรือข้อห้าม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนฉีดแต่อย่างใด และการให้วัคซีนในผู้ที่เคยเป็นโรคมาแล้วไม่มีอันตรายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

20. เมื่อให้วัคซีนแล้วมีโอกาสติดเชื้อหรือเป็นโรคได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่มีวัคซีนไหนที่ป้องกันได้ 100% เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจึงมีโอกาสติดโรคและอาจป่วยได้ หลักฐานปัจจุบันเชื่อว่าวัคซีนทำให้อาการป่วยน้อยลง

21. ฉีดวัคซีนแล้วคงจะต้องปฏิบัติตนแบบวิถีชีวิตใหม่จนกว่าประชากรส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดมีภูมิต้านทานและไม่มีการระบาดของโรค ดังนั้นจึงยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และกำหนดระยะห่างของบุคคลและสังคมต่อไป