‘อิตาเลียนไทย’ หนีตาย ‘ทวายโปรเจกต์’ ลุ้นรัฐเจรจาชดเชย 8 พันล้าน

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ตามที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรณีที่บริษัท และคู่สัญญาร่วมทุนรวม 5 บริษัท ได้รับหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะแรก รวม 7 ฉบับ จากคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (DSEZ MC) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ทางบริษัทจึงทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งหารือร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย

เพื่อขอให้รัฐบาลช่วยเหลือนักลงทุนไทย ตามข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในทุกระดับ เช่น คุ้มครองจากการถูกบอกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม, คุ้มครองการลงทุนที่ ITD อาจไม่ได้รับค่าชดเชยตามสัญญา 3 ฝ่ายในโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการเสร็จแล้ว เพื่อให้เกิดการเจรจาฉันมิตรกับ DSEZ MC ไม่ให้เกิดข้อพิพาท รวมไปถึงเจรจาสัญญาเช่าที่ดินให้ดำเนินต่อไปได้

ลงเงินแล้ว 8 พันล้าน

ทั้งนี้ ITD ระบุว่า DSEZ MC ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้กับกลุ่มบริษัทร่วมทุน และอ้างเหตุผลของการบอกเลิก 2 ข้อ คือ กรณีไม่นำส่งหนังสือสละสิทธิของ ITD ที่ได้รับชดเชยเงินลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะสมบูรณ์ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 กับกรณีไม่ชำระค่าสิทธิสัมปทานประจำปีให้แก่ DSEZ MC

ซึ่ง ITD ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวอ้าง เพราะที่ผ่านมากลุ่มบริษัทลงทุนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 8,000 ล้านบาท โดยช่วง 5 ปี หลังลงนามสัญญา ทาง DSEZ MC ได้ส่งร่างสัญญาเช่าที่ดินให้กลุ่มบริษัทเพียงฉบับเดียว และอยู่ระหว่างเจรจา โดย DSEZ MC ไม่เคยชี้แจงเหตุผลว่าทำไมไม่พิจารณาสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว

โดย ITD ชี้แจงเพิ่มว่า ก่อนบอกเลิกสัญญา DSEZ MC ได้ออกหนังสือ Notice of Modification ของสัญญาสัมปทานโครงการนิคมอุตสาหกรรมระยะแรก ลงวันที่ 14 ส.ค. 2562 พร้อมแจ้งความประสงค์การแก้ไขสัญญาสัมปทาน และให้สัญญาเช่าที่ดินโครงการดังกล่าวมีผล ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพราะ DSEZ MC กำหนดแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ส่งร่างสัญญาเช่าที่ดินโครงการที่เหลือกลับมาให้กลุ่มบริษัทพิจารณา ทำให้กลุ่มบริษัทได้ขอใช้สิทธิพักการชำระค่าสิทธิสัมปทานประจำปีบางส่วน จึงเป็นเหตุข้ออ้างของการบอกเลิกสัญญาในที่สุด

“ในหนังสือ Notice of Modification กำหนดเงื่อนไขบังคับเพิ่มเติมให้ ITD ลงนามในหนังสือสละสิทธิ (Deed of Release) ในการได้รับค่าชดเชยสำหรับเงินลงทุนที่ใช้ในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งการได้รับชดเชยดังกล่าว ITD ยืนยันว่า เป็นสิทธิที่บริษัทมีตามสัญญา 3 ฝ่าย” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่การบอกเลิกสัญญาโดยสร้างเงื่อนไขใหม่ และให้ ITD สละสิทธิ์ภายใต้สัญญา 3 ฝ่าย อาจกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน เพราะมีหน่วยงานรัฐร่วมเป็นคู่สัญญาด้วย

“คงต้องรอนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ จะช่วยเหลือนักลงทุนไทยต่อไปอย่างไร เบื้องต้นต้องเปิดเจรจา”

พร้อมแต่งตั้งให้ นายสุพัฒนพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) และแต่งตั้ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง (JCC)

3 แบงก์ยังไม่กระทบ

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ยังต้องรอความชัดเจนจาก ITD ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ เนื่องจาก ITD ยังมีกระแสเงินสดเพียงพอ และปัญหานี้ยังไม่ได้ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

“การยกเลิกสัญญาค่อนข้างซับซ้อน complicated พูดลำบาก เท่าที่พูดคุยและประชุมกันยังไม่น่ามีปัญหาต่อธนาคารโดยตรง แม้เราจะปล่อยสินเชื่อให้ ITD แต่โครงการทวายลงทุนเงินไปหมดแล้ว ต้องกลับไปดูว่าบริษัทจะทำอย่างไร ถึงจะประเมินผลกระทบได้” นายสารัชต์กล่าว

แหล่งข่าวจากธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ต้องรอดู ITD จะตั้งสำรองทางการบัญชีอย่างไร และจะตัดการลงทุนไปเลยหรือไม่ เบื้องต้นยังไม่มีผลกระทบต่อธนาคาร ส่วนหรือจะตั้งสำรองหนี้หรือไม่นั้น ต้องดูเงื่อนไขก่อน โดยธนาคารไม่ได้ปล่อยกู้ในโครงการทวายโดยตรง

แหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า แบงก์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กระแสเงินสด และธุรกิจ ITD ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะบริษัทมีรายได้จากแหล่งอื่น อย่างไรก็ดี ต้องดูเรื่องผลกระทบทางบัญชี รวมถึงความเสี่ยงของหุ้นกู้ในอนาคตที่จะต้อง rollover

“สุพัฒนพงษ์” ช่วยเต็มที่

ล่าสุดวันที่ 15 มกราคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์กล่าวภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลเมียนมากับเอกชนไทย

“ถามว่า รัฐบาลไทยทอดทิ้งหรือไม่ คงไม่ ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริง วันนี้ยังไม่เห็นเรื่องข้อพิพาทของการยกเลิกสัญญาคืออะไร ถ้าเห็นแล้วต้องเข้าไปดูแล ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นสัญญาประชาคมอาเซียน เป็นข้อตกลงของประเทศอาเซียนร่วมกัน เอกชนเขาเก่ง ก่อนลงทุนคงอ่านสัญญาประชาคมอาเซียนแล้วว่า เขาจะได้รับการคุ้มครองอะไรบ้าง เขาคงใช้สิทธิ์การคุ้มครอง รัฐบาลก็ต้องบริหารจัดการ หรือช่วยเหลือ เพื่อให้ข้อตกลงบรรลุ”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ช่องทางช่วยเหลือจะมีคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา-ญี่ปุ่น และคณะอนุกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมาฯ ร่วมเจรจาในเวทีนี้

“จะเร่งให้เร็วที่สุด ซึ่งอิตาเลียนไทยฯทำเรื่องขอความช่วยเหลือมาแล้ว เราจะดูว่าช่วยเหลือเรื่องใด แบบใดได้บ้าง ภายในกรอบของรัฐบาล ซึ่งเอกชนไทยได้รับการคุ้มครองในเรื่องสัญญาประชาคมอาเซียนอยู่แล้ว ส่วนรัฐบาลไทยจะช่วยแบบที่เอกชนขอร้องมา เราก็ต้องช่วยตามที่ขอ ส่วนที่เขาไม่ขอไปทำก็ไม่ได้”

รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง เพราะโครงการทวายเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมา-ญี่ปุ่น ซึ่งทำมานานแล้ว คืบหน้าพอสมควร เพื่อเชื่อม 3 ประเทศให้มีทางออกทะเลฝั่งอันดามัน ส่วนเงินกู้ให้เมียนมากู้ 4,500 ล้านบาท สร้างถนนไปถึงทวายนั้น ถ้ากันเงินกู้ไว้ให้แล้วก็ต้องดำเนินการต่อไป

“รัฐบาลไทยลงทุนไปเยอะในเรื่องถนนมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี และกาญจนบุรี-ทวาย ซึ่งมีการพูดคุยกันอยู่ว่าจะช่วยเหลือกันอย่างไร ซึ่งรู้สึกแปลกใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสาเหตุอะไร และข้อพิพาทนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือทิศทางอุตสาหกรรมอะไรในเมียนมาบ้าง ยังบรรลุวัตถุประสงค์เดิมของรัฐบาลอยู่หรือไม่ ถ้าบรรลุวัตถุประสงค์เดิมของรัฐบาลอยู่ ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่สนับสนุน”

อาจดึงญี่ปุ่น-จีนเสียบแทน

เมียนมาไทมส์รายงานว่า DSEZ MC ยังไม่มีแถลงการณ์เป็นทางการเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญากับ ITD แต่แหล่งข่าวระบุว่า อาจเป็นเพราะต้องการผู้ลงทุนหน้าใหม่จากต่างประเทศมาร่วมโครงการที่ล่าช้ามานาน

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีความหวังที่จะลงทุนต่อ ล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ทางการญี่ปุ่นส่งหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ เพราะมีบริษัทจีนสนใจเช่นกันซึ่งญี่ปุ่นไม่ต้องการให้จีนเข้ามามีอำนาจครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจนี้