ศบค.จ่อชง ‘คลายล็อก’ 31 ม.ค. นี้ ประเมินสถานการณ์ ‘โควิด’ ดีขึ้น 

จากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกรอบ เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว (2563) ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (24 ม.ค.) พบว่าเริ่มมีแนวโน้มคลี่คลายไปทิศทางที่ดีขึ้น ต่อมา เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 ชุดเล็ก โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยกรอบการประชุม จะเป็นการประเมินสถานการณ์ก่อนถึงวันที่ 31 มกราคม วางแผนการออกแบบพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เสี่ยง และประเมินสถานการณ์เพื่อตัดสินใจว่าจะผ่อนคลายหรือเข้มมาตรการใดบ้าง โดยจะนำข้อเสนอของแต่ละฝ่ายมาพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งการเปิดเรียน การเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด

รวมถึงการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดตลาดกลางกุ้งที่สมุทรสาคร ตามกำหนดวันที่ 26 มกราคม รวมถึงประเด็นอื่นๆ ซึ่งข้อสรุปทั้งหมดจะนำเข้า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ วันจันทร์ที่ 25 มกราคมนี้ และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 มกราคมต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า วันนี้ได้หารือกันในเรื่องหลักการแต่ต้องดูข้อมูลรายละเอียดในสัปดาห์หน้า เพื่อดูว่าข้อมูลมีความสอดคล้องกับแนวโน้มที่คิดไว้หรือไม่ ถ้าสอดคล้องกันแสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เหลือจุดที่ต้องให้ความสำคัญคือ ที่จ.สมุทรสาคร ส่วนมาตรการที่จะผ่อนคลายต่างๆ ต้องดูสถานการณ์สัปดาห์หน้าเช่นกัน

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ของประเทศไทยถึงแม้ว่า 3 วันล่าสุด จะมีการเพิ่มขึ้นของจํานวนผู้ติดเชื้อ แต่โดยแนวโน้มจึงเชื่อว่ายังอยู่ในขอบเขตที่ทิศทางไม่ได้เปลี่ยนเป็นพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาพของแต่ละจังหวัดที่มีการลดลงเห็นชัดเจน จึงมีแนวโน้มว่าจะปรับมาตรการให้เหมาะสมในการผ่อนปรนผ่อนคลาย

“เราไม่ต้องการควบคุมให้เป็นศูนย์ราย เพราะจะทำให้การดำเนินชีวิตกิจกรรมเศรษฐกิจไปต่อได้ยาก จึงไม่ใช่เป้าหมาย ดังนั้นจะต้องบาลานซ์กันและสามารถดูแลการควบคุมได้ ในขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปด้วยดี จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการควบคุมการระบาดในครั้งนี้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

ขณะเดียวกัน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยหลังจาก หารือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา ใน 3 ประเด็นตอนหนึ่ง ระบุว่า

สำหรับการการจัดหาวัคซีนล่าช้า ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการ จัดหาวัคซีนมานานแล้ว ตั้งแต่กลางปี 2563 ขณะนี้ประเทศไทยได้วัคซีนจาก 2 แหล่ง คือ แหล่งที่ 1 ระยะเร่งด่วน จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด เป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน คาดว่าจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ แหล่งที่ 2 จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด คาดว่าจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564

ที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษาถึงรายละเอียด ความปลอดภัย ความคุ้มค่าเพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ส่วนกรณีวัคซีนโควิดของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตวัคซีน มีเป้าหมายจำนวน 3,000 ล้านโดสต่อปี แต่ไม่สามารถดำเนินการผลิตฝ่ายเดียวได้ จึงต้องหาพันธมิตรที่มีศักยภาพของบุคลากรและมีเทคโนโลยีที่พร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี

ก่อนหน้านี้ได้มีการมาสำรวจบริษัทต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในประเทศไทย และพบว่า บริษัท สยามไบโอ ไซเอนซ์ จำกัด มีขีดความสามารถเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ได้ และเป็นบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร แอสตร้าเซนเนก้าจึงเลือกที่จะร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด