‘ก้าวไกล’ กังขาเหลื่อมล้ำ ผู้ประกันตน ม.33 กระทับหนักกลับไม่ได้เยียวยา ขู่ รมว.แรงงานหากยังเฉยมีเชือด!

วันที่ 26 มกราคม 2564 สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะปีกเเรงงาน พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเครือข่ายสิทธิแรงงานเพื่อประชาชนและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อยู่ในระบบของประกันสังคม รวมตัวกันไปเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล ให้เยียวยาผู้ใช้เเรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ อย่างถ้วนหน้า เสมอภาคและเท่าเทียมกันบริเวณ หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้ ( 26 มค. 64 )
.
สุเทพ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือการเรียกร้องของผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคมที่ถูกตัดออกจากการเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามาตั้งเเต่การระบาดของโควิดในรอบแรก เนื่องจากรัฐบาลอ้างว่า ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้ไปใช้เงินสะสมในส่วนของประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคม มีระเบียบเเละเงื่อนไขในการรับเงินเยียวยาหรือเงินกรณีที่เกิดวิกฤติโควิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน ได้ระบุไว้ว่า การเยียวยาในรอบเเรกที่รัฐให้เงินเยียวยาเดือนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน คือ 7,000 บาทนั้น รัฐเยียวยาไปทั้งหมดเพียง 31 ล้านคน แต่ยังมีการตกหล่นเเละได้อย่างไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะพี่น้องผู้ใช้เเรงงานในระบบประกันสังคมในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ซึ่งเป็นลูกจ้างในธุรกิจหน่วยงานทุกภาคส่วนที่มีมากถึง 11 ล้านคน รวมไปถึงเเรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคมประมาณ 1.5 ล้านคน ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย
.
ในฐานะที่ตนเป็นประธานกรรมาธิการการเเรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการได้ส่งเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าวไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค. ) เพื่อให้มีการพิจารณาให้ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน ได้รับการเยียวยาด้วย และเรื่องนี้จะเข้าสู่การหารือเป็นวาระเร่งด่วนของคณะกรรมาธิการการเเรงงานในวันที่ 27 ม.ค. ในส่วนของปีกเเรงงานของพรรคก้าวไกล ขณะนี้ได้จัดประชุมเครือข่ายเเรงงานในทุกภาคส่วน เพื่อรับฟังปัญหาและนำปัญหาเหล่านี้เข้าสู่การแก้ไข รวมถึงจะนำไปใช้เป็นประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในกลางเดือนกุมพาพันธ์
.
“ขอฝากไปยังนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเเรงงาน จากการที่เคยหารือไปหลายครั้งให้นำเรื่องมาตรการเยียวยาแรงงานในระบบให้เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายสุชาติ อ้างว่า การดำเนินการในส่วนของตนเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้เเรงงานอยู่เเล้ว เช่น เรื่องของการลดเงินสมทบประกันสังคมหรือเงื่อนไขการได้รับชดเชยในกรณีว่างงาน เเต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ใช้แรงานในระบบ 11 ล้านคน จะต้องตกหล่นจากการรับการเยียวยาเหมือนประชาชนคนอื่นๆ เพราะในข้อเท็จจริงยังมีผู้ประกันตนในระบบมีรายได้ลดลงมากแต่ก็ต้องทำเพื่อรักษางานไว้ จึงอยากให้นายสุชาติ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สะท้อนปัญหาดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เป็นรูปธรรมเเละเยียวยาประชาชนได้อย่างทั่วถึง”
.
ขณะที่ วรรณวิภา กล่าวว่า กลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรอบเเรกของภาครัฐ ซึ่งการบริหารของรัฐรอบแรกต่อกรณีนี้ทำให้เงินประกันสังคมไหลออกอย่างมหาศาล ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นเงินสะสมของลูกจ้างเเละนายจ้างเพื่อไว้ใช้กรณีฉุกเฉิน 7 อย่าง ตามประกาศเเละระเบียบของประกันสังคม อาทิ รักษาพยาบาล ชราภาพ คลอดบุตร และว่างงาน แต่ตอนนี้ได้ถูกนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้เพื่อเยียวยาแทนรัฐบาล เเละในปัจจุบันผู้ประกันตนในส่วนนี้ลดน้อยลง ทำให้เงินในกองทุนลดลง สวนทางกับความต้องการของคนที่ใช้เงินจากกองทุนนี้มากขึ้น ซึ่งการบริหารเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับกองทุนประกันสังคมในอนาคต เมื่อมีการเยียวยารอบ 2 คนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการประกาศเยียวยาจากภาครัฐอีก นวันนี้จึงมีที่ผู้ประกันตนออกมาเรียกร้องสิทธิของเขา

“ทำไมรัฐไม่เยียวยา ตกหล่น และเป็นเหตุให้ต้องนำเงินของเขาที่สะสมไว้ในอนาคตมาใช้ ทั้งที่รัฐควรจะต้องเยียวยาอย่างทั่วหน้า เเละให้เงินเยียวยาเป็นเงินสดเหมือนรอบแรก แรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ควรจะต้องได้รับการดูแลเหมือนประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิดังกล่าว รวมไปถึงสิทธิต่างๆที่จะได้รับจากรัฐในการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า เเละเท่าเทียม” วรรณวิภา กล่าว