‘นิด้าโพล’ เผย ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลือกตั้งคือทางออกของประเทศ

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “4 คำถามกับทิศทางอนาคตของประเทศไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2560 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ คำถาม 4 ข้อ จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เชิญชวนประชาชนร่วมตอบคำถามเพื่อรับทราบความเห็นและนำมาพิจารณาแนวทางการทำงานต่อไป

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ภายหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชน ร้อยละ 15.68 ระบุว่า มีความเป็นไปได้มาก ที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 24.40 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก ที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 34.48 ระบุว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 9.28 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ร้อยละ 5.12 ระบุว่า มีโอกาสเท่า ๆ กัน และร้อยละ 11.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนประชาชนที่ระบุว่า มีความเป็นไปได้มาก – ค่อนข้างมาก ให้เหตุผลว่า คสช. ได้วางกรอบ และแนวทางในการทำงานไว้แล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้มีการแก้ไขเพื่อคัดกรองและลดช่องโหว่ในการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมือง รวมไปถึงประชาชนมีความเข้าใจในประชาธิปไตยมากขึ้น และสามารถเลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้ด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศได้ผ่านบทเรียนทางการเมืองมาพอสมควร ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจึงน่าจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข หากภายหลังการเลือกตั้ง ประเทศได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาล หรือได้กลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเข้ามาบริหารงาน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 37.76ระบุว่า ควรดำเนินตามข้อกฎหมาย และมีบทลงโทษที่จริงจัง และเข้มงวด เช่น ให้ลาออก ถอดถอนจากตำแหน่ง ตัดสิทธิทางการเมือง นอกจากนี้จะใช้วิธีการชุมนุม คัดค้าน ลงรายชื่อถอดถอนตำแหน่งทางการเมือง หากมีความผิดมากก็ควรยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่รองลงมา ร้อยละ 27.36ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรร้อยละ 11.28ระบุว่า รัฐบาล หน่วยงาน หรือผู้ที่มีอำนาจควรรีบเข้ามาจัดการแก้ไขด้วยการปฏิรูปประเทศ แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน หรือแก้ไขให้ตรงจุด หากไม่เป็นผลหรือมีบานปลายก็ควรใช้วิธีการยึดอำนาจร้อยละ 9.76ระบุว่า ประชาชนทุกฝ่ายต้องคัดเลือกคนดีเข้ามา รวมไปถึงควรมีหน่วยงานหรือองค์กรช่วยกันตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองร้อยละ 6.56ระบุว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากร้อยละ 3.68ระบุว่า ควรยอมรับและให้อยู่บริหารงานจนครบวาระแล้วรอการเลือกตั้งใหม่และร้อยละ 3.60ระบุว่า ควรให้โอกาสในการทำงาน หรือดูผลงานก่อน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก การแก้ไขปรับปรุงของนักการเมืองและสถานการณ์
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อความที่ว่า “การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว โดยที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่น ๆ เช่น ยุทธศาสตร์ของชาติ หรือการปฏิรูป” ว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 73.52ระบุว่า เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกหรือสิ่งที่สำคัญที่สุด อนาคตของประเทศชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับปัจจัยและองค์ประกอบหลายประการ ต้องทำอย่างอื่น เช่น การปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้านควบคู่กันไป โดยคำนึงถึงอนาคตและผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ควรปรับทัศนคติและความเข้าใจของคนไทยบางคนใหม่ เกี่ยวกับการบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ควรเน้นไปที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรากฏให้เห็นอยู่แล้วว่า หากเลือกคนไม่ดีเข้ามาทำงาน ปัญหาเดิม ๆ ก็จะตามมา

ขณะที่ ร้อยละ 14.96ระบุว่า เป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะควรเคารพสิทธิและเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ต้องเลือกผู้นำเข้ามาก่อน แล้วค่อยมาแก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งประชาชนต้องคิดและไตร่ตรองในการเลือกคนที่ดีที่สุดเข้ามาบริหารประเทศอยู่แล้ว การเลือกตั้งและการทำแผนยุทธศาสตร์ หรือการปฏิรูปอื่น ๆ อยู่คนละส่วนกัน หากไม่เลือกตั้งก่อน ประเทศอาจจะแย่ลง และที่ผ่านมา ยังเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่ ยังไม่เกิดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม อนาคตประเทศน่าจะดีกว่านี้ ถ้าหากมีการเลือกตั้ง และร้อยละ 11.52ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการให้โอกาสกับกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี กลับเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.28ระบุว่า ไม่ควร เพราะ นักการเมืองที่ไม่ดี หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ควรได้รับอำนาจให้กลับเข้ามาทำงานอีก หากใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดผลเสียกับประเทศ และความวุ่นวายตามมา ประเทศชาติก็จะไม่ก้าวหน้า คนที่ไม่ดีอย่างไรก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ควรเอาผิดให้ถึงที่สุด ควรให้โอกาสนักการเมืองหน้าใหม่ ๆ เข้ามาบริหารประเทศบ้างรองลงมา ร้อยละ 11.12ระบุว่า ควร เพราะ ทุกคนย่อมได้รับโอกาสในการปรับปรุงตัว และอาจจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนักการเมืองที่มีอยู่ก็ใช่ว่าจะดีไปหมดเสียทุกคน บางคนก็ยังไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง นักการเมืองบางคนอาจมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแต่อาจจะไม่มีความผิด และประชาชนแต่ละคนก็ชอบนักการเมืองไม่เหมือนกัน หากทำงานดี ก็อยากได้กลับเข้ามา บริหารบ้านเมืองอีกครั้ง ทั้งนี้ ควรให้ระยะเวลานักการเมืองในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยร้อยละ 17.52ระบุว่า ควรดูเป็นรายกรณีไปและร้อยละ 2.08ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผู้ที่ควรจะเป็นคนแก้ไข หากกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้มีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้ง แล้วเกิดปัญหาซ้ำอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 27.28ระบุว่า เป็นประชาชนรองลงมา ร้อยละ 27.04ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ว่าจะเป็นใครร้อยละ 13.68ระบุว่า เป็นรัฐบาลร้อยละ 11.28ระบุว่า เป็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือเป็นใครก็ได้ที่มีอำนาจร้อยละ 11.04 ระบุว่า เป็นทหารร้อยละ 3.92ระบุว่า เป็นองค์กรอิสระ คณะกรรมการกลาง หรือฝ่ายตรวจสอบต่าง ๆ เช่น ฝ่ายตุลาการ กกต. ปปส.ร้อยละ 2.08ระบุว่า เป็นนักการเมือง/พรรคการเมืองและร้อยละ 3.68ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก อยู่ที่จิตสำนึก ของนักการเมือง และควรปล่อยให้เป็นตามกลไกการเมือง
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข หากกลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้มีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้ง แล้วเกิดปัญหาซ้ำอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 36.48ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไรรองลงมา ร้อยละ 31.04ระบุว่า ควรดำเนินการตามขั้นตอน ภายใต้รัฐธรรมนูญและบังคับใช้บทลงโทษอย่างเคร่งครัด เช่น ให้ลาออก การปลดหรือการถอดถอนออกจากตำแหน่ง การยึดทรัพย์ ตัดสิทธิทางการเมืองไม่ให้กลับเข้ามาสมัครรับเลือกตั้งอีกร้อยละ 8.40ระบุว่า ให้ยึดอำนาจโดยทำการรัฐประหาร ร้อยละ 7.68ระบุว่า ประชาชนและทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันคัดกรอง ตรวจสอบความโปร่งใส ประวัติของนักการเมืองก่อนที่จะเข้ามาสู่การเลือกตั้ง และเลือกคนดีเข้ามาทำงานร้อยละ 6.40ระบุว่า จะใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การชุมนุม การประท้วง การลงชื่อถอดถอน การกดดันให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงรับฟังเสียงข้างมากของประชาชนด้วยร้อยละ 5.60ระบุว่า ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาประเทศ เร่งปฏิรูปประเทศ พัฒนาชาติให้ก้าวไปข้างหน้า สร้างความรู้ความเข้าใจในหลักประชาธิปไตย และการเมือง สร้างค่านิยมและจิตสำนึกการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียง และหน้าที่ของคนไทยร้อยละ 1.44ระบุว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากหรือแก้ไขไม่ได้เลยร้อยละ 1.28ระบุว่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางการเมือง เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาแล้ว ต้องยอมรับให้ได้ เมื่อถึงวาระก็เปลี่ยนรัฐบาล และเลือกตั้งใหม่และร้อยละ 1.68ระบุอื่น ๆ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการเมืองไทยตามระบอบประชาธิปไตย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 31.68ระบุว่า เป็นหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม และความโปร่งใส เน้นการมีส่วนร่วมรองลงมา ร้อยละ 23.12ระบุว่า เป็นสิทธิ เสรีภาพ ตามกฎหมาย และหน้าที่ของพลเมืองที่ดีร้อยละ 12.72 ระบุว่า เป็นการเลือกตั้งร้อยละ 12.64ระบุว่า เป็นรัฐธรรมนูญ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของบ้านเมืองร้อยละ 10.40ระบุว่า เป็นการปฏิรูปประเทศร้อยละ 2.48ระบุว่า เป็นยุทธศาสตร์ชาติร้อยละ 2.24ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับประชาธิปไตย การพัฒนาการศึกษา ความสามัคคี ความปรองดองของคนในชาติ และทุกข้อที่กล่าวมาและร้อยละ 4.72ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ