คลังเปิดทาง คนไม่มีสมาร์ทโฟน ยื่นแบงก์รัฐลุ้นเยียวยา “เราชนะ” 7 พันบาท เริ่ม 15 ก.พ.

คนไม่มีสมาร์ทโฟนเฮ เปิดยื่นแบงก์รัฐ ลุ้นรับเงินเราชนะ 7 พันบาท เริ่ม 15 ก.พ. ครม.เคาะมาตรการเยียวยา ลดจ่ายเงินสมทบ 2 เดือน ท่องเที่ยวชี้โควิดทำตกงาน 2 ล้านคน

วันที่ 27 มกราคม 2564 จากกรณีการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อเยียวยาช่วยเหลือ ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะว่า โครงการเราชนะมีผู้ได้สิทธิแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่ต้องลงทะเบียนและรอรับเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.ผู้ที่ใช้ แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่จะถูกคัดกรองอัตโนมัติโดยไม่ต้องลงทะเบียน เมื่อได้สิทธิจะรับเงินผ่าน g-wallet ในแอพพ์เป๋าตัง

และ 3.กลุ่มที่ไม่มีฐานข้อมูล จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 29 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนกลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์ สมาร์ทโฟนนั้น ทางกระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐและกระทรวงมหาดไทย ในการเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของการลงทะเบียน โดยประชาชนในกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าไปติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สถาบันการเงินของรัฐทุกสถาบัน และทุกสาขา ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน วันที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ส่วนรูปแบบการรับเงินและการใช้จ่ายของกลุ่มนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา

จ่ายค่าเช่าบ้านได้-ต้องมีแอพพ์

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับประชาชนกลุ่มปกติ ที่ต้องการนำเงินเราชนะไปใช้จ่ายเป็นค่าเช่า ค่าที่อยู่อาศัยนั้น ถ้าหากทางผู้ให้เช่าไม่ใช่นิติบุคคลก็สามารถลงทะเบียนในฐานะร้านค้าเพื่อรับเงินค่าเช่าได้ ซึ่งเงินช่วยเหลือของโครงการเราชนะ ยืนยันว่าโครงการมีจุดประสงค์เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ประชาชนสามารถนำเงินจากในโครงการมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และนำเงินเก็บที่มีอยู่ไปใช้ในการจ่ายค่าเช่าบ้านแทน ทั้งนี้ ตัวเลข 31.1 ล้านคน ที่ได้สิทธิในโครงการเราชนะนั้น เป็นจำนวนที่คาดว่าครอบคลุมผู้เดือดร้อนทั้งหมดแล้ว แต่ก็ต้องขอดูจำนวนหลังจากการคัดกรองและการลงทะเบียนเสร็จสิ้นก่อนจึงจะเห็นตัวเลขที่แท้จริง และพิจารณาต่อได้ว่าจะขยายหรือต้องเพิ่มเติมอะไรในโครงการหรือไม่

นายอาคมกล่าวว่า นอกจากนี้ ในการประชุม 26 มกราคม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้มีมติเห็นชอบการให้กลุ่มบริการขนส่งสาธารณะ อาทิ รถประจำทาง รถไฟฟ้า ที่เป็นนิติบุคคล รวมทั้งรถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง เข้าร่วมในฐานะร้านค้าและบริการในโครงการเราชนะ โดยจะต้องทำการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้ประสานงานกับกระทรวงคมนาคมและธนาคารกรุงไทยในการดูแลเรื่องการลงทะเบียนของกลุ่มบริการขนส่งสาธารณะ

เร่งช่วยลูกจ้างรัฐ-เงินเดือนต่ำ

นายอาคม กล่าวว่า สำหรับการช่วยเหลือ กลุ่มลูกจ้างของรัฐที่มีเงินเดือนต่ำนั้น กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา หาทางช่วยเหลือ โดยเป็นการช่วยเหลือที่แยกออกมาจากโครงการเราชนะ ส่วนจำนวนผู้ที่เป็นลูกจ้างของรัฐที่จะได้รับความช่วยเหลือนั้น กำลังประสานทางกรมบัญชีกลางในการขอข้อมูลบัญชีการจ่ายเงินเดือนของกลุ่มลูกจ้างรัฐ การช่วยเหลือลูกจ้างหรือแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ประมาณ 11.1 ล้านคนนั้น ว่ากลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือในการลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในส่วนของลูกจ้าง จาก 3% หรือส่งเงินสมทบสูงสุด 450 บาท เหลือ 0.5% หรือส่งเงินสมทบสูงสุด 75 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-เดือนมีนาคม แล้ว

เปิดขั้นตอนลงทะเบียนเราชนะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง นายอาคม แถลงข่าวประเด็นเราชนะ เสร็จ เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยได้ชี้แจงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียนสำหรับเข้าร่วมโครงการเราชนะ ที่รัฐบาลจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือไม่เกิน 7,000 บาท ระยะเวลาโครงการ ตั้ง 29 มกราคม-31 พฤษภาคม 2564 สำหรับผู้ที่ไม่มีฐานข้อมูล โดยให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ในวันที่ 29 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ 2564 โดยขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะจะคล้ายกับการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการของรัฐที่ผ่านๆ มา อาทิ มาตรการเราไม่ทิ้งกัน หรือ โครงการคนละครึ่ง

ประกอบด้วย 1.เข้าสู่เว็บไซต์ www.เราชนะ.com ลงทะเบียน สำหรับประชาชน 2.อ่านเงื่อนไข ข้อกำหนดของโครงการเราชนะ และกดยินยอม 3.กรอกข้อมูลส่วนตัวเพื่อลงทะเบียน ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวบัตรประชาชน รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด และเบอร์โทรศัพท์ 4.รอรับรหัสยืนยัน โอทีพี และกรอกรหัสเพื่อยืนยัน เมื่อเสร็จสิ้น ระบบจะระบุว่า ระบบได้รับข้อมูลของท่านแล้ว โดยจะต้องเข้ามาตรวจสอบสิทธิอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป สำหรับผู้เข้าได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการเราชนะโดยอัตโนมัตินั้น เมื่อทำการลงทะเบียนเสร็จ ระบบจะแจ้งเตือนท่านไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

สำหรับกลุ่มที่ได้รับสิทธิเราชนะแล้ว และได้รับเงินผ่าน g-wallet ในแอพพ์เป๋าตัง จะมีขั้นตอนการยืนยันสิทธิ ดังนี้ 1.เข้าสู่แอพพลิเคชั่น เป๋าตัง และกด g-wallet 2.กดเข้าที่ป้ายระบุว่า เราชนะ 3.ยินยอม ข้อตกลงและเงื่อนไข 4.ระบุจังหวัดที่พักอาศัยในปัจจุบัน และยืนยันเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะเลี่ยนเป็น หน้าจอการใช้จ่าย ซึ่งรูปแบบและวิธีการใช้คล้ายคลึงกับโครงการคนละครึ่ง

แจงขั้นตอนสำหรับร้านค้า

สำหรับร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนได้ที่ เว็บไซต์ www.เราชนะ.com เช่นกัน โดยร้านธงฟ้าและร้านในโครงการคนละครึ่งนั้นไม่ต้องทำการลงทะเบียนใหม่ วิธีการใช้จ่ายของในร้านธงฟ้าสำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ผ่านเครื่องรูดบัตร โดยสิทธิผ่านโครงการเราชนะ เริ่มใช้ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ รวมทั้งรับเงินผ่านแอพพลเคชั่น ถุงเงิน ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่เงินในโครงการเราชนะผ่าน g-walletในแอพพ์เป๋าตัง เหมือนกับการรับเงินในโครงการคนละครึ่ง

ขณะที่ขั้นตอนการรับเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ของร้านธงฟ้า ร้านในโครงการคนละครึ่งและเราชนะ ดังนี้ 1.เข้าสู่แอพพ์เป๋าตัง เลือก ปุ่มเราชนะ 2.เลือกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.สแกนบัตร ผ่านกล้องโทรศัพท์มืถือ ในแอพพ์ 4.กรอกจำนวนเงิน 5.ยืนยันการชำระเงิน 6.ใส่รหัสพิน 6 หลักของผู้ถือบัตรหรือสแกนใบของผู้ถือบัตร และ 7.ทำรายการสำเร็จ

ท่องเที่ยวชี้โควิดทำตกงาน2ล.คน

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 รอบใหม่ ว่า ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวสูงมาก ประเมินว่าอาจทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวเสี่ยงตกงานสะสมมากกว่า 2 ล้านคน จากแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่ามีรวมประมาณ 4 ล้านคน แต่เป็นเพียงตัวเลขประมาณการเท่านั้น ซึ่งจำนวนแรงงานจริงเชื่อว่ามีมากกว่านี้

นายชำนาญ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 4/2563 (ตุลาคม-ธันวาคม) อยู่ที่ระดับ 62 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2563 ที่อยู่ในระดับ 60 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการกำลังใจ และโครงการคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 1/2564 (มกราคม-มีนาคม) อยู่ในระดับ 53 ต่ำกว่าระดับปกติมาก เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 4 และคาดว่าจะใช้เวลาในการควบคุมการระบาดโควิด-19 ประมาณ 1-2 เดือน

นายชำนาญ กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ต้องการเสนอให้ภาครัฐจัดตั้งธนาคารแรงงานขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลจริงของแรงงานทั้งหมดในภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้บอกได้ชัดเจนว่าขณะนี้มีแรงงานทั้งหมดจำนวนเท่าใด แบ่งเป็นกลุ่มยังมีงานทำอยู่เท่าไร และตกงานเท่าไร เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

เคาะลดจ่ายเงินสมทบ2เดือน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติพิจารณาเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง ให้แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2563 โดยเงินสมทบงวดเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ให้จัดเก็บเงินสมทบฝ่ายนายจ้างในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จัดเก็บในอัตราเดือนละ 38 บาท

สำหรับรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 การลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนในครั้งนี้ จะมีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมลดลงจากร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน เหลือร้อยละ 0.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบลดลงจากในอัตราเดือนละ 278 บาท เหลือในอัตราเดือนละ 38 บาท โดยให้เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564