“ประยุทธ์” แจงไม่เคยใช้ ม.112 ปิดปากใคร วอนอย่าโยงการเมือง

วันที่ 25 มกราคม 2564 ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมสภากลาโหมต่อกรณี การชุมนุมเกี่ยวเนื่องกับวัคซีนโควิด-19 ว่า บอกว่ายังไม่ใช่เวลานี้ ต้องเข้าใจว่าการที่จะใช้วัคซีนต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะเราต้องระมัดระวัง ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เราก็ทำตามไทม์ไลน์ ที่เรากำหนดอยู่แล้ว ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ซึ่งรัฐบาลก็พยายามทำอย่างเต็มที่ ด้วยหลักทางด้านสาธารณสุข และกรรมการโรคระบาดและ อย.ต้องมีความชัดเจนเกิดขึ้น

“ไม่อยากให้เกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง หรือเรื่องอื่นเพราะอันตราย เนื่องจากเราไม่ใช่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์วัคซีน เราเพียงแต่อยู่ในวงโซ่การผลิตของเขา และของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ภายนอก และการนำเข้ามา จำเป็นต้องมีโรงงานในการผลิต ซึ่งเป็นการรับจ้างการผลิตบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ขออย่านำไปเกี่ยวข้องกับสถาบันอะไรทั้งสิ้น ให้เป็นเรื่องของการดำเนินการทางธุรกิจ เนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทที่อยู่ในพระปรมาภิไธย รัฐบาลจำเป็นต้องขอพระราชทานเพื่อเข้ามาอยู่ในการพิจารณาการผลิตวัคซีน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว และว่า

ขณะเรื่องของงบประมาณรัฐบาลก็ดำเนินการทั้งสิ้นในการเพิ่มขีดความสามารถของโรงงาน ทั้งนี้ มีอยู่หลายโรงงานที่เสนอมา ผลิตวัคซีน และได้ตรวจสอบทุกโรงงานแล้วพบว่ามาตรฐานที่ดีที่สุด ก็คือของสยามไบโอไซน์ คือสิ่งที่อยากชี้แจงให้ทราบไม่ได้เกี่ยวกับอะไรทั้งสิ้น อยากให้เข้าใจตรงนี้ เรื่องการชุมนุมก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้เกิดผลกระทบกับคนอื่นแล้ว อย่าทำผิดกฎหมายซึ่งรัฐบาลก็รับได้

เมื่อถามว่า ต่อไปนี้จะมีการบังคับใช้กฎหมาย 112 ทุกรายใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนละเรื่องกันต้องเข้าใจว่ากฎหมายมีทุกมาตรา ที่ผ่านมาในช่วงแรก ได้ให้โอกาส

“ไม่ต้องการใช้ ม.112 ปิดปากคน หรือทำร้ายใครทั้งสิ้น ต้องไปดูที่ว่าสิ่งที่เขาทำ มาทำซ้ำมากี่ครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเด็กหรือใครก็ตาม ก็ผ่านการให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ หลายคนอาจจะมีอยู่หลายคดี ที่ต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งเช่นเดียวกับทุกคดีที่มีการดำเนินการตามกฎหมาย หากคิดว่าตัวเองถูกกฎหมายก็ต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรม และรัฐบาลไม่ต้องการที่จะเอาเรื่องนี้มาพันกับเรื่องการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ตราบใดก็ตามที่มีการทำความผิดทุกคนก็ต้องได้รับการลงโทษ ตามกฎหมายไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่อยากให้เอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นสำคัญและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า การชุมนุมจะส่งผลกระทบ ไทม์ไลน์เรื่องวัคซีนที่วางเอาไว้จะเลื่อนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ‘ก็นั่นน่ะสิ อย่านำมาเกี่ยวกับการเมือง วันนี้การเจรจาการตกลงก็เป็นไปได้ด้วยดี พอเราประโคมข่าวเรื่อยๆ ก็จะเกิดปัญหาความหวาดระแวง ก็ไม่อยากให้ไปอยู่ในเรื่องของการเมือง นักการเมืองก็ต้องระมัดระวังด้วย การพูดจาอะไรต่างๆ ออกไปบางครั้งทำให้เกิดผลกระทบ ซึ่งตอนนี้ยังคาดว่าเราชี้แจงทำความเข้าใจกับเขาได้ เพราะฉะนั้นคนของเราเองอย่าทำในเรื่องเหล่านี้เรามีผลกระทบกับคนทั้งประเทศ ในการที่จะได้รับวัคซีนเพื่อฉีดตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ ตาม Timeline ของเรา หากทําให้เกิดความเสียหายทุกคนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบตรงนี้ด้วย ไม่เช่นนั้นรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้

เมื่อถามว่า นายธนาธร เรียกร้องให้เปิดรายละเอียดเอกสารการจัดซื้อวัคซีน พล.อ ประยุทธ์กล่าวว่า รายละเอียดต่างๆ ให้ไปว่ากันในสภา ซึ่งจะมีคนชี้แจงอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่า นายธนาธร พร้อมขอโทษ หากเข้าใจผิด พล.อ.ประยุทธกล่าวว่า “ไม่ต้อง ผมคิดว่าผมไม่ได้ผิดอะไร”

เมื่อถามว่ามีเหตุผลอะไรที่ใช้ ม.112 แจ้งความดำเนินคดีกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พล.อ.ประยุทธ์ต่อว่า ไม่ได้เลือก หากการดำเนินการเข้ากับกฎหมายใดก็แจ้งกฎหมายนั้น ซึ่งก็มีทั้งหมด 112 ม.116 มีอยู่หลายมาตรา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากผิดตรงไหนก็ต้องโดน ถ้าไม่อยากถูกดำเนินคดีก็อย่าทำผิดกฎหมายมีให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

“ไม่อยากให้ไปให้เครดิตในเรื่องเหล่านี้ ให้เครดิตกับคนที่ทำความผิดโดยเจตนา ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เพราะเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ผมได้ย้ำไปว่าให้เจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย และทุกคนก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากคิดว่าตัวเองไม่ผิด ก็ไปสู้คดีกันไป ก็เช่นเดียวกับคดีอื่น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายอาญามาตรา 112 มักถูกมองเป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมาตลอดหลายทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีเพิ่มขึ้นทั้งหลังการรัฐประหาร 2557 และล่าสุดคือช่วงการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ปี 2563 ที่ออกมาตั้งคำถามต่อประเด็นที่อ่อนไหวของสังคมไทยจนเกิดปรากฎการณ์ “ทลายเพดาน” มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและตรงไปตรงมาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
สำหรับ คดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังมีนักโทษที่จำคุกในข้อหา ม.112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง 6 ราย (ม.116 อีก 1 ราย) นอกจากจำนวนผู้ต้องหาคดีที่เพิ่มขึ้น ยังมีคนที่ได้รับโทษเกี่ยวกับความผิดลักษณะหมิ่นประมาทประมุขของรัฐที่สูงมากจนน่าตกใจคือกรณีของอัญชัญ ที่ต้องโทษจำคุกถึง 43 ปี จากการแชร์คลิปเนื้อหาที่ฝ่ายรัฐไทยมองว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 55 ราย ใน 41 คดี (นับคดีที่มีผู้ได้รับหมายเรียก แต่ยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย) ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องการชุมนุมทางการเมืองที่ออกมาขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
แม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียง ก็ถูกตั้งข้อหาดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็น อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงชื่อดังและผู้มีจุดยืนสนับสนุนการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากกรณีเปิดเผยความเชื่อมโยงวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้ากับบริษัท สยามไบโอไซเอนท์ ที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงผลประโยชน์ทับซ้อนและการใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการเมือง ท่ามกลางคำถามถึงความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนที่ไทยกำหนดไว้เพียงไม่กี่ตัว ในขณะที่อีกหลายประเทศรับวัคซีนจากหลายบริษัทผู้พัฒนาที่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนที่สูง