บอร์ด สปสช. เคาะแล้ว! เพิ่มอีก สิทธิ์ประโยชน์ “บัตรทอง” 2 รายการ

บอร์ด สปสช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ “บัตรทอง” ใหม่ 2 รายการ คุ้มครองเด็กไทยที่มีปัญหาการได้ยิน ตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกกลุ่มเสี่ยง และอุปกรณ์ประสาทหูเทียม

วันที่ 27 มกราคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 มีมติเห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ 2 รายการ คือ

1.การตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง

โดยการวัดการสะท้อนกลับของเสียงที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน (OAE) โดยใช้เครื่องมือใช้วัดการสะท้อนกลับของเสียงที่เกิดขึ้นในหูชั้นใน เพื่อตรวจสอบการทำงานของเซลล์ประสาทว่าปกติหรือไม่ และการตรวจได้ยินระดับก้านสมองแบบคัดกรอง (A-ABR) เป็นการวัดคลื่นประสาทที่เกิดจากการตอบสนองด้วยเสียงกระตุ้น กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 30,434 คน ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายไว้ 12.33 ล้าน

2.การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีที่ตรวจคัดกรองแล้วมีปัญหาหูหนวก

โดยอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือ คาดว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับการรักษาราว 33 คน โดยระหว่างนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการต่อร่องราคาค่าประสาทหูเทียมให้ต่ำกว่าชุดละ 600,000 บาท

“สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยและไม่สูญเสียโอกาสทางสังคม เนื่องการได้ยินเป็นพื้นฐานสำคัญของการพูดและพัฒนาการทางภาษา โดยเฉพาะเด็กในช่วงอายุ 3 ปีแรกของชีวิต หากมีความผิดปกติทางการได้ยินจะส่งผลกระทบโดยตรงกับพัฒนาการทั้งการพูด ภาษา การเข้าสังคม การเรียน ภาวะจิตใจ ความจำ พฤติกรรม อารมณ์ และการสูญเสียโอกาสทางสังคม จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว” นายอนุทิน กล่าว

ทั้งนี้ ภาวะสูญเสียการได้ยินเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ 40% ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม ส่วนอีก 60% เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น การติดเชื้อขณะอยู่ในครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดระหว่างคลอด ได้รับยาที่มีผลต่อหูชั้นใน ได้ยินเสียงดังเป็นเวลานาน เป็นต้น สำหรับประเทศไทย มีรายงานการศึกษาความชุกของการสูญเสียการได้ยินในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 0.2 – 0.5

ขณะที่การศึกษาโครงการทะเบียนประสาทหูเทียมในเด็กแรกเกิดปกติ พบอัตราความพิการทางการได้ยิน 1.7 ต่อเด็กแรกเกิด 1,000 คน ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ยังเป็นผู้พิการทางการได้ยินระดับหูตึงรุนแรงถึงหูหนวก ดังนั้น เมื่อพิจารณาเด็กแรกเกิดทั้งประเทศ จากจำนวน 656,571 คนในปี 2560 คาดประมาณการณ์ว่าจะมีเด็กหูหนวกจำนวน 328 คน ต่อปี