กมธ.แก้ไขรธน.เดินหน้าแบบปิดลับ ห้ามถ่ายทอดสด ‘โรม’ ซัดปิดหูปิดตาปชช. ไม่ต่างกับตอนร่างฉบับปี 60

ภาพ : ไอลอว์

‘ไอลอว์’ เผย ประชุมแก้ไขรธน.วาระสอง เดินหน้าแบบปิดลับ ปฏิเสธถ่ายทอดสดให้เครือข่ายรณรงค์รับชม แถมรปภ.เชิญออกจากรัฐสภา ส.ส.ก้าวไกล อัดยับ น่าอัปยศอดสู!

วันที่ 22 มกราคม 2564 โครงการกฎหมายเพื่ออินเตอร์เน็ตประชาชนหรือไอลอว์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเล่าบรรยากาศการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กลับมาประชุมอีกครั้ง หลังต้องหยุดลงโดยอ้างสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า

การประชุมวาระสอง #แก้รัฐธรรมนูญ เดินหน้าต่อไปในห้องประชุมที่ปิดลับ หลังเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ ขออนุญาตถ่ายทอดสดการประชุมจากหน้าห้อง แต่ถูกปฏิเสธ โดยยังไม่ได้รับการแจ้งเหตุผลและคำอธิบายที่ชัดเจน แถมยังถูก รปภ. เชิญออกนอกอาคารรัฐสภาทันที

22 มกราคม 2563 เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ CALL ทำหนังสือถึงวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากในวันนี้มีการประชุมของรัฐสภาในวาระที่สอง ซึ่งจะถกเถียงลงรายละเอียดกันทีละมาตรา ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย

จารุวรรณ สาทลาลัย เจ้าหน้าที่เครือข่าย CALL เล่าว่า ได้เดินทางไปถึงห้องประชุมกรรมาธิการ ชั้น 6 อาคารรัฐสภาเกียกกายตั้งแต่เวลาประมาณ 8.30 พร้อมทีมงานและอุปกรณ์ถ่ายทอดสด และยื่นหนังสือขออนุญาตถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ให้ประธานกรรมาธิการก่อนที่การประชุมจะเริ่มในเวลา 9.30 สาเหตุที่ต้องมายื่นหนังสือล่วงหน้า เพราะเมื่อวานนี้ได้มาตั้งกล้องถ่ายทอดสดแล้วแต่เกิดความสับสน จึงถ่ายทอดสดไปได้ไม่ตลอด

จารุวรรณ เล่าย้อนว่า เครือข่าย CALL เห็นความสำคัญที่ประชาชนควรได้ทราบรายละเอียดของการถกเถียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทราบมาว่า ในการประชุมกรรมาธิการแต่ละนัด จะมีเจ้าหน้าที่บันทึกวิดีโอและถ่ายทอดออกมายังจอโทรทัศน์ที่หน้าห้องประชุมอยู่แล้ว จึงอยากประสานงานเพื่อขอเข้าถึงสัญญาณการถ่ายทอดดังกล่าว แต่ประสานงานเบื้องต้นแล้วไม่ได้รับอนุญาต ได้รับแจ้งเพียงว่า สามารถมาถ่ายต่อจากจอโทรทัศน์หน้าห้องอีกทอดหนึ่งได้ และได้รับแจ้งว่าสื่อมวลชนก็ใช้วิธีการเดียวกันในการติดตามการประชุม

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 จึงเดินทางไปที่อาคารรัฐสภาเป็นครั้งแรก ได้พบและขออนุญาตประธานกรรมาธิการด้วยปากเปล่า ประธานรับทราบแล้วจึงออกมาตั้งกล้องถ่ายจอโทรทัศน์หน้าห้องประชุม ระหว่างการถ่ายทอดสดในช่วงเช้าผ่านเฟซบุ๊กของเครือข่าย CALL https://t.co/XlmTCXt30A จึงได้เห็นการยกมือประท้วงเรื่อยๆ ของกรรมาธิการว่า ไม่สบายใจที่มีคนมาถ่ายไลฟ์อยู่หน้าห้องทั้งที่ไม่ใช่สื่อมวลชน ไม่ได้ลงทะเบียนสื่อกับกรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น มีเจ้าหน้าที่เดินวนเวียนออกมาบอกว่า ให้หยุดถ่ายเป็นระยะ มีทั้งคนที่อ้างว่าเป็นเลขาฯ กรรมาธิการ และมี ส.ส. จำนวนหนึ่งออกมาบอกให้หยุดถ่าย

จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.00 เริ่มมีการแจกอาหารกลางวันให้กรรมาธิการรับประทานในห้อง เจ้าหน้าที่รัฐสภาคนหนึ่งจึงเดินมาบอกว่า กรรมาธิการจะกินข้าว ให้หยุดถ่ายเพราะเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม แต่ขณะนั้นยังมีกรรมาธิการอภิปรายในเนื้อหาอยู่ จารุวรรณจึงแจ้งกลับไปว่า เมื่อคนสุดท้ายพูดจบแล้วจะหยุดถ่ายไลฟ์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ใช้วิธีปิดสัญญาณจากข้างใน ทำให้จอโทรทัศน์กลายเป็นจอดำทันที จากนั้นเมื่อการประชุมดำเนินต่อจอโทรทัศน์หน้าห้องประชุมก็ไม่ได้รับสัญญาณถ่ายทอดออกมาจากด้านในอีก

จารุวรรณ เล่าว่า ในวันที่ 22 มกราคม 2563 จึงทำหนังสือมายื่นต่อประธาน เพื่อขออนุญาตถ่ายทอดสดอย่างเป็นทางการ เพื่อไม่ให้มีข้อครหาจากรรมาธิการว่า “ใครก็ไม่รู้” มาถ่ายทอดสด เมื่อยื่นหนังสือกับเจ้าหน้าที่ในเวลาประมาณ 8.30 โทรทัศน์ด้านหน้าห้องประชุมก็ยังมีภาพสดจากข้างในออกมา จนกระทั่งการประชุมกำลังจะเริ่มในเวลาประมาณ 9.30 จอโทรทัศน์ด้านนอกก็ถูกตัดอีกครั้ง แต่ยังพอมองผ่านกระจกเข้าไปเห็นการประชุมได้บ้าง การหารือในห้องประชุมเดินไปจนกระทั่งเวลา 10.30 ก็มองเห็นว่า มีการยกมือเพื่อลงมติ ผลออกมา คือ 20 ต่อ 8 เสียง จึงเข้าใจได้เองว่า เป็นการลงมติเรื่องการอนุญาตให้ถ่ายทอดสด แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมาแจ้งผลการขออนุญาตอย่างเป็นทางการ

ระหว่างที่กำลังรอเพื่อสอบถามผลการลงมติจากเจ้าหน้าที่หรือกรรมาธิการที่อยู่ด้านในเกี่ยวกับผลการพิจารณาเรื่องคำขออนุญาต มีคนแจ้งว่าเป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัย มาสอบถามว่า ขึ้นมาได้อย่างไร แล้วสักพักหนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในเครื่องแบบตำรวจรัฐสภาสองนาย กับเจ้าหน้าที่ใส่สูทหนึ่งนาย มาเชิญตัวออกจากพื้นที่ โดยอ้างเหตุโควิด เจ้าหน้าที่สามคนพาตัวทีมงานของ CALL มาส่งจนถึงประตูทางออก ในเวลาประมาณ 11.10

จากนั้นในเวลาประมาณ 12.10 หลังจารุวรรณเดินทางกลับแล้ว ได้รับโทรศัพท์จาก นิกร จำนง กรรมาธิการสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล นิกรกล่าวขอโทษ พร้อมอธิบายว่า เจ้าหน้าที่ส่วนประชาสัมพันธ์ “เข้าใจผิด” ประชาชนสามารถกลับเข้าไปนั่งบริเวณหน้าห้องประชุมอย่างเดิมได้ แต่ยังคงห้ามการถ่ายทอดสด

เวลาประมาณ 13.00 สิระ เจนจาคะ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ แถลงข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่ กมธ. พิจารณาช้ากว่ากำหนด เพราะมีกรรมาธิการบางคน “บ้าน้ำลาย” ทำให้เสียเวลาในการประชุมไปมาก มีเพียง 1-2 คนที่คิดว่าตัวเองดี ส่วนคนอื่นนั้นไม่ดี ขอให้หยุดบ้าน้ำลายและมีมารยาทด้วย

ส่วนกรณีที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนถ่ายทอดสดนั้น เป็นเพราะคนที่จะมาถ่ายทอดสดไม่ได้เป็นกลาง เป็นกลุ่มที่มีธงอยู่ในใจ ถ้าหากกรรมาธิการพูดสิ่งที่ไม่ตรงใจก็จะถูกด่า ถูกเหยียดหยาม เป็นการลิดรอนสิทธิของกรรมาธิการ ส่วนสื่ออื่นๆ ถ้าจะถ่ายทอดสดก็สามารถไปถ่ายได้เลย เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้ไปดูคอมเม้นต์จากการถ่ายทอดสดของเฟซบุ๊กดังกล่าวในวันก่อนได้ว่า กรรมาธิการถูกด่าอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบคอมเม้นต์ในไลฟ์ ที่เพจคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญ พบว่า มี 13 คอมเม้นต์ ส่วนใหญ่เป็นการคุยกันเรื่องเสียงที่ถ่ายทอดสดชัดหรือไม่ และไม่มีคอมเม้นต์ที่โจมตีกรรมาธิการคนใดเลย

 

‘โรม’ เผยผิดหวัง กมธ.ปิดหูปิดตาประชาชน

ด้านรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาเปิดเผยบรรยากาศการประชุมวาระสองที่เป็นประเด็นว่า

แม้ว่าคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะกลับมาประชุมกันอีกครั้ง ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.63) ซึ่งได้มีเครือข่ายภาคประชาชนในนาม เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญที่ได้ติดตามเรื่องรัฐธรรมนูญ มาถ่ายทอดสดทางเพจ CALL – Constitution Advocacy Alliance พี่น้องประชาชนคงได้ติดตามไปบ้างแล้วเมื่อวานนี้

แต่ในระหว่างการประชุมเมื่อวานนี้ ได้มีกรรมาธิการฯที่เป็นสว.บางท่าน ยกมืออภิปรายในเชิงไม่เห็นด้วยกับการที่ภาคประชาชนมาไลฟ์สด โดยให้เหตุผลว่าจะกระทบต่อการแสดงความคิดเห็นของพวกตน ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลที่เห็นแก่ตัวและน่าอดสู ทั้งอาจขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาฯที่ต้องกระทำอย่างเปิดเผย และก่อนหน้านี้ กรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ได้มีมติให้มีการถ่ายทอดสดภาพและเสียงออกไปยังโทรทัศน์หน้าห้องประชุมเพื่อให้สื่อมวลชน ได้สามารถติดตามความคืบหน้าของการประชุมได้ตลอดเวลา แน่นอนว่าการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ผ่านการถ่ายจากเครื่องโทรทัศน์หน้าห้องประชุม ย่อมเป็นสิ่งที่พึงจะกระทำได้

เช้าวันนี้ ผมมาเข้าประชุมกรรมาธิการฯ โดยพบว่าทีวีหน้าห้องประชุมถูกปิดอยู่ และในห้องประชุมก็มีการอภิปรายในประเด็นว่าจะอนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดหรือไม่ ? ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การโหวตและมีกรรมาธิการเสียงข้างมากมติ 20 ต่อ 8 ห้ามไม่ให้ภาคประชาชนไลฟ์สดการประชุมกรรมาธิการฯ แน่นอนว่ากรรมาธิการเสียงข้างมากประกอบด้วยส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและสว. ซึ่งหลังจากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาเชิญช่างภาพของภาคประชาชนที่มาไลฟ์สดออกนอกบริเวณอาคารรัฐสภา

เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ แต่กรรมาธิการที่เป็นส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และส.ว.กลับพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป โดยการไม่ให้มีการถ่ายทอดสดทางออนไลน์การประชุมคณะกรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นี่ไม่ต่างอะไรเลยจากการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ผู้จัดทำร่างฯพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกวิถีทาง รัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาอย่างไร ใครพูดให้ความเห็นอะไรไว้ในการประชุม เรื่องเหล่านี้ประชาชนไม่มีส่วนได้รับรู้เลย และในอีกมุมหนึ่งพวกคุณก็ไม่ได้สำนึกเลยว่า แม้ส.ว. จะไม่ได้มีที่มาจากประชาชน แต่เงินเดือนที่คุณได้ เบี้ยประชุมที่คุณรับ และที่สำคัญที่สุด คือ อำนาจที่คุณมี มันยังคงเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เช่นเดียวกันในครั้งนี้ ภาคประชาชนเขาอุตส่าห์เดินทางมาไลฟ์สดการประชุมกรรมาธิการฯเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์เนื้อหาของการประชุมให้พี่น้องประชาชนที่เขาติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับทราบความคืบหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยกรรมาธิการฯด้วยซ้ำไป แต่วันนี้กลับไปห้ามเขาถ่ายไลฟ์สด เชิญเขาออกจากรัฐสภา ทั้งๆที่เขาปราถนาดี

การที่กมธ.เสียงข้างมากมีมติห้ามภาคประชาชนไลฟ์สดในวันนี้ ถือเป็นเรื่องอัปยศอดสู โดยเฉพาะกับกรรมาธิการเสียงข้างมากเอง เพราะเท่ากับว่าพวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะให้ประชาชนได้ยินในสิ่งที่เขาพูด นั่นเท่ากับว่าพวกเขาไม่กล้าที่จะสบตากับประชาชน ไม่กล้าที่จะสบตากับความจริงด้วยซ้ำไป