วัคซีนโควิด-19 : ‘ธนาธร’ ไลฟ์ปูดข้อมูล รบ.ทำสัญญาเจ้าเดียว ‘อนุทิน’ เดือดซัด ‘มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ’

วันที่ 19 มกราคม 2564 ถือเป็นประเด็นที่มีการตั้งคำถามกันมากในสังคมไทยอย่างวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหลายประเทศทำการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนด้วยวัคซีนจากหลายบริษัทที่มีการพัฒนา แต่สำหรับประเทศไทย หลังจากมีรายงานว่า ไทยได้วัคซีนโควิดเพียงไม่กี่ตัว นั้นคือ วัคซีนจากแอสตร้าเซเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนท์ ส่วนวัคซีนอีกตัวคือ โคโรนาแวคจากซิโนแวค ไบโอเทคของจีน ซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยได้ลงทุนและรัฐบาลมีข้อตกลงจะได้รับวัคซีนจากจีนในไม่ช้านี้ แต่กระนั้นสังคมไทยยังคงมีคำถามถึงคุณภาพของวัคซีนจนไปถึง ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ และการสร้างความนิยมทางการเมืองด้วยวัคซีน

ล่าสุด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ได้ออกมาไลฟ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางแทบจะทันที โดยเมื่อเวลา 22.15 น.ของวานนี้ (18 มกราคม 2564) นายธนาธร ได้นำเสนอถึงผลประโยชน์ในด้านธุรกิจการเมืองของวัคซีนโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของคณะก้าวหน้า โดยเปิดเผยข้อมูลสำคัญว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทย ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง, ทำไมประเทศไทยได้วัคซีนช้า, และทำไมรัฐบาลถึงจัดหาวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม

นายธนาธรระบุว่าการที่คนไทยได้วัคซีนช้าและไม่ครอบคลุมจำนวนประชากร จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในปี 2564 เป็นอย่างมาก หลายประเทศวันนี้เร่งมือฉีดวัคซีนให้กับประชากรแล้ว แต่การที่ประเทศไทยได้วัคซีนช้า ย่อมหมายถึงการเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ การเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน การเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากต่างประเทศเริ่มได้ล่าช้า และเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชน ที่ยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้

เหตุผลที่รัฐบาลหาวัคซีนได้ช้า ก็เพราะประมาท ไม่ได้ใส่ใจในการเร่งจัดหาวัคซีนอย่างเหมาะสมทันท่วงที สมัยพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบใหม่ๆ ได้เคยเสนอกับรัฐบาลไปแล้ว ว่าต้องจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอ ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศโดยเร็วที่สุด แต่ความความประมาททำให้เกิดการเจรจาช้า และเมื่อเจรจาได้เพียงบริษัทเดียวก็ไม่มีความพยายามเจรจากับบริษัทอื่นๆอีกเท่าที่ควร ต่างจากหลายประเทศที่ล้วนแสวงหาวัคซีนจากเอกชนหลายราย

โดยบริษัทเดียวที่ไทยฝากความหวังไว้ก็คือ AstraZeneca ซึ่งมีการจ้างบริษัทผู้ผลิตในประเทศไทยก็คือ Siam Bioscience ไม่มีการเจรจากับบริษัทอื่นเพิ่ม จนเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา จึงมีการประกาศว่าได้มีการเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มกับ Sinovac ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก คือ 2 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชากร 1.5% เท่านั้น

“กว่าจะรู้ตัวก็สายไปแล้ว วันนี้กำลังการผลิตของบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆได้ถูกจับจองไปเสียมากแล้ว นั่นก็เพราะรัฐบาลเอาปัญหาการฉีดวัคซีนมาเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างความนิยมทางการเมือง จนละเลยการหาหนทางที่เหมาะสมที่สุดให้กับประเทศ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่ารัฐบาลพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จากการฝากอนาคตของชาติไว้กับบริษัทรายเดียวหรือไม่?” นายธนาธรตั้งคำถาม

เปิดข้อมูลประเทศต่างๆ-ชี้ไม่มีใคร “แทงม้าตัวเดียว” เลือกบริษัทเดียวมาผลิตวัคซีนล็อตใหญ่ให้

จากนั้น นายธนาธรได้ยกตัวอย่างของการจัดสรรวัคซีนในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างประเทศในเอเชียด้วยกัน อย่างเช่นมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 มีการเข้าโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตามมาด้วยการเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าจาก Pfizer 12.8 ล้านโดส เซ็นสัญญาซื้อเพิ่มจาก AstraZeneca 6.4 ล้านโดส และเพิ่มเติมจาก Sputnik V อีก 6.4 ล้านโดส ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2563 และในเดือนมกราคม 2564 ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนเพิ่มจาก Sinovac อีก 14 ล้านโดส ซื้อวัคซีนจาก Pfizer เพิ่มอีก 12.2 ล้านโดส ทำให้ปัจจุบันมาเลเซียมีจำนวนวัคซีนครอบคลุมประชากรถึง 71% ไปแล้ว

ด้านไต้หวัน เมื่อเดือนธันวาคม มีการประกาศว่าจะซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca 10 ล้านโดส และจาก Covax 4.76 ล้านโดส จนปัจจุบันสามารถจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรได้ถึง 42% ส่วนฟิลิปปินส์ มีการเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนล่วงหน้ากับ AstraZeneca 2.6 ล้านโดสตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เซ็นสัญญาซื้อล่วงหน้ากับ Covax 30 ล้านโดส และเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนล่วงหน้าจาก Sinovac อีก 25 ล้านโดส จนฟิลิปปินส์มีวัคซีนครอบคลุม 45.1% ของจำนวนประชากรไปแล้ว

เมื่อกลับมาดูทางประเทศไทย ตอนนี้ที่เราเจรจาได้แล้วคือวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca และ Sinovac คิดเป็น 21.5% ของจำนวนประชากรเท่านั้น และเมื่อไม่นานมานี้เอง คณะรัฐมนตรีเพิ่งจะมีมติพิจารณาสั่งซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca เพิ่มอีก 36 ล้านโดส แต่ก็ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อเพิ่ม เท่ากับว่าตอนนี้เราจัดหาวัคซีนได้น้อยกว่า และช้ากว่าประเทศอื่นๆที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน

ปัจจุบัน ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรไปแล้วมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 อิสราเอล ฉีดไปแล้ว 2.3 ล้านโดส คิดเป็น 25.91% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 2 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฉีดไปแล้ว 1.9 ล้านโดส คิดเป็น 17.52% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 3 บาห์เรน ฉีดไปแล้ว 1.42 แสนโดส คิดเป็น 9.54% ของจำนวนประชากร, อันดับที่ 4 สหราชอาณาจักร ฉีดไปแล้ว 4.3 ล้านโดส หรือคิดเป็น 6.45% ของจำนวนประชากร, และอันดับที่ 5 สหรัฐอเมริกา ฉีดไปแล้ว 14 ล้านโดส คิดเป็น 4.36% ของจำนวนประชากร

จะเห็นได้ว่าหลายๆประเทศในโลกเริ่มฉีดวัคซีนกันไปแล้ว คาดว่าภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 หลายประเทศจะสามารถฉีดวัคซีนให้ครบจำนวนประชากรได้ แต่ทว่าในส่วนของประเทศไทย หากดูจากไทม์ไลน์ในปัจจุบัน กว่าเราจะได้เริ่มฉีดล็อตแรกจาก Sinovac ก็คือเดือนมีนาคม ซึ่งมีจำนวนเพียง 2 ล้านโดสเท่านั้น และกว่าที่เราจะได้วัคซีนจาก AstraZeneca ก็ครึ่งหลังของปี 2564 ไปแล้ว

“ประเทศไทยมีวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศอื่น ความรวดเร็วในการฉีดก็น้อยกว่าประเทศอื่น ก็เพราะการฝากความหวังไว้กับบริษัทใดหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีเลย เรามีตัวเลือกอื่นๆที่สามารถเจรจาได้มากมาย ประเทศส่วนใหญ่บนโลก ไม่มีประเทศใดที่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และส่วนใหญ่จะใช้การจัดซื้อจัดหาคละบริษัทกันไป” นายธนาธรกล่าว

เปิดผังธุรกิจ Siam Bioscience-บริษัทในเครือ ขาดทุนเละเทะสะสม เหตุใดเลือกให้เป็นผู้ผลิต-หรือเพราะแค่จะใช้หาคะแนนนิยมให้ใคร?

จากนั้น นายธนาธรได้พาย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์และโครงสร้างการบริหารจัดซื้อวัคซีนที่รัฐบาลไทยดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้วางการจัดหาวัคซีนสนับสนุนแบ่งเป็นสองทาง นั่นคือ 1) การซื้อจากต่างประเทศ และ 2) การผลิตเองในประเทศ โดยในส่วนของการซื้อจากต่างประเทศ ตอนนี้มีการเซ็นสัญญาไปแล้วสองบริษัท ก็คือ AstraZeneca 26 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่ม CP เข้าไปถือหุ้นอยู่ 15.03%

กรณีที่สำคัญก็คือกรณีของบริษัท AstraZeneca เพราะมีปริมาณการสั่งซื้อมาก มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ในการเซ็นสัญญาขายวัคซีนให้กับรัฐบาลไทย เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาก็คือการที่ AstraZeneca ทำสัญญาจ้างผลิต (Contract Manufacturing Organization – CMO) กับบริษัท Siam Bioscience  โดยมีบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย SCG สนับสนุนการดำเนินงานเซ็นสัญญา โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว Siam Bioscience จะต้องจัดให้มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี โดย 174 ล้านโดสจะส่งไปขายในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีก 26 ล้านโดส ขายในประเทศไทย

AstraZeneca เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต้องการหาผู้ผลิตในหลายภูมิภาคทั่วโลก กระจายวัคซีนออกไปให้ได้มากที่สุด โดยมีคู่ค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ Siam Bioscience ที่เป็นฮับของการผลิตวัคซีนในครั้งนี้

Siam Bioscience มีบริษัทที่เกี่ยวข้องสองบริษัท คือ บริษัท Siam Bioscience ที่ดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และผลิต กับบริษัท APEXCELA ที่ดูแลด้านการขาย การตลาด และการกระจายสินค้า ทั้งสองบริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อาคารศรีจุลทรัพย์ ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท ทุนลดาวัลย์ ซึ่งก็เป็นของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ในยุคก่อตั้ง บริษัท Siam Bioscience เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท ทุนลดาวัลย์ กับมหาวิทยาลัยมหิดล มีทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตยา ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้ผลิตวัคซีน

เมื่อเราไปดูผลประกอบการ จะพบว่า Siam Bioscience ขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 581 ล้านบาท ส่วน APEXCELA มีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 112.4 ล้านบาท

นอกจากนี้ Siam Bioscience ยังมีบริษัทลูกที่เราค้นเจออย่างน้อย 3 บริษัท ประกอบไปด้วย

1) Abinis ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 70% โดยมีบริษัท CIMAB S.A. จากคิวบาถือหุ้นอยู่ 30% ทุนจดทะเบียน 2,270 ล้านบาท รายได้ปีล่าสุด 1.2 ล้านบาท ขาดทุน 9.1 ล้านบาท และมีผลดำเนินการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้ง

2) Inno Bio Cosmed ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 100% ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท รายได้ปีล่าสุด 17 ล้านบาท ขาดทุน 13 ล้านบาท และมีผลดำเนินการขาดทุนมาตลอดทุกปีเช่นกัน

3) Apsalagen ที่ Siam Bioscience ถือหุ้นอยู่ 51% โดยมีบริษัท ฮาเซอร์ อินเวสเมนต์ ของเยอรมนี ถือหุ้นอยู่ 49% ทุนจดทะเบียน 42 ล้านบาท ขาดทุนสะสมไปแล้ว 22.5 ล้านบาท

เหตุที่ต้องพูดเรื่องนี้ ก็เพราะว่าเมื่อเราไปดูประวัติการทำธุรกิจของ Siam Bioscience และทุกบริษัทในเครือ จะพบได้ว่านับตั้งแต่ก่อตั้งมาใน 2552 ยังไม่มีบริษัทใดประสบความสำเร็จในทางธุรกิจเลย ขาดทุนสะสมเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะตัว Siam Bioscience เองที่ขาดทุนไปแล้ว 581 ล้านบาท

แม้จะเป็นไปได้ว่าวงจรในการผลิตยา จำเป็นต้องลงทุนในการวิจัยพัฒนาอย่างสูง และยังต้องรอผ่านการรับรองจากองค์กรอาหารและยาจากประเทศต่างๆ จึงอาจคืนกำไรได้ช้า แต่อย่างน้อยจากข้อมูลที่เราสามารถหามาได้ จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา บริษัทในเครือ Siam Bioscience ยังไม่มีบริษัทไหนที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจเลย จึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าบริษัทสมควรได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนเกือบ 100% ที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาให้ประชาชน

นอกจาก Siam Bioscience จะได้ทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างผลิตวันซีน 200 ล้านโดสต่อปีให้กับ AstraZeneca แล้ว ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ในโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนแบบ Viral Vector 1,449 ล้านบาทอีกด้วย เรียกว่านอกจากจะเสียเงินค่าวัคซีน รัฐบาลยังนำภาษีของประชาชนไปสนับสนุนเอกชนรายเดียวในการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนอีกด้วย

จนมีข้อคิดเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5/2563 ในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีกรรมการท่านหนึ่งได้ตั้งประเด็นขึ้นมา ถึงข้อกังวลเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest) เนื่องจากเป็นการนำบประมาณจากรัฐบาลไปสนับสนุนบริษัทเอกชน และขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบและโปร่งใส และมีความเห็นว่าสถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องเปิดเผยข้อมูลการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ให้ประชาชนทราบด้วย

เรื่องนี้สำคัญ เพราะเมื่อดูไทม์ไลน์การจัดหาวัคซีนในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ากลางปีที่ผ่านมาจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 มีการสร้างเครือข่ายและทำสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเริ่มในไตรมาสที่ 2 จบในไตรมาสที่ 3 แต่ทว่าในมติของ ศบค. ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนเลย นอกจากนี้ ยังจะเห็นได้ว่าเมื่อเจรจากับ AstraZeneca จบลง ในรายงานการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ก็ยังไม่มีการแสดงให้เห็นเลยว่ารัฐบาลไทยได้มีความพยายามเจรจาจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากกว่า 20% จนกระทั่งมาแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนมกราคมว่ามีการจัดหาวัคซีน Sinovac มาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับความต้องการในประเทศ

ขณะเดียวกัน ไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการเริ่มชุมนุมของนักศึกษาประชาชน ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก, แก้รัฐธรรมนูญ, และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“นำไปสู่ข้อสงสัย ว่าการที่เราแทงม้าตัวเดียว หรือพึ่งพาโครงสร้างแบบเดียวในการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนคนไทย เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมือง มากกว่าการหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดสำหรับคนไทยหรือไม่ ตกลงมันเป็นเรื่องคะแนนนิยมทางการเมืองหรือไม่?” นายธนาธรกล่าว

ฟันธง! ดีลนี้เสี่ยงไม่คุ้ม-เอาความอยากได้คะแนนนิยมเป็นตัวตั้ง ถามถึง “ประยุทธ์” ปล่อยดีลนี้ออกมารับผิดชอบได้หรือไม่?

นายธนาธรกล่าวต่อไปอีก ว่าถ้าย้อนมาดูเดือนเมษายนปีที่แล้ว มีการอนุมัตินโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2563-2565 ชื่อของ AstraZeneca และชื่อของ Siam Bioscience ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนนี้มาก่อนเลย มีการเสนอชื่อองค์กรเข้ามาหลายองค์กร คือ 1) สถานเสาวภา, 2) Bionet-Asia, 3) องค์การเภสัชกรรม,

4) บริษัทร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม-เมอร์ริเออร์ ชีววัตถุ จำกัด (GPO-MBP), 5) ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล, 6) โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, และ 7) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เท่านั้น ชื่อของ Siam Bioscience เพิ่งจะโผล่ขึ้นมาในไตรมาส 2 หลังจากแผนนี้ออกมาแล้ว

นี่จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมา ว่าการจัดหาวัคซีนในลักษณะนี้ จะเป็นการฝากอนาคตของประเทศไทยไว้กับ AstraZeneca และ Siam Bioscience มากเกินไปหรือไม่ จะเป็นการลดโอกาสในการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้วัคซีนครอบคลุมประชากรที่สุดหรือไม่

“และนำมาซึ่งคำถามสุดท้าย ว่าในเมื่อผู้ถือหุ้น Siam Bioscience คือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ถือหุ้น 100%) โดยตรงเช่นนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์อนุมัติข้อตกลงอย่างนี้ จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าวัคซีนมีการผลิตช้ากว่ากำหนดเวลา หรือมีปัญหาในการแจกจ่ายให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม หรือถ้าประชาชนเกิดอาการแพ้ หรือถ้ามีประสิทธิภาพไม่ได้ตามเป้าหมาย พล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมา ประชาชนย่อมจะตั้งคำถามกับบริษัท Siam Bioscience ” นายธนาธรกล่าว

จากนั้น นายธนาธรได้กล่าวทิ้งท้าย ว่าหากรัฐบาลได้ทำตามสิ่งที่เราเสนอตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ที่ว่ารัฐบาลจะต้องเจรจาหาวัคซีนให้เร็ว ให้ครอบคลุม ฉีดให้ประชาชนได้เร็วที่สุด ไม่ฝากความหวังไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่สร้างความนิยมทางการเมืองบนผลประโยชน์ของประชาชน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเร็วกว่านี้ ประเทศไทยจะอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่านี้ หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ เดินเกมตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ไม่ใช่การยึดเอาการสร้างความนิยมทางการเมืองมาเป็นปัจจัยหลักมากกว่าชีวิตของประชาชน จนทำให้เกิดทั้งความล่าช้าและไม่ครอบคลุมเช่นนี้

ผลพวงจากไลฟ์ของธนาธรทำให้เกิดการถกเถียงอย่างร้อนแรงบนโลกโซเชียล แฮชแท็ก #วัคซีนพระราชทาน ติดเทรนด์การถกเถียงขึ้นในทวิตเตอร์ โดยมีทั้งการตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของวัคซีน ความกังวลของวัคซีนโดยเฉพาะจากจีน และความเห็นทำนองโจมตีนายธนาธรในหลายเรื่องด้วย

“อนุทิน” เดือด ซัด ธนาธร ‘มือไม่พายอย่าราน้ำ’

วันนี้ ยังมีอีกปฏิกิริยาจากฝั่งรัฐบาลนั้นคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเปิดเผย ข้อมูลเรื่องการจัดซื้อวัคซีน โควิด-19 แล้วโยงไป ถึงกรณีที่รัฐบาล ลงนามในความร่วมมือการผลิตวัคซีนกับสยามไบโอไซเอนซ์ ว่า คนที่พูดเรื่องดังกล่าวรู้หมดทุกเรื่องแหละไม่รู้อย่างเดียวคือ รู้จักสำนึกพระมหากรุณาที่คุณ ประเทศไทยเรามาถึงวันนี้ได้ ใครเป็นผู้ให้กำเนิดทางการแพทย์ การสาธารณสุข ใครเป็นคนวางรากฐานระบบสาธารณสุข และการแพทย์จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งโลก และสามารถทำให้ประชาชนทั้งประเทศมีพื้นฐานสุขภาพที่ดี มีพื้นฐานชีวิตที่ดีมีความแข็งแรง

“ใครเป็นคนพระราชทานสิ่งของต่างๆตลอดระยะเวลาเป็น 100 ปี เมื่อประเทศไทยมีภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติ ถ้าจะเอาแบบไม่ต้องจำกันยาวๆเอาใกล้ๆนี้ รถตรวจหาเชื้อโควิช 20 คัน ใครเป็นคนให้ ชุดพีพีอีเป็นล้านๆชุด ใครเป็นคนให้ เวชภัณฑ์ ทุนทรัพย์ เป็นพันล้าน ที่มอบให้กับคณะแพทย์ไปปรับปรุง ไปลงทุนในระบบการสาธารณสุขระบบการแพทย์ ใครพระราชทานให้ เคยไปหรือไม่ตามโรงพยาบาลต่างจังหวัด และเห็นระบบปรับอากาศ ระบบที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ให้เข้าถึงการแพทย์การสาธารณสุขไม่แพ้กับคนในเมืองใหญ่ ไปทำการบ้านตรงนี้มาก่อนว่าใครทำให้ แล้วค่อยออกมาวิพากษ์วิจารณ์

ซึ่งจริงๆก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ เพราะไม่มีอะไร ที่พระองค์ท่านได้ทำและไม่เกิดประโยชน์ให้กับบ้านเมืองให้กับประชาชน เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะวัคซีนโควิค-19 ซึ่งเป็นวัคซีนใหม่เป็นวัคซีนที่ต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องไม่เอาเรื่องการเมืองมาเป็นประเด็น มีเรื่องอื่นๆเยอะแยะไป ต้องขอให้ช่วยกันรักษาบ้านเมืองตอนนี้ให้ได้มากที่สุด ปล่อยให้แพทย์เขาทำไป เราไม่ใช่แพทย์เราทำเรื่องอื่นๆที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมืองได้อีกเยอะ ถ้าไม่ได้ทำอะไร พูดอะไรก็ได้หมด เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะทำอะไรให้เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการก็ต้องทำให้ตัวเองเข้ามาบริหารบ้านเมืองให้ได้ก่อน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการฟ้องร้องในประเด็นนี้หรือไม่ และจะมีหน่วยงานใดออกมาชี้แจง นายอนุทิน กล่าวว่า “ก็แล้วแต่ ผมพูดในหลักการ เฉยๆ เมื่อสื่อถามผมว่าได้ดูคลิปหรือไม่ผมไม่ได้ดูและถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ดูเพียงแต่ไปถามคนที่ดูว่าเป็นอย่างไร จึงมาบอกความรู้สึกของผมเองว่าเป็นอย่างงี้ ที่อยู่กันมาได้ขนาดนี้ถ้าไม่มีตรงนั้นความเข้มแข็งก็คงไม่เกิด เหมือนที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ แล้วบ่ายวันเดียวกันนี้ผมก็จะไปรับพระราชทานชุดพีพีอี อีก 7 แสน 7 หมื่น ชุดมีใครให้ไหมพวกที่ออกมาว่าๆน่ะ มือไม่พายก็ไม่ต้องเอาอะไรมาราน้ำ”

‘วิโรจน์’ แนะ “อนุทิน” ควรตอบ 3 คำถาม ทำไมเอกชนรายเดียวผูกขาด

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กหลังนายอนุทินออกมาตอบโต้นายธนาธร โดยระบุว่า

“ประเด็นที่ รมว. สธ. ควรชี้แจง คือ 1. ความโปร่งใสในการใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนบริษัทเอกชนถึง 1,449 ล้านบาท 2. เหตุใดถึงให้สยามไบโอไซเอนซ์ (ขาดทุน 581 ลบ.) ผูกขาดผลิตเพียงเราเดียว แล้วจะทันเวลาหรือไม่  3. หากรัฐต้องใช้เงินภาษีซื้อวัคซีนจากสยามไบโอไซเอนซ์ นั้นมีเงื่อนไขอย่างไร ต้องพิจารณาว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่ง การที่รัฐเอาเงินภาษีไปอุดหนุนบริษัทเอกชน และให้บริษัทเอกชนผูกขาดการผลิต แต่เพียงรายเดียว  รัฐควรต้องมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลให้กับประชาชนนะ”