‘JELI’ แถลงร้องบริษัทแพลตฟอร์ม รับผิดชอบสวัสดิภาพคนทำงานช่วงโควิด

วันที่ 19 มกราคม 2564 สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ เรียกร้องให้บริษัทแพลตฟอร์มที่กำลังเติบโตในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งชีวิตผู้คนไม่สามารถออกไปข้างนอกเพื่อรับความเสี่ยงจากการติดเชื้อ แต่ธุรกิจแพลตฟอร์มทั้งโลจิสติสต์และฟู้ดเดลิเวอรี่ได้เป็นที่พึ่งของประชาชนในช่วงอยู่ในบ้าน ดูแลสวัสดิภาพคนทำงานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนในช่วงวิกฤตโควิดแต่กลับไม่ได้สวัสดิการหรือหลักประกันที่ดีในการทำงานซึ่งมีความเสี่ยง

เนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า ย้อนไปเมื่อต้นปี 2563 บทเรียนหนึ่งจากสถานการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ระลอกแรกในประเทศไทย คือ ทำให้เห็นเด่นชัดว่าธุรกิจแพลตฟอร์มมีบทบาทอย่างมากต่อการใช้ชีวิตแบบ “รักษาระยะห่าง” โดยทำงานจากบ้านในช่วงที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เมื่อบริการของบริษัทแพลตฟอร์มซึ่งทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ จับคู่ระหว่างผู้บริโภคและคนทำงานเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกทั้งแก่ผู้คนที่ไม่สามารถออกไปจับจ่ายซื้อของหรือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองถึงร้านได้ และทั้งแก่ผู้คนที่ต้องการรายได้ประทังชีพ

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาจากโรคระบาดและเศรษฐกิจถดถอย อาจกล่าวได้ว่าในภาพรวม บริษัทแพลตฟอร์มต่างได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ส่งเสริม “อาชีพแห่งโอกาสท่ามกลางวิกฤต” โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดมาก หรือได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในหลายธุรกิจ1 อาทิ ธุรกิจเดลิเวอรีและรับส่งผู้โดยสาร เช่น Grab, Gojek, Food Panda, Line Man, 7-Delivery หรือธุรกิจขนส่งพัสดุ เช่น Kerry Express, Lazada Express, Flash Express รวมถึงแพลตฟอร์มให้บริการอื่นๆ ถึงบ้าน เช่น Beneat (ซักรีดและทำความสะอาด), Seekster (ซักรีด ทำความสะอาด และซ่อมบำรุง), Knock Door (ทำความสะอาด), Fixzy (ซ่อมบำรุง), Or’Ease (นวด), Wongnai Massage at Home (นวด), MyTHERAS (นวด) รวมถึงยังมีบริษัทแพลตฟอร์มอื่นๆ เติบโตขึ้นมาเป็นทางเลือกการประกอบอาชีพแก่คนงาน ในขณะที่กิจการประเภทออฟไลน์ (offline) อื่นๆ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคระบาดและเศรษฐกิจจนต้องปลดคนงาน ปิดงานชั่วคราวหรือปรับลดค่าตอบแทนเพื่อลดต้นทุน ในทางตรงกันข้าม มีบริษัทแพลตฟอร์มจำนวนมาก –โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดลิเวอรีอาหาร– ที่ได้ประโยชน์จากรูปแบบการบริหารที่รองรับคนงานจำนวนมากได้และสามารถผลักภาระต้นทุนให้คนทำงาน กลับมีผลกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสภาวะวิกฤต2

——————————————————————————————————————
1 รายนามบริษัทที่ยกมาข้างต้นเป็นการยกตัวอย่างบริษัทที่เป็นที่นิยม เพื่อให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นชินได้เห็นภาพว่า ‘ธุรกิจแพลตฟอร์มคืออะไร’ เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานแต่ละบริษัทแต่อย่างใด
2 อ่าน https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/z3128-Food-Delivery.aspx

อย่างไรก็ตาม โอกาสทางธุรกิจของแพลตฟอร์มกับโอกาสทางรายได้ของคนงานแพลตฟอร์มดำเนินควบคู่กันไปอย่างไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรม เพราะธุรกิจแพลตฟอร์มเหล่านี้จ้างงานอย่างมักง่าย กล่าวคือ จ้างเป็นคนงานรายชิ้น (gig worker) ที่ปราศจากความมั่นคงทางอาชีพ นอกจากนี้คนงานทุกคนต้องแบกรับต้นทุนการทำงานเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิงยานพาหนะ ค่าอุปกรณ์ในการทำงาน ต้นทุนเวลาของการรอออเดอร์งานและความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการทำงาน ซึ่งอาจทำให้ขาดรายได้โดยไม่มีสวัสดิการรองรับ หรือความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีโดยเฉพาะกลุ่มพนักงานทำความสะอาด หรือความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในกลุ่มพนักงานนวดตามบ้าน ยังไม่รวมถึงความเสี่ยงที่จะติดโรค Covid-19 จากการต้องทำงานนอกบ้าน โดยไม่ได้รับค่าชดเชยอย่างเหมาะสม

เวลานี้ ‘วิกฤต’ การระบาดของโรค Covid-19 มีแนวโน้มกลับมาเลวร้ายยิ่งขึ้น และธุรกิจบนแพลตฟอร์มมีแนวโน้มกลับมาได้รับความนิยมในฐานะอาชีพทางเลือกเหมือนช่วงปีที่ผ่านมาอีกครั้ง สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) เห็นว่าหากสังคมไทยจะสามารถยกย่องธุรกิจแพลตฟอร์มให้เป็นผู้สนับสนุนอาชีพแห่งโอกาสที่แท้จริงได้นั้น บริษัทแพลตฟอร์มจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบต่อคนงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ผลักภาระต้นทุนการทำงาน รวมทั้งความเสี่ยงต่างๆ ให้คนงานแบกรับอยู่ฝ่ายเดียว ดังข้อเรียกร้องและข้อเสนอต่อไปนี้

1. ข้อเรียกร้องเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทแพลตฟอร์ม
a. ระหว่างที่สถานการณ์ Covid-19 ยังน่าเป็นห่วง ขอให้บริษัทแพลตฟอร์มจ่ายค่าเสี่ยงภัย (hazard pay) อย่างเหมาะสมเพื่อเป็นค่าตอบแทนพิเศษชดเชยกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อและเจ็บป่วยให้กับคนทำงาน นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ ถุงมือพลาสติก ผ้าหรือกระดาษสำหรับทำความสะอาด ฯลฯ ให้กับคนงานโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย
b. บริษัทแพลตฟอร์มต้องจัดทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันโรค Covid-19 ที่เคลมสิทธิได้จริงให้กับพนักงานทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข โดยบริษัทมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้พนักงานที่ประสงค์เคลมสิทธิประกัน รวมถึงเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนคนงานเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม มาตรา 33 ในอนาคตด้วย
c. นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่บริษัทแพลตฟอร์มหลายแห่งออกมาตรการจัดทำประกันโรค Covid-19 ให้คนงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม การได้ฉีดวัคซีนยังเป็นมาตรการป้องกันที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อคนทำงานในช่วงมีการระบาด ซึ่งบริษัทควรจัดหามาให้ หรือใช้วิธีการใดๆ เพื่อให้คนงานในสังกัดเข้าถึงวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ ในฐานะคนงานที่มีความสำคัญ (essential worker)
d. ในช่วง Covid-19 บริษัทแพลตฟอร์มต้องไม่ฉวยโอกาสนี้ในการปรับขึ้นค่าบริการกับผู้บริโภค หรือบังคับให้คนงานรับงานจำนวนมากหากคนงานไม่ต้องการ หรือปรับลดค่าตอบแทนต่อชิ้น และ/หรือเพิ่มต้นทุนการทำงานของคนงานด้วยวิธีใดๆ เช่น การขึ้นค่าสมัครงาน การบังคับซื้ออุปกรณ์ทำงาน บังคับให้ทำการอบรมเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็นและเสียค่าใช้จ่ายสูง และการบังคับเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเมื่อกดถอนเงินออกจากระบบวอลเล็ต เพื่อแสวงหากำไรเพิ่มเติมจากคนงานและผู้บริโภคอีก
e. บริษัทแพลตฟอร์มต้องยืนยันว่าจะรับฟังและเคารพเสรีภาพของคนงานและบุคคลภายนอกในการแสดงความคิดเห็น แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำงานของบริษัทก็ตาม โดยเปิดโอกาสให้คนงานและบุคคลภายนอกแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างอิสระ จัดให้มีการประชุมอย่างสม่ำเสมอเพื่อรับฟังและปฏิบัติตามความต้องการของคนงาน (อาทิ ข้อเสนอของกลุ่มไรเดอร์ Grab ที่เรียกร้องให้บริษัทปรับขึ้นค่าตอบแทนในเขตต่างจังหวัด ยกเลิกการปิดระบบคนงานโดยพลการ ฯลฯ) รวมทั้งต้องมีมาตรการรับรองกับคนงานว่าการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อการทำงานร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มต่อในอนาคต
f. เนื่องจากลักษณะการทำงานบนแพลตฟอร์มเรียกร้องให้คนงานอุทิศเวลาและกำลังแรงงานของตัวเองเพื่อทำงานหนักให้แพลตฟอร์มไม่ต่างจากงานประจำ ดังนั้น บริษัทต้องดูแลคนงานรายชิ้น (gig worker) ที่บริษัทนิยามสถานะการทำงานใหม่อย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ เสมือนเป็นคนงาน ตามมาตรฐานการดูแลขั้นต่ำที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยไม่ผลักภาระให้คนงานรับผิดชอบฝ่ายเดียว เช่น มีสวัสดิการค่าเดินทาง มีวันลาหยุด มีเงินชดเชยเมื่อลาป่วย มีค่าตอบแทนล่วงเวลา (OT) เมื่อคนงานทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน สวัสดิการลาคลอดและสงเคราะห์บุตร รวมถึงมีมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านอื่นๆ ของคนงานขณะเดินทางและขณะทำงาน โดยเฉพาะเมื่อคนงานหญิงที่ทำงานในสถานที่ปิด เช่น ห้องพักของลูกค้า ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเพียงพอ ไม่มีช่องทางขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ใช้งานได้จริง

2. ข้อเสนอถึงผู้บริโภค
a. ผู้บริโภคมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของคนงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาเบื้องหลังของบริษัทแพลตฟอร์มที่เลือกใช้บริการ ติดตามสถานการณ์ข่าว เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกสนับสนุนธุรกิจแพลตฟอร์มที่มีความรับผิดชอบต่อคนงานอย่างแท้จริง เช่น มีประกันอุบัติเหตุและสวัสดิการอื่นๆ มีการรับรองความมั่นคงในการทำงาน รวมถึงรับฟังและกระตือรือร้นที่จะแก้ไขปัญหาของคนงาน นอกจากนี้ยังสามารถช่วยติดตามสถานการณ์ข่าวการถูกละเมิดสิทธิของคนงานเพื่อเป็นอีกหนึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้อีกด้วย
b. ผู้บริโภคสามารถทำความเข้าใจว่าสภาพปัญหาการใช้บริการที่ตนเผชิญอยู่ และปัญหาที่คนงานต้องเผชิญระหว่างการทำงานมีต้นตอมาจากสิ่งเดียวกัน นั่นคือ การออกแบบนโยบายเพื่อแสวงหากำไรเข้าสู่บริษัทแพลตฟอร์ม อาทิ บริษัทได้ออกแบบระบบการทำงานแบบพ่วงหลายชิ้น (งานแบทช์) เพื่อการทำกำไรสูงสุดของบริษัท และกำหนดให้คนงานรับออเดอร์พ่วงโดยอัตโนมัติ ไม่สามารถปฏิเสธชิ้นงานได้ เป็นเหตุผลให้ผู้บริโภคได้รับออเดอร์ช้า และคนงานผู้รับผิดชอบขนส่งออเดอร์นั้นๆ ก็พลอยได้รับคำตำหนิไปด้วย ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิของตนในฐานะผู้ใช้บริการร้องเรียนกลับไปยังบริษัทได้โดยตรง โดยเน้นที่การเร่งรัดให้บริษัทแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ด้วยการกดดันให้บริษัทแพลตฟอร์มยอมยกเลิกนโยบายที่เอาเปรียบทั้งคนงานและผู้บริโภค
c. คนงานบนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์ส่งคน-อาหาร-พัสดุ เทอราปิสต์นวด แม่บ้านทำความสะอาด ช่างเสริมสวย ช่างซ่อม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นคนงานที่สำคัญ (essential worker) ในช่วงที่มีการระบาดไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์หรือพยาบาล ดังนั้น ควรปฏิบัติต่อคนงานเหล่านี้อย่างเคารพ ให้เกียรติ และเข้าใจในข้อจำกัดการทำงาน ให้สมกับที่คนงานบนแพลตฟอร์มเหล่านี้กำลังทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทนผู้คนจำนวนมากในสภาวะวิกฤต