‘สตาร์ลิงก์’ ฝันใหญ่ของ ‘อีลอน มัสก์’ สร้างโครงข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียมคลุมทั้งโลก

สเปซเอ็กซ์ เอกชนด้านอุตสาหกรรมอวกาศชื่อดังในสหรัฐอเมริกา สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการถ่ายทอดสดการปล่อยดาวเทียมในโครงการสตาร์ลิงก์ชุดใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตดาวเทียมที่มีอัตราการตอบสนองสูงให้ชาวโลก

การถ่ายทอดสดดังกล่าวติดตามได้หลายช่องทาง เช่น ทาง แชนเนลของนาซ่าสเปซไฟลต์ในเว็บไซต์ยูทูบตรงกับเวลา 08.00 น. วันที่ 20 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น (GMT-5) หรือเวลา 19.00 น. ของวันที่ 20 ม.ค. ตามเวลาไทย จากศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ก่อนหน้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ของนายโจ ไบเดน เพียงไม่กี่ชั่วโมง

สตาร์ลิงก์ (Starlink) เป็นโครงการสร้างเครือข่ายดาวเทียมหลายดวงของทางสเปซเอ็กซ์ มีนายอีลอน มัสก์ นักประดิษฐ์และมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ และเทสลา ผู้พัฒนายนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เป็นผู้ต้นคิด นายมัสก์ต้องการให้สเปซเอ็กซ์เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมรายใหม่ของโลก ที่มีจุดเด่นกว่าค่ายอื่นด้วยอัตราการตอบสนองที่สูง (ค่าปิงต่ำ)

สำหรับค่าปิงนั้นเป็นอัตราการตอบสนอง (ยิ่งใกล้ศูนย์ ยิ่งดี) ส่วนใหญ่ระหว่างผู้ใช้กับเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ (ISP) มักมีหน่วยเป็นมิลลิวินาที (ms) โดยหากค่าปิงสูงจะทำให้ความล่าช้าในการที่ข้อมูลจะเดินทางไปมาระหว่างกันช้าลงตามไปด้วย เช่น อาการ Lag ในการเล่นเกมออนไลน์ เป็นต้น

กล่าวคือ ความเร็วในการรับส่งข้อมูลนั่นเอง !!

ค่าปิงต่ำซึ่งเป็นความพิเศษของสตาร์ลิงก์นั้น โดยปกติแล้วดาวเทียมของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมปัจจุบันมีอายุการ ใช้งานราว 15 ปี อยู่ที่ระดับสูงจากพื้นโลกประมาณ 35,800 กิโลเมตร บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร เรียกว่า ระดับวงโคจรค้างฟ้า (geosta tionary orbit) เป็นอินเตอร์เน็ตประเภทที่คนทั่วไปไม่ได้ใช้กันตามบ้านเรือนมากเท่าแบบโยงสาย

ระดับความสูงดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ค่าปิงของสัญญาณสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 550ms ส่งผลให้ ISP ปัจจุบัน ที่มีบริการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมไม่สามารถให้บริการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมความเร็วสูงได้เหมือนกับสตาร์ลิงก์ได้

วิธีการที่นายมัสก์คิดแก้ไข คือ การสร้างดาวเทียมหลายพันดวงขึ้นไปไว้บนระดับวงโคจรที่ต่ำลงมา คือราว 550 ก.ม. หรือต่ำกว่านั้น ทำให้ค่าปิงต่ำลง ทั้งยังมีอายุการใช้งานต่ำเหลือประมาณ 5 ปี ทำให้อัพเกรดและส่งรุ่นใหม่ขึ้นไปได้บ่อย ผสานกับเทคโนโลยีการปล่อยดาวเทียมที่ประหยัดต้นทุนของสเปซเอ็กซ์ รวมทั้งขนาดที่เล็กของสตาร์ลิงก์และการออกแบบเพื่อทำให้ส่งขึ้นไปได้ทีละหลายๆ ดวงในการปล่อยครั้งเดียว ไม่เหมือนกับดาวเทียมสื่อสารทั่วไปที่ปล่อยได้ทีละดวงเท่านั้น

การเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างดาวเทียมสตาร์ลิงก์ยังเป็นแบบการส่งข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ หรือเลเซอร์-อินเตอร์ลิงก์ ไม่ต้องส่งข้อมูลกลับลงมายังสถานีรับส่งสัญญาณบนโลกเพื่อส่งกลับไปให้ดาวเทียมที่ต้องการเหมือนปัจจุบัน ส่งผลให้การส่งผ่านข้อมูล มีความรวดเร็วขึ้น และสามารถให้บริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ที่ไม่มีสถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดินได้ เช่น กลางมหาสมุทร เป็นต้น โดยที่ผ่านมา ทางสเปซเอ็กซ์ทดสอบส่งดาวเทียมในโครงการสตาร์ลิงก์ที่ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีเลเซอร์-อินเตอร์ลิงก์แล้ว 2 ดวง และเพิ่งประกาศความสำเร็จการทดสอบเชื่อมต่อระหว่างกันไปเมื่อ 20 ก.ย. 2563

ระดับวงโคจรที่ต่ำของสตาร์ลิงก์ยังทำให้การสั่งทำลายดาวเทียมทำได้รวดเร็วกว่าจากเดิมที่ใช้เวลานานหลายปีในการสั่งให้ดาวเทียมลดระดับลงมาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกจนมอดไหม้ หมดไป เหลือเพียงเวลาไม่กี่สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้วงโคจรของโลกรก และลดความเสี่ยงของการชนกัน

การปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงก์ดังกล่าวถือเป็นการปล่อยจรวดครั้งที่ 2 ในปีนี้ของสเปซเอ็กซ์ ภายใต้ชื่อภารกิจ Starlink v1.0 L16

ปัจจุบัน สเปซเอ็กซ์มีดาวเทียมสตาร์ลิงก์อยู่ในวงโคจรของโลกแล้วเกือบ 1,000 ดวง และอยู่ในช่วงทดสอบการให้บริการอินเตอร์เน็ตดาวเทียมเฉพาะในสหรัฐ ภาคใต้ของแคนาดา และบางพื้นที่ของทวีปยุโรปด้วยแบนด์วิธ (อัตราการส่งข้อมูล) 200 เมกะบิตต่อวินาที (mbps)

โดยโครงการทดสอบนั้นอนุญาตให้สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของสตาร์ลิงก์ ภายใต้ชื่อโครงการแฝงอารมณ์ขันของ นายมัสก์ว่า “Better Than Nothing Beta” หรือแปลว่า ดีกว่าไม่มี(เน็ตใช้) เบต้า มีค่าเราเตอร์ และเทอร์มินอลดาวเทียม 500 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 15,000 บาท และค่าบริการรายเดือน 99 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 300 บาท

ผลการทดสอบของผู้ร่วมโครงการเบื้องต้นพบว่าสามารถทำอัตราการส่งข้อมูลได้มากกว่าเท่ากับ 100 mbps ด้วยค่าปิงราว 20-40 ms ซึ่งดีกว่าอินเตอร์เน็ตดาวเทียมของค่ายอื่นอย่างมาก

ใครที่ต้องการลองใช้ก็ลองไปสมัครกันดูได้ที่เว็บไซต์ www.starlink.com