วัคซีนโควิด-19 : ‘อนุทิน’ เมินเปิดสัญญาจัดซื้อ อ้างนอกเหนืออำนาจรัฐ ‘ประยุทธ์’ อนุญาตเอกชนนำเข้าได้

วันที่ 24 มกราคม 2564 ประเด็นวัคซีนโควิด-19 ที่กลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมไทย โดยเฉพาะการตั้งคำถามถึงข้อตกลงที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและการกระจายวัคซีนเพื่อหวังผลความนิยมทางการเมือง ท่ามกลางข้อกังขาถึงความล่าช้าในการได้รับวัคซีนในขณะที่หลายประเทศทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมากแล้ว รวมทั้งการปรากฎตัวล่าสุดของแกนนำคณะก้าวหน้าอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ข้อสงสัยเรื่องการแก้ไขวิกฤตของประชาชนที่ล่าช้า กลับกลายเป็นคดีที่เป็นภัยต่อความมั่นคงเมื่อมีการฟ้องเอาผิดด้วยมาตรา 112

ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงข้อกล่าวหาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัส โควิด-19 โดยยืนยัน การดำเนินการไม่ได้ล่าช้ากว่าประเทศอื่น แต่ต้องยึดหลักความปลอดภัย และคุณภาพของวัคซีน ซึ่งการจัดซื้อมีขั้นตอน ไม่ใช่สั่งซื้อแล้วจะได้ของทันที อีกทั้งการจัดซื้อวัคซีนยังติดเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้าง ที่การจ่ายเงินซื้อจะต้องมีสินค้าอยู่จริงซึ่งแตกต่างกับบางประเทศที่ยอมเสี่ยงจ่ายเงินไปก่อน โดยยังไม่ทราบว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะหากเกิดความเสียหายเงินที่จ่ายไปก็จะสูญเปล่า

ส่วนกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้เปิดสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ที่ทำกับบริษัท แอสตร้าเซนเนกา จำกัด กับ สยามไบโอไซเอนซ์ นั้น เห็นว่า ไม่สามารถทำได้เนื่องจากคู่สัญญาเป็นเอกชนทั้งคู่ และอยู่เหนือการควบคุมของรัฐ ยืนยันไม่ใช่วัคซีนผูกขาด เพราะมีการเจรจาซื้อหลายบริษัท ซึ่งเรื่องวัคซีนคนที่รู้ดีที่สุดคือหมอ และ คณะกรรมการวิชาการที่ตั้งขึ้นมาศึกษาการใช้วัคซีนโดยเฉพาะ รัฐมนตรีมีหน้าที่เห็นชอบตามที่คณะกรรมการวิชาการเสนอเรื่องมา ซึ่งข้อมูลที่นายธนาธรนำมาเปิดเผยปราศจากข้อเท็จจริง

นายอนุทิน ยังเปิดเผยถึงกรณีที่ไม่มีบริษัทผลิตวัคซีนอื่นมาขอจดทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) ไทย ว่า เราไม่ได้ปิดกั้นแต่ การจดทะเบียนช่วงนี้การใช้ตามสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ อียูเอ ไม่ใช่การจดทะเบียนเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมย้ำถึงนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น

ไฟเขียวเอกชนจัดซื้อวัคซีนได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนกับ อย.ก่อน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีน โควิด-19 ได้ โดยขอให้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถูกต้อง

นายอนุชา กล่าวว่า อย. จะพิจารณาตรวจสอบวัคซีนที่จะขอนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง โดยทาง อย.จะประเมินทั้งในด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และด้านประสิทธิผลของวัคซีน ว่าเหมาะสมกับคนไทย โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐานเพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า โดย อย. ได้ปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ด้วยการระดมเพิ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด แต่ยังคงไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน

“การจัดหาวัคซีนป้องกัน โควิด-19 นี้ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความต้องการใช้สูงทั่วโลก อีกทั้งวัคซีนที่มีอยู่ เพิ่งเสร็จจากงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท ดังนั้น การนำเข้าวัคซีนต้องมั่นใจว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล เนื่องจากวัคซีนที่ อย. รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง” นายอนุชา กล่าว